วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตอน ๑๔... คำนิยม(ปกหลัง)



    โพธิขวาง
    โดย เทพ สุนทรศารทูล
    พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๕ (ความหนา ๑๕๖ หน้า)
    สารบัญ (ลำดับชื่อตอน)
    ระลึกชาติ
    เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์
    พระนักพัฒนา
    พญามารมาผจญ
    พายเรือวนในอ่าง
    ผีสางเทวดาไม่ปรานี
    คนดีมีน้อยคนถ่อยมีมาก
    มีปากเหมือนคมขวาน
    ผู้ก่อการร้ายในป่า
    ผัดเวลามัจจุราช
    พสุธาวาสหวั่นไหว
    เทพไทอนุโมทนา
    ฟ้าร้องไห้

    คำนิยม (ปกหลัง)
    หนังสือเรื่องนี้
    พระธรรมวโรดม (สนิท เขมจารี) กรรมการมหาเถรสมาคม ชมว่า
    “เขียนได้ดีมาก”
    คุณดำรง สุนทรศารทูล อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยชมว่า
    “เรื่องนี้ดีที่สุด เท่าที่คุณเทพเขียนหนังสือมาแล้วทุกเรื่อง”
    พระสงฆ์สังฆาธิการอ่านแล้ว ออกปากชมว่า
    “เรื่องนี้ดีมาก อยากให้อ่านกันทั่วๆ”
    มีหลายคนอ่านแล้วถามว่า
    “วัดโพธิขวางอยู่ที่ไหน?”
    “เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือนิยาย?”
    “เจ้าคุณพระญาณสมโพธิ มีตัวจริงหรือเปล่า?”
    ผู้เขียนตอบว่า :-
    “เรื่องนี้เหมือนต้นไม้ มีดอก มีใบ มีผล มีเปลือก มีกระพี้ และมีแก่น คือความจริงอยู่ข้างใน”







ตอน ๑๓ ... ฟ้าร้องไห้


โพธิขวาง

๑๓  ฟ้าร้องไห้

พอเรื่องร้าย เรื่องเศร้าของวัดโพธิสวรรค์ฯ จืดจางไป ก็มีเรื่องดีเรื่องตื่นเต้นตามมา เป็นธรรมดาของโลก สลับกันอยู่อย่างนี้
บุหรง สุนทรบุรี ได้นำข่าวดีมาแจ้งให้หลวงพ่อเพ็งทราบว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์พระครูญาณวิสุทธิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า “พระญาณสมโพธิ”
หลวงพ่อฟังข่าวดีด้วยอาการปกติ ไม่พูดว่าอะไร ลุกขึ้นไปจุดธูปเทียนบูชาพระอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็กลับออกมานั่งที่เดิม
“ก็เป็นพระเดชพระคุณ ที่ได้ทรงโปรดกรุณา ยกวัดโพธิขวางขึ้นเป็นวัดโพธิสวรรค์ฯ ครั้งหนึ่งแล้ว  นี่ก็มายกฉันอีก เป็นศิริมงคลแก่วัดและพระศาสนา” หลวงพ่อพูดช้าๆ “ฉันได้นมัสการพระพุทธองค์ถวายพระพรแล้ว”
หลวงพ่อเคยพูดเสมอว่า พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองอยู่ได้ก็เพราะมีพระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองประเทศนับถือพระพุทธศาสนา
ครั้นแล้วก็ใกล้เวลากำหนด เสด็จพระราชดำเนินมายกช่อฟ้าอุโบสถวัดโพธิสวรรค์วราวาส
ทางวัดได้เตรียมการรับเสด็จอย่างแข็งแรง มีทางอำเภอและจังหวัดมาช่วยวางแผนการรับเสด็จด้วย  ได้ปลูกพลับพลาที่ประทับขึ้นตรงหน้าอุโบสถ เว้นระยะห่างออกไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นแบบจตุรมุขทรงไทย หลังคาแดง อาคารทาสีขาว ผูกม่านสีเหลือง ประดับด้วยกระถางไม้ดอก ประดับด้วยราชฉัตร อัครธง กล้วย อ้อย  ตลอดทางจากหน้าวัดเข้ามาถึงพลับพลา มีปะรำที่เฝ้ารับเสด็จอยู่ ๒ ข้าง พลับพลาเยื้องมาทางด้านหน้า  ถนนหนทาง บริเวณทั่วไปทำความสะอาดเรียบร้อย  เตรียมหยิบยืมเครื่องใช้และของอย่างดี โต๊ะ พระเก้าอี้ที่ประทับ ติดต่อขอยืมมาจากสำนักพระราชวัง พร้อมทั้งลาดพระบาท มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังมาช่วยให้คำแนะนำ มีทหารที่ท่านแม่ทัพภาคส่งมาช่วยจัดงาน ในวันงานท่านแม่ทัพภาคยังได้จัดกองทหารเกียรติยศมาอีก ๑ กองร้อย ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด มาอำนวยการจัดงานรับเสด็จพร้อมหน้า  มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชาสองฝั่งทางเสด็จพระราชดำเนิน เตรียมรายชื่อผู้ที่จะถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เตรียมสายสูตรชักรอกยกช่อฟ้าไว้พร้อมสรรพ เตรียมสถานที่ออกรถไว้ทางหนึ่ง  เตรียมลูกเสือชาวบ้าน จำนวน ๑๐๘ รุ่นของจังหวัดมาเฝ้ารับเสด็จ โดยให้นั่งราบกับพื้นสนามหน้าอุโบสถ ตรงหน้าที่ประทับ เว้นช่องทางตรงกลางไว้ สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยกช่อฟ้า  ประชาชนตื่นเต้นกันไปทั่วทุกท้องถิ่น เลื่องลืออื้ออึงถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ไปทั่วหน้า เตรียมตัวมาเฝ้ารับเสด็จกันด้วยความตื่นเต้น  บ้างเตรียมเครื่องแต่งตัวรับเสด็จ บ้างเตรียมผ้าไว้ปูรองรับพระบาท บ้างเตรียมพวงมาลัย บ้างเตรียมการละเล่นถวายทอดพระเนตร บ้างเตรียมเงินถวายโดยเสด็จพระราชกุศล บ้างฝึกหัดการถวายบังคม  คนแก่ คนเฒ่า หญิงชายชาวบ้าน เตรียมรับเสด็จกันทั่วหน้า ด้วยยังไม่เคยเฝ้ารับเสด็จชมพระบารมีโดยใกล้ชิดเลย เพราะยังไม่เคยเสด็จประพาสอำเภอนี้มาก่อน  ประชาชนพ่อค้า ข้าราชการ เตรียมงานรับเสด็จกันทั่วหน้า
วันเสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาชนหลั่งไหลกันมาทั่วทุกสารทิศ  ข้าราชการ ตำรวจ แต่งตัวเต็มยศ  ลูกเสือแต่งลูกเสือชาวบ้าน  คนในบริเวณวัดโพธิสวรรค์ฯ อันกว้างใหญ่ ล้นหลามไปหมด อย่างชนิดที่เรียกว่ามืดฟ้ามัวดิน  รถยนต์แล่นมาหน้าวัดเป็นขบวนยาวยืด ตำรวจต้องเหน็ดเหนื่อยในการจัดการจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย  เฉพาะลูกเสือชาวบ้าน ๑๐๘ รุ่น ก็ตกถึง ๒๐,๐๐๐ คนเศษแล้ว ยังมีทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนชาวบ้านอีก  บริเวณวัดโพธิสวรรค์ฯ แน่นขนัดอัดแอไปด้วยผู้คน ซึ่งล้วนแต่มีความจงรักภักดีมารอรับเสด็จอยู่ตั้งแต่เช้า  จนกระทั่งเวลาบ่ายสองโมง ขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็มาถึง  กองทหารรักษาพระองค์ กองทหารเกียรติยศ ข้าราชการ ตำรวจ และลูกเสือชาวบ้านยืนขึ้นพร้อมกัน  ทหารบอกถวายคำนับ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้วประชาชนทั้งนั้นพร้อมกันไชโย ๓ ครั้ง  เสด็จเข้าประทับยังพลับพลาแล้ว ผู้ว่าราชการอ่านคำถวายบังคมทูลถวายรายงาน ใจความว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณเดิมชื่อวัดโพธิขวาง ตั้งมากว่า ๓๐๐ ปี  บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดโพธิสวรรค์วราวาส  เจ้าอาวาสชื่อ พระญาณสมโพธิ ได้สร้างความเจริญให้แก่วัดเป็นปึกแผ่น มีสิ่งก่อสร้างเป็นตึกสวยงาม มีทั้งอุโบสถ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน ศาลาทาน ศาลาปลงธรรม เกิดขึ้นใหม่ในระยะเวลาเพียง ๓ ปี เหมือนดังว่าเทวดาเนรมิต ทั้งนี้เพราะบุญบารมีของพระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสปัจจุบัน และพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ได้ทรงเป็นกำลังส่งเสริมอยู่เบื้องหลัง จึงได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้ที่หน้าบันอุโบสถเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เป็นศิริมงคลสืบต่อไปชั่วกาลนานหาที่สุดมิได้  บัดนี้ได้เวลาอันเป็นมหามงคลอุดมฤกษ์แล้ว ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณกระทำพิธียกช่อฟ้าอุโบสถต่อไป ณ บัดนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาที่ประทับ ไปยังหน้าอุโบสถ ทรงชักสายสูตรยกช่อฟ้าขึ้น แตรวงบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ เจ้าหน้าที่จุดพลุสัญญาณ ประชาชนเปล่งเสียงไชโยกึกก้องไปทั่วบริเวณงาน
ต่อจากนั้นก็เป็นการเข้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล มีคนนำเงินเข้าถวายถึง ๓๕ คน รวมได้เงินทั้งสิ้น ๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้โปรดพระราชทานให้วัดโพธิสวรรค์วราวาสไว้เป็นทุนมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาต่อไป  ต่อไปก็เป็นการแสดงการละเล่นของลูกเสือชาวบ้านด้วยการรำถวายพระพร ๑ ชุด จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ  ดำรัสสั่งให้พระญาณสมโพธิเข้าเฝ้าในวันรุ่งขึ้นด้วย
หลวงพ่อพระญาณสมโพธิ ได้ไปเข้าเฝ้าตามรับสั่งเป็นการส่วนพระองค์ แล้วก็กลับวัด  พระเณรผู้คนก็อยากรู้ว่าให้เข้าเฝ้าเรื่องอะไร
“ก็ทรงไต่ถามถึงกิจการของวัด ทรงสอบถามถึงวิธีการสร้างวัด รับสั่งชมว่าวางผังวัดได้สวยงามเป็นระเบียบ เป็นแบบอย่างที่ดี สร้างแต่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย  รับสั่งว่าสร้างศาลาต่างๆ ได้เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ พอเหมาะกับงาน และชมว่าเข้าใจตั้งชื่อศาลาต่างๆ”
พระญาณสมโพธิ เล่าเรื่องสรุปการเข้าเฝ้าอย่างนี้
“ฉันได้ถวายพระสมเด็จพุฒาจารย์ ๑ องค์  จะถวายของที่วัดทำขึ้นก็ใหม่นัก เลยถวายพระสมเด็จ อายุตั้ง ๑๐๐ ปีไป”
คำนี้ทำให้พระอาจารย์เปรื่องอ้าปากค้าง เพราะหวังว่าหลวงพ่อจะให้แก่ตนเมื่อหลวงพ่อสิ้นบุญ
“คุณเปรื่องไม่ต้องตกใจ ผมยังมีอีกองค์หนึ่ง” หลวงพ่อพูดอย่างรู้ใจ
“หลวงพ่อได้มาจากไหนครับ?”
“ตาแย้ม แกไปขอเช่ามาจากคราวเปิดกรุ ๒ องค์ เอามาถวายผมไว้องค์หนึ่ง  ผมจะเก็บเอาไว้ให้คุณ”
ดูเหมือนหลวงพ่อจะได้กำหนดตัวสมภารแทนท่านไว้แล้วล่วงหน้า จึงได้พูดเป็นนัยไว้เช่นนี้
พระอาจารย์เปรื่อง เป็นภิกษุวัยอาวุโสในวัด อายุถึง ๕๑ ปี บวชมาแล้ว ๓๐ พรรษา เป็นพระภิกษุผู้ใหญ่ในวัด พระเณรเคารพนับถือรองจากหลวงพ่อ  สมภารสว่างมรณภาพมาแล้วหลายเดือน แต่ทางเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่ได้ตั้งใครแทน  นับว่าไม่มีพระภิกษุองค์ใดสมัครเป็นสมภารวัดโพธิสวรรค์ฯ ด้วยกลัวว่าจะแพ้บารมีหลวงพ่อ จะอายุสั้น
“ท่านสมภารสว่างน่ะ เปรียบเหมือนเทียนที่ถูกลมพัดจวนจะดับมิดับแหล่” หลวงพ่อพูด “ถ้ารู้จักเก็บตัว ถือศีลภาวนาอยู่แต่ในวัด เหมือนจัดเทียนไว้ในที่ลับลม ก็ไม่ดับ  นี่ท่านออกไปปะทะลมแรงข้างนอก จึงดับเหมือนเทียนถูกลมพัด”
หลวงพ่อเปรียบความให้ฟังเช่นนี้ พระอาจารย์เปรื่องฟังแล้วก็สว่างกระจ่างใจ ว่าเวรกรรมนั้นอาจจะระงับดับได้ ด้วยการกระทำดีในปัจจุบัน ก็อาจจะป้องกันกรรมในอดีตให้เบาบางลงพอประคองตัวไว้ได้
“บาปกรรมก็เหมือนไฟ บุญกรรมก็เหมือนน้ำ” หลวงพ่อว่า “น้ำน้อยก็ย่อมแพ้ไฟ น้ำมากก็ดับไฟได้”
พระอาจารย์เปรื่อง ได้ฟังแล้วก็นึกย้อนถึงตัวเอง เคยทำบาปฆ่าคนตายเมื่อสมัยรุ่นหนุ่ม บวชมาได้ ๓๑ ปีแล้ว เวรกรรมก็ยังตามมาไม่ทัน
“เมื่อเรารู้ตัวว่ามีเวรกรรม ก็อย่าแร่ลุกรนไปหา เวรกรรมจะตามมาทัน เหมือนดั่งหมาไล่เนื้อ  หมั่นบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญสมณธรรมให้มาก  ก็อาจระงับเวรกรรมได้ เป็นอโหสิกรรม”
หลวงพ่อพูดเหมือนรู้ใจพระอาจารย์เปรื่อง พูดเหมือนแทงใจดำ  พระอาจารย์เปรื่องเคยได้ยินท่านพูดเรื่องที่กำลังคิดอยู่เสมอๆ หลายเรื่องหลายหนเต็มที พระอาจารย์เปรื่อง จึงเคารพนับถือหลวงพ่ออย่างยิ่ง  นึกแต่ในใจว่าท่านไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมดา ท่านต้องเป็นพระอริยสงฆ์เป็นแน่นอน เพราะบางครั้งท่านแสดงอะไรให้รู้ได้ว่า ท่านมิได้เป็นพระสงฆ์ธรรมดา
ดูแต่เรื่องถนนจะแล่นผ่านหลังวัด มีรถยนต์แล่นไปมา ท่านก็ทราบล่วงหน้ามาตั้ง ๓-๔ ปี
กำหนดวันตายของท่านก็กำหนดไว้ล่วงหน้า คนทั้งหลายขออาราธนาให้อยู่สร้างโบสถ์ก่อน ท่านก็ติดต่อกับพญามัจจุราชขออยู่ได้อีก ๓ ปี
นึกถึงเรื่องนี้แล้ว พระอาจารย์เปรื่องก็ใจหาย  กำหนดเวลา ๓ ปีที่ว่านั้น วันเวลาก็ผ่านมาโดยรวดเร็ว  เหลือเวลาอีกเพียง ๑ เดือนเท่านั้น หลวงพ่อจะมีอายุครบ ๙๐ ปีบริบูรณ์
นึกๆ แล้วก็ไม่อยากเชื่อ เพราะหลวงพ่อถึงจะมีอายุถึงปานนี้ก็ยังแข็งแกร่ง เดินเหินได้คล่อง ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคภัยอะไรเลย
แต่เมื่อเรื่องต่างๆ ที่ท่านพูดเป็นจริงหมดทุกอย่างไม่เคยผิดพลาด แม้จนกระทั่งชี้ที่ให้เจาะขุดน้ำบาดาลในวัด ท่านชี้ลงไปให้ขุดตรงนี้จะมีน้ำ  ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาตรวจมาสอบ ขุดลงไปก็ได้น้ำจริงๆ
เรื่องที่ท่านพูดถึงตัวท่านเอง เรื่องกำหนดวันตายของท่านเอง ว่าท่านจะสิ้นอายุขัยวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ ก็เห็นจะต้องเชื่อท่าน
วันนั้นเป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  เหตุการณ์ของวัดโพธิสวรรค์ฯ ก็เป็นไปตามปกติธรรมดา ไม่มีอะไรผิดปกติกว่าเคย  จนกระทั่งตกเย็น พระก็ลงโบสถ์สวดมนต์ทำวัตรเย็น และฟังพระปาฏิโมกข์  ไม่มีพระเณรรูปใดขาด หลวงพ่อหรือเจ้าคุณญาณสมโพธิก็ลงโบสถ์เหมือนเคย ท่านนั่งเป็นประธานอยู่ตรงหน้าพระประธาน มีหมอนขวานพิง เพราะวัยชราภาพมากแล้ว  ท่านนั่งประนมมือ หลับตาฟังพระปาฏิโมกข์ไปพลางๆ พระเณรก็นั่งฟังพระปาฏิโมกข์ ลืมตาบ้างหลับตาบ้าง  ขณะนั้นพระอาจารย์เปรื่องนั่งอยู่ทางด้านขวาของหลวงพ่อ หันหน้าเข้าไปทางด้านข้างของท่าน ขณะนั้นพระอาจารย์เปรื่องแลเห็นท่านนั่งง่วงหงุบลงมาข้างหน้า แล้วก็พลิกกลับมาทางด้านขวา  ทีแรกพระอาจารย์เปรื่องก็คิดว่าท่านนั่งหลับ แต่สังเกตดูก็รู้สึกว่าไม่ใช่หลับธรรมดา ดูเหมือนท่านจะเป็นลม เพราะหน้าซีดเผือดลง จึงเข้าไปประคอง  พอจับต้องตัวท่าน พระอาจารย์เปรื่องก็รู้ได้ทันทีว่าท่านสิ้นเสียแล้ว เพราะตัวเย็นชืด
พระอาจารย์เปรื่อง นึกออกว่าวันนี้ เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  นึกเท่านั้นพระอาจารย์เปรื่องก็ร้องไห้ฮือๆ
พระเณรทั้งหมดตกใจ พระสวดพระปาฏิโมกข์ก็หยุดสวด  พระอาจารย์เปรื่องยังนั่งประคองหลวงพ่ออยู่
ทุกคนก็แลเห็นชัดว่า หลวงพ่อเพ็งนั่งหลับตา  เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าหลวงพ่อมรณภาพแล้ว
“หลวงพ่อสิ้นแล้ว” พระอาจารย์เปรื่องพูดพลางร้องไห้พลาง
หลวงพ่อเพ็ง หรือ พระญาณสมโพธิ นั่งมรณภาพในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  ท่ามกลางพระภิกษุสามเณรที่กำลังฟังพระปาฏิโมกข์อยู่ในอุโบสถ
พระเณรเกิดวุ่นวายกันพักใหญ่ บ้างร้องไห้ บ้างก็วิ่งวนไปมา บ้างก็เข้ามากราบ บ้างก็ยืนประนมมืออยู่ ไม่มีใครเป็นอันทำอะไรได้  เพราะขณะนั้นฝนตกลงมาขนาดใหญ่ ท้องฟ้าลั่นครืนๆ อยู่เหนือโบสถ์เป็นเวลาช้านาน  เหมือนฟ้าร้องไห้คร่ำครวญ  มีพระเห็นพระประธานน้ำพระเนตรไหลพรากอาบพระพักตร์.




(จบบริบูรณ์)


วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๑๒ เทพไทอนุโมทนา


โพธิขวาง 
ตอน๑๒ เทพไทอนุโมทนา

หลวงพ่อเพ็งได้ชี้สถานที่สร้างอุโบสถใหม่เหนือต้นหว้าใหญ่ขึ้นมา หันหน้าออกถนน  หลวงพ่อให้เหตุผลว่าพระธาตุเสด็จปาฏิหาริย์มาตรงนี้ สถานที่นี้เป็นมงคลสถาน ให้วางผังสร้างโบสถ์ลงตรงนั้น  ทางทิศตะวันออกแนวเดียวกันให้วางผังสร้างศาลาธรรม  ทางทิศตะวันตกของโบสถ์ให้วางผังสร้างศาลากรรมฐาน แนวหลังของโบสถ์ มีต้นหว้าใหญ่คั่นกลาง ให้วางผังสร้างศาลาทาน
อุโบสถ อยู่กลางให้สร้างเป็นจตุรมุข มีขนาดกะทัดรัด ไม่กว้างใหญ่อะไร  ท่านบอกผู้เขียนแบบว่า
อุโบสถ เป็นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์ เช่น บวชพระ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ไม่ต้องการที่กว้างขวางอะไร ให้สร้างแต่พอจำนวนพระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้  โบสถ์ไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์มากเหมือนโบสถ์ฝรั่ง โบสถ์แขก”
ศาลาธรรม ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ให้จุคนได้มาก  สำหรับเป็นที่แสดงธรรม คนมาฟังเทศน์ฟังธรรมสัก ๕๐๐ คน ให้นั่งให้สบาย ทำเก้าอี้นั่งไว้ให้เรียบร้อย  คนเดี๋ยวนี้เขานั่งเก้าอี้กันทั้งนั้น จะให้เขามานั่งพับเพียบกับพื้นไม่เหมาะ คนสมัยใหม่เขาจะไม่เข้าวัดฟังธรรม ต้องทำให้เป็นที่แสดงปาฐกถาแบบสมัยใหม่ได้ด้วย  ข้างหลัง ข้างๆ รอบๆ ให้ตั้งตู้หนังสือไว้ มีโต๊ะอ่านหนังสือไว้ คนเขาจะได้นั่งอ่านหนังสือศึกษาธรรมะได้  ต่อไปให้จัดหาหนังสือธรรมะมาไว้ให้มากพอ ศาลาหลังนี้เป็นที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรม”
ศาลากรรมฐาน ทางด้านซ้ายมือ ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ขนาดกว้างเท่าศาลาธรรม  เป็นที่สำหรับอุบาสกอุบาสิกามานั่งสมถกรรมฐาน  ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ไม่ต้องมีเก้าอี้นั่ง ให้นั่งกับพื้นแบบเดิม จะได้เป็นสถานที่เหมาะกับการบำเพ็ญกรรมฐาน”
ศาลาทาน อยู่ข้างหลังอุโบสถ ให้สร้างแบบศาลาการเปรียญของเก่า แต่ให้มีชั้นเดียว ให้กว้างพอที่พระสงฆ์ทั้งวัดจะมานั่งฉันอาหาร และคนทำบุญจะมานั่งทำบุญทำทานได้  สร้างศาลาสูงๆ คนแก่คนเฒ่าจะขึ้นลำบาก ให้ทำเป็นพื้นศาลาพื้นเตี้ยๆ อยู่กับพื้นดิน ไม่ต้องยกพื้น  ด้านหนึ่งมีอาสน์สงฆ์นั่งฉันอาหาร ยกพื้นสูงขึ้น นอกนั้นให้มีเก้าอี้นั่งสำหรับคนทำบุญ ไม่ให้นั่งกับพื้น เพราะพื้นศาลาลาดซีเมนต์”
อุโบสถ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน และศาลาทาน ๔ อย่างนี้ให้ลงมือสร้างไปพร้อมๆ กันทีเดียว
นายช่างก็เขียนแบบแปลน แสดงรูปรอยการก่อสร้างแสดงขนาดกว้างยาว เอามาชี้แจงท่านจนพอใจแล้ว ก็ลงมือสร้างกันต่อไป
การสร้างดำเนินมาอย่างคึกคัก มีช่างรับเหมางานทำเป็นหลังๆ ไป  สถานที่ก่อสร้าง ๔ แห่ง มีผู้รับเหมา ๔ รายรับเหมาไป ทำสัญญาจ่ายเงินเป็นงวดๆ ไปแบบของทางราชการ  ใครไปมาเห็นเข้าก็บริจาคเงินทำบุญกันมาก  หลวงพ่อสั่งให้ทำป้ายขนาดใหญ่ไว้ที่หน้าวัด แสดงแผนผังบริเวณก่อสร้างว่า โบสถ์ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน ศาลาทาน อยู่ตรงไหน  ให้เขียนรูปอุโบสถ และศาลาทั้ง ๓ หลัง ไว้ให้คนเห็นรูปร่างว่าเป็นอย่างไร  ใครเห็นเข้าก็ตื่นเต้น เล่าลือกันด้วยความชื่นชมยินดีว่าวัดหลวงพ่อนี้ สร้างแปลกกว่าวัดอื่นๆ มองเห็นว่าจะเป็นวัดทันสมัยมาก
บริเวณด้านหลัง หลวงพ่อวางผังสร้างกุฏิสงฆ์ แยกออกเป็นหลังๆ รายกันไป ไม่ปลูกเป็นหมู่เหมือนแต่ก่อน เป็นกุฏิเรือนไม้ใต้ถุนโปร่งสูง พื้นลานซีเมนต์  ไม่มีใครเคยคิดว่าหลวงพ่อเพ็งวัย ๘๐ เศษ จะมีหัวคิดทันสมัยวางผังสร้างวัดได้อย่างนี้  ใครรู้ก็ชื่นชมยินดี บริจาคเงินให้มิได้ขาด คนจากเมืองไกลๆ รู้เรื่องก็มาบริจาคเงินรายละ ๑๐,๐๐๐ บาทก็มี ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็มี บางรายศรัทธามาก บริจาคถึง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๑ ล้านบาทก็มี  หลายรายการก่อสร้างจึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก เงินทองไหลมาเทมาอย่างน่าอัศจรรย์ คนยิ่งเลื่องลือมาก ก็พากันมาบริจาคมากขึ้น เหรียญที่ทำไว้ก็หมดลงไม่มีจะตอบแทนผู้ทำบุญ
หลวงพ่อจึงสั่งให้พิมพ์พระสมเด็จขึ้นอีก ๘๔,๐๐๐ องค์ จัดทำพิธีพุทธาภิเษกเป็นพิธีใหญ่ที่วัดโพธิขวาง นิมนต์พระหัววัดใกล้ไกลมาสวดพุทธาภิเษกถึง ๑๐๘ รูป ให้ปลูกโรงพิธีขึ้นกลางแจ้ง คาดด้วยผ้าขาว ตั้งศาลเพียงตา มีหัวหมูบายศรีตามแบบโบราณ
“ฉันทำคนเดียวไม่ไหวหรอก ต้องเชิญเทวดาท่านลงมาช่วยทำ” หลวงพ่อว่าอย่างนี้
“เราสร้างพระปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้คนเอาไปบูชา เราไม่ได้สร้างพระพุทธเจ้า  เราสวดมนต์ตามพิธีพุทธศาสนา ให้เทวดาเขาอนุโมทนาบุญกุศล เราไม่ได้ปลุกเสกพระพุทธเจ้าหรอก”
มีผู้ถามว่า “ทำไมจึงเรียกพุทธาภิเษก?”
หลวงพ่อก็ตอบอย่างมีเหตุผลน่าฟัง
“พุทธาภิเษก ก็แปลว่า อภิเษกให้พระปฏิมากรเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ไม่ใช่รูปตุ๊กตานะซีจ๊ะ”
“ความศักดิ์สิทธิ์เกิดได้อย่างไร?”
“เกิดได้จากแรงอธิษฐานของเรา ว่าเราไม่ได้ทำตุ๊กตาขาย เราทำฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา  เกิดจากอำนาจบุญกุศลของเรา อำนาจศีล อำนาจสัตย์ อำนาจบารมีของเรา ที่ได้สั่งสมอบรมมาทั้งในชาติก่อนและชาตินี้  ศีลบริสุทธิ์ กรรมบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ของเราที่เราทำก็บริสุทธิ์  มีคุณมีสิริมีมงคล แก่ทั้งตัวเราแก่ผู้ที่เอาไปบูชา
“ดีทางไหนครับ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด หรือคงกระพันชาตรี”
“บารมีของพระพุทธเจ้า ทรงคุณสารพัด” หลวงพ่อยืนยัน “เรียกว่าสมเด็จภควันต์นะจ๊ะ  อย่าเรียกสมเด็จหลวงพ่อเพ็ง เพราะฉันไม่ได้เป็นสมเด็จหรอกจ้ะ
จะอย่างไรก็ตาม พระสมเด็จภควันต์ วัดโพธิขวางรุ่นนี้ มีคนมาขอรับเอาไปบูชากันมากมาย ถึงขนาดขึ้นรถยนต์มาเป็นคันๆ จากต่างจังหวัด  เอาผ้าป่ามาทอด ได้เงินจำนวนมาก แล้วยังบริจาคส่วนตัวกันคนละ ๑๐๐ บาท ๒๐๐ บาท  ซึ่งก็ได้พระสมเด็จไปคนละ ๑ องค์เท่านั้น  ทางวัดจัดเจ้าหน้าที่พระเณรและฆราวาสไว้รับเงินบริจาคและออกใบรับเงินให้ทุกราย
“ใบรับเงินนี้เป็นใบรับรองว่าเป็นพระสมเด็จที่ได้ไปจากวัดโพธิขวาง ไม่ใช่พระสมเด็จที่มีใครทำปลอมขึ้น  ได้รับพระสมเด็จองค์หนึ่ง จะต้องมีใบรับเงินแผ่นหนึ่งเสมอ” พระที่เป็นเจ้าหน้าที่ชี้แจงอย่างนี้ มีเขียนป้ายประกาศไว้แผ่นใหญ่ด้วย
คนที่ต้องการพระสมเด็จภควันต์ไปบูชา ต้องมารับด้วยตัวเอง จะฝากเงินใครมาทำบุญ แล้วขอรับพระด้วยไม่ได้” เจ้าหน้าที่อธิบายว่าหลวงพ่อท่านตั้งกฎเกณฑ์ไว้ ต้องทำตามโดยเคร่งครัด
ใบรับเงินนั้น มีพิมพ์คาถาบูชาพระสมเด็จภควันต์ไว้ด้วยว่า “นะโมพุทธายะ ภะคะวันตัง” ว่าให้ภาวนาไว้เสมอ เมื่อใช้พระสมเด็จภควันต์
“เก็บรักษาไว้ให้ดีเถอะจ้ะ ทำรุ่นเดียวเท่านี้ ต่อไปจะหายาก”
หลวงพ่อมักจะพูดคำนี้แก่ผู้ที่ไปหาท่านอยู่เสมอ  ผู้คนใกล้ไกลพากันหลั่งไหลเข้าวัดไม่ขาดสาย การก่อสร้างอุโบสถ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน และศาลาทานทั้ง ๔ หลัง ก็รุดหน้าต่อไป สิ้นค่าก่อสร้างไป ๒๐ กว่าล้าน งานก็ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง  คิดๆ ดูก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหมือนว่าเทวดาดลใจให้คนจำนวนหมื่นเดินทางมาบริจาคทรัพย์ทำบุญ เหมือนมีแม่เหล็กมหึมาที่ดึงดูดใจคนให้หันหน้าเข้าวัดโพธิขวาง
อำนาจดึงดูดใจคนเหล่านั้นคืออะไร?
อาจเป็น “พระสมเด็จภควันต์” ของดี หรือที่เรียกว่า “วัตถุมงคล” กันในสมัยนี้ที่เขาพากันอยากได้ไว้บูชา
อาจจะเป็นพระครูญาณวิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อเพ็งที่เคร่งศีล เคร่งวินัย ทรงคุณ ทรงธรรม ที่คนทั้งหลายเคารพบูชา
อาจจะเป็นวิธีการสร้างเหรียญ สร้างพระเครื่องที่เลื่องลือ
อาจจะเป็นคราวที่วัดโพธิขวางชะตาขึ้น
อาจจะเป็นด้วยความโง่เขลางมงายของคนทั้งหลาย
อาจจะเป็นด้วยอะไรก็ได้ สุดแล้วแต่ใจคนจะนึกตรึกตรอง เดาเอา คาดคะเนเอาตามอุปนิสัย สติปัญญา และความเชื่อถือของคน  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ทิฐิ” หรือ “ความคิดเห็น”  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ “มิจฉาทิฐิ” ความเห็นผิดจากความเป็นจริงอย่างที่เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”  และ “สัมมาทิฐิ” ความเห็นถูกต้องตามความที่เป็นจริง อย่างที่ท่านเรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือมีธรรมจักษุ รู้เห็นได้ลึกซึ้งตามสภาพความจริงของโลกและชีวิต
ถ้าจะว่าเพราะพระสมเด็จ ก็เห็นทำเห็นสร้างกันมากแทบทุกวัด  แต่ที่จะโด่งดังมีคนนิยมบูชากันเหมือนพระสมเด็จภควันต์ก็ไม่เห็นมี
ถ้าหากจะว่า เพราะหลวงพ่อเพ็ง เป็นพระดีแล้ว  พระภิกษุทรงศีล ทรงธรรม วัดอื่นก็มีอยู่มาก ทำไมจึงทำอะไรไม่ขึ้นเหมือนหลวงพ่อเพ็ง
ถ้าจะว่าเป็นเพราะวิธีการสร้าง  วัดทั้งหลายก็มีวิธีการสร้างเหมือนกัน ทำพิธีปลุกเสกกัน ลงทุนโฆษณาทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ ออกรายการทางโทรทัศน์ก็มี แต่เหตุใดจึงสู้วัดโพธิขวางไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้โฆษณา แม้แต่พิมพ์ใบปลิวแจกสักแผ่นเดียว
ถ้าจะว่าเป็นเทวดาดลใจ เทวดาก็ลำเอียงที่ดลใจให้ไปแต่วัดโพธิขวางมากมายเหลือเกินทอดทิ้งวัดอื่นเสียหมด
ถ้าจะว่าวัดโพธิขวางกำลังชะตาขึ้น ทำไมจึงมาขึ้นเอาตอนนี้  หลวงพ่อเพ็งก็ปกครองวัดมา ๓๐ ปีแล้ว วัดก็คงสภาพเดิมอยู่เงียบๆ มาขึ้นมารุ่งโรจน์เอาตอนนี้ด้วยเหตุด้วยปัจจัยอะไร?
ถ้าจะว่าเป็นความโง่เขลางมงายของคน ก็เป็นการดูถูกดูหมิ่นคนจำนวนมาก  คนเหล่านี้ก็มีพ่อค้าใหญ่ชั้นเศรษฐี มีชั้นนายพล มีทั้งเจ้านาย มีทั้งคนที่ได้รับการศึกษาสูงทางโลก ระดับปริญญาตรี-โท ระดับปริญญาเอกก็มีหลายคน  แม้แต่พระสงฆ์เจ้าคณะ เปรียญสูงๆ ก็เดินทางมาบริจาคทานทำบุญ ขอรับพระสมเด็จไปบูชา  ถ้าจะว่าคนเหล่านี้โง่เขลางมงาย ก็แสดงว่าโลกนี้ไม่มีคนฉลาดเลย คนที่คิดเช่นนี้ก็จะเป็นคนฉลาดเป็นบัณฑิตไปไม่ได้แน่
อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย
พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุ” (เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา)
การที่ผู้คนพากันหลั่งไหลมาทำบุญบริจาคเงินสร้างวัดโพธิขวาง นับจำนวนคนเป็นหมื่น นับจำนวนเงินเป็นล้านนี้ ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัย
แต่เหตุปัจจัยที่แท้จริงนั้นคืออะไร
“อำนาจของบุญ” หลวงพ่อเพ็งพูดอย่างนี้ “บุญคือคุณงามความดีที่เราได้บำเพ็ญมา เปรียบเหมือนบึงบางอันกว้างใหญ่ที่บุญได้รวมกันอยู่  ตัวบุญนี้แหละเป็นกำลังดึงดูดบุญจากในที่ต่างๆ ให้หลั่งไหลมารวมกัน  เศรษฐีเป็นที่รวมของทรัพย์ ทะเลเป็นที่รวมของน้ำ บุญอันใหญ่ก็เป็นที่รวมของบุญ  ศีลของเรา ธรรมของเราที่บำเพ็ญ มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ย่อมมีอำนาจดึงดูดใจคนผู้ใจบุญให้มารวมกันทำบุญ อำนาจของบุญดึงดูดบุญมารวมกันให้เป็นบุญกองใหญ่”
คำอธิบายของหลวงพ่อนี้ เป็นเรื่องลึกซึ้งจนมองไม่เห็น  ก็พอฟังเข้าใจได้คร่าวๆ เท่านั้นสำหรับคนที่ติดอยู่ในทางวัตถุ เช่นคำว่า “เศรษฐีเป็นที่รวมของทรัพย์” ทรัพย์ย่อมหลั่งไหลไปรวมอยู่ที่เศรษฐี  อำนาจทรัพย์ความมั่งคั่งของเศรษฐีเป็นเครื่องดึงดูดทรัพย์ พอจะมองเห็นได้
แต่คำว่า “อำนาจของบุญเป็นเครื่องดึงดูดบุญ” หรือคำว่า “กองบุญเป็นที่รวมแห่งบุญ” ดูจะฟังยาก  คนที่จะเข้าใจได้ ก็น่าจะได้ฝึกฝนอบรมในทางธรรมมาพอสมควร
ถ้าจะว่าไปแล้ว คือ ตัวของหลวงพ่อเพ็งนั่นแหละ คือตัวบุญที่เป็นรูปร่างทางวัตถุพอมองเห็นได้  อำนาจของศีล อำนาจของคุณธรรม อำนาจของการประพฤติพรหมจรรย์มาเป็นเวลาช้านานไม่มีด่างพร้อยบกพร่อง ย่อมจะบ่มตัวหรือหล่อหลอมให้หลวงพ่อมีคุณสมบัติพิเศษ เป็นตัวบุญตัวธรรมที่เปล่งรัศมีเจิดจ้าออกไปให้คนทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธา ชื่นชมยินดี มีจิตใจที่ปรารถนาจะมาทำบุญบริจาคทานกับท่าน  บุญในตัวหลวงพ่อจึงได้ดึงดูดใจคนทั้งหลายที่ปรารถนาจะทำบุญให้มาทำบุญที่หลวงพ่อ
หลวงพ่อจึงกลายเป็นตัวบุญ ที่มีอำนาจดึงดูดบุญมารวมกันที่วัดโพธิขวาง
คนที่มิได้สั่งสมบุญไว้ เป็นเวลานานและมากเหมือนหลวงพ่อ จึงอ่อนกำลังในทางดึงดูด  บุญหลวงพ่อมีกำลังดึงดูดสูงกว่า บุญจึงมารวมอยู่ที่หลวงพ่อมากมายอย่างน่าอัศจรรย์  มากทั้งความเคารพเลื่อมใส มากทั้งจำนวนคน มากทั้งจำนวนทรัพย์ที่บริจาคทำบุญ
เหตุและปัจจัยก็อยู่ที่ตัวหลวงพ่อ อยู่ที่บุญบารมีของหลวงพ่อนั่นเอง
หลวงพ่อกลายเป็นวัตถุอันมีคุณค่าสูง มีกำลังอำนาจดึงดูดบุญสูงดังกล่าวแล้วนี้
เมื่อการสร้างโบสถ์ใกล้จะสำเร็จเรียบร้อย เหลือแต่การยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา  หลวงพ่อก็ให้คนร่างหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ๔ ประการ คือ
๑. ขอถวายพระราชกุศล เพื่อจะได้ทรงพระเกษมสำราญ เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกสืบต่อไปชั่วกาลนาน  เพราะพระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
๒. ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ ให้เป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติสืบไป
๓. ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส เสด็จพระราชดำเนินไปในงานยกช่อฟ้าและงานผูกพัทธสีมา ตามที่จะทรงพระกรุณากำหนดวัน
๔. ขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จารึกไว้หน้าบันอุโบสถ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปชั่วกาลนาน
ความประสงค์ของหลวงพ่อเพ็ง วัดโพธิขวาง สำเร็จสมความประสงค์ทุกประการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้ที่หน้าบันอุโบสถได้
ทรงกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินในวันเพ็ญเดือน ๒ ปีนั้น
ทรงพระราชทานนามวัดโพธิขวางใหม่ว่า “วัดโพธิสวรรค์วราวาส”
พระมหาสว่าง โอภาโส เปรียญ ๖ ประโยค เอาชื่อพระราชทานไปแปล ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ
“โพธิ         คือ    โพธิตรัสรู้ มาจากชื่อเดิม
สวรรค์       คือ    เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พวกเทวดาอยู่
วร             คือ    ยิ่ง หรือสำคัญ
อาวาส       คือ    ที่อยู่อาศัย ได้แก่วัด
รวมมีความหมายว่า “วัดโพธิสำคัญอันเนื่องด้วยสวรรค์และการตรัสรู้”
แปลแล้วก็ไม่เป็นที่พอใจ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะแปลอย่างไรให้กะทัดรัด พอจะอธิบายให้ใครฟังได้
พระมหาสว่างจึงลองถามหลวงพ่อเพ็งดูว่า “นามพระราชทานนี้แปลว่าอย่างไร มีความหมายอย่างไร?”
“โพธิ ก็คือ วัดโพธิ์ วัดที่มีต้นโพธิ์เป็นสำคัญของวัดมาแต่เดิม”
สวรรค์ ก็คือ สรรค์ หรือ “สัคเค” แปลว่า ขวางกั้น  คือ เป็นที่กั้นกลางอยู่ระหว่างโลกกับนิพพาน มีสวรรค์กั้นขวางอยู่ระหว่างกลาง  คนทำบุญกุศลก็ไปติดอยู่แค่สวรรค์ ไปเกิดเป็นเทวดา ไปไม่ถึงพระนิพพานเมืองแก้ว วราวาส แปลว่า วัดสำคัญ
คำรวมหมายความว่า “วัดโพธิ อันสำคัญ มีสวรรค์ขวางหน้าไปไม่ถึงพระนิพพาน”
พระมหาสว่าง ได้ฟังคำแปลจากหลวงพ่อแล้ว ก็งงไป ด้วยไม่เคยนึกถึงว่าหลวงพ่อจะแปลอย่างนี้  จะค้านก็ค้านไม่ได้ ท่านแปลถูกทั้งอรรถ พยัญชนะ ถูกทั้งถ้อยคำและความหมายอันลึกซึ้ง  ถ้อยคำที่แปลก็กะทัดรัดได้ความดี อธิบายให้คนทั้งหลายฟังได้เข้าใจแจ่มแจ้ง  หลวงพ่อเป็นพระสมถะ ไม่ใช่พระนักธรรม นักบาลี ทำไมจึงแปลได้ถูกต้องก็ไม่ทราบ  นึกอัศจรรย์ใจในสติปัญญาความรู้ของท่าน
“การเปลี่ยนชื่อวัดเก่า ที่มีคนเรียกกันมาแต่โบราณอย่างนี้  ต้องให้ผู้มีบุญญาธิการท่านตั้งให้ คนถึงจะเรียกเป็นมงคลนาม” หลวงพ่อพูด “ถ้าเราตั้งเอง เปลี่ยนเอง  ก็จะไม่มีคนเรียก ไม่เป็นศิริมงคลแก่วัดและตัวของเรา”
พระมหาสว่าง ฟังแล้วนึกละอาจใจ คิดถึงชื่อวัด “โพธิรัตโนภาส” ที่พยายามจะเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เมื่อแรกมาอยู่  ทำให้ต้องยอมรับว่า หลวงพ่อนี้เหนือกว่าเราทั้งปัญญาบารมีทุกอย่าง
นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงเรื่องอื่นๆ ทำให้ยิ่งไม่สบายใจมากขึ้น  ทุกวันนี้เราก็เป็นเจ้าอาวาสแต่ชื่อตามตำแหน่งเท่านั้น การก่อสร้างก็ดี เงินทองที่ไหลมาเทมาก็ดี ชื่อเสียงเกียรติคุณก็ดี ไปรวมอยู่ที่พระครูญาณวิสุทธิ์ทั้งหมดทั้งสิ้น  ตัวเราก็เหมือนพระลูกวัดองค์หนึ่ง ช่วยงานวัดไปตามหน้าที่เท่านั้น พระสงฆ์องค์เจ้าและชาวบ้านใกล้ไกล ก็ไม่มีใครให้ความศรัทธาเลื่อมใส  ดูเหมือนจะจมลงไปในความเจริญรุ่งเรืองของวัด ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครกล่าวถึง  ใจหนึ่งก็นึกว่าบุญวาสนาไม่เทียมท่าน ก็จะใช้ขันติความอดทน ยอมแพ้บุญบารมีของท่าน  แต่ใจหนึ่งที่เป็นปุถุชนยังมีกิเลสตัณหา ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวของตัว ก็ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ  ว่าเราไม่ควรจะมาจมอยู่ในวัดนี้เลย ได้ชื่อได้หน้าก็หาไม่ ความภาคภูมิใจก็ไม่มี เป็นสมภารที่อาภัพอับเฉาที่สุด สติปัญญาความสามารถก็ไม่มีโอกาสจะแสดง รัศมีของหลวงพ่อเพ็งได้มาบดบังเราเสียหมดจนมืดมิดไป
เคยคิดปลอบใจตัวเองว่า การได้มาอยู่กับพระผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาบารมีสูง จะทำให้ได้เห็นแบบอย่างที่ดี โน้มน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องส่งเสริม สร้างปัญญาบารมีของตนให้เป็นคนที่มีปัญญาบารมีเพิ่มขึ้น  มีโอกาสภายหน้าก็จะได้มีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ มีคนเลื่อมใสศรัทธา  หลวงพ่อก็แก่แล้วคงจะอยู่ได้ไม่นาน เราก็ยังหนุ่มแน่นอยู่ เมื่อสิ้นบุญท่านแล้ว ก็เป็นโอกาสของเราสักวันหนึ่ง
แต่คิดอย่างนี้ได้ไม่ยืด คิดได้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ความริษยา ความแข่งดี ก็เข้ามาสิงสู่หัวใจ  อย่างน้อยเราก็มีตำแหน่งเป็นสมภารเจ้าวัด ทำไมเล่าจะต้องยอมกินน้ำใต้ศอกของพระลูกวัด
พระมหาสว่างสมภารหนุ่ม กำลังถูกคลื่นลมแห่งกิเลสตัณหา เข้ามาพัดพาหัวใจให้ปั่นป่วนมืดมน  ก็เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ น้อยอกน้อยใจ อึดอัดขัดเคืองในโชควาสนาของตนเอง ทำให้มีอาการหม่นหมอง หน้าตาหมองคล้ำไปจนใครๆ ผิดสังเกต
มีอยู่อย่างหนึ่งที่พระมหาสว่างยังมีกำลังใจกระปรี้กระเปร่าอยู่บ้าง ก็คือ กำนันเชื้อคหบดีผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมาก ได้หมั่นไปมาหาสู่อยู่เสมอ คอยส่งสำรับคับค้อน เครื่องขบฉันหวานคาว ปวารณาตัวไว้ ขาดเหลือขัดข้องอะไรก็ให้บอก  กำนันเชื้อมีลูกสาวอยู่อีกคนหนึ่ง อายุอยู่ในวัย ๓๐ ปี ยังโสดอยู่ไม่มีคู่ครอง  นัยว่ามีหนุ่มชาวบ้านมาเพียรพยายามอยู่ แต่กำนันเชื้อก็เห็นว่ามีฐานะต่ำกว่า อยากจะให้ได้สามีเป็นข้าราชการ แต่ก็ยังไม่สมใจนึก  กำนันเชื้อให้ลูกสาว น.ส.สุชาดา ส่งอาหารสมภารสว่างอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่คุ้นเคยสนิทสนม มานั่งสนทนาอยู่วันละนานๆ  สมภารสว่างมีสิ่งที่เป็นความหวังกำลังใจอยู่ที่นี่ นึกในใจว่า ถ้าพลาดพลั้งอย่างไรก็จะลาสึกแต่งงานกับลูกสาวกำนันเป็นทางออกสุดท้าย  ถ้าหากว่าหมดบุญทางพระศาสนา ก็ยังพอมีที่หวังอยู่
ในที่สุดก็มาถึงวันที่พระมหาสว่างตัดสินใจเสี่ยงบารมี
บรรดาหมู่คณะที่มาหาหลวงพ่อเพ็งนั้น มีอยู่รายหนึ่งเป็นสมภารวัดอยู่ต่างจังหวัด เป็นเปรียญรุ่นเดียวกับพระมหาสว่าง ได้เคยรู้จักชอบพอกัน นำคณะมาทอดผ้าป่าที่วัดโพธิสวรรค์วราวาส นำเงินมาทำบุญถึง ๓๐,๐๐๐ บาท ล้วนแต่เป็นคนที่อยากมาวัดโพธิสวรรค์ฯ อยากได้พระสมเด็จภควันต์  พระอธิการหนุ่มองค์นั้นได้มาที่พระมหาสว่าง ในฐานะสมภารเจ้าวัดด้วยกัน  พระมหาสว่างก็ออกจะได้หน้าได้ตาอยู่บ้างที่เพื่อนสมภารมาทอดผ้าป่า จึงได้ออกหน้ารับรองฐานเป็นเจ้าอาวาส เพื่อที่จะอวดไปในตัวว่า วัดที่เจริญขึ้นนี้ก็สมัยที่ตนเป็นเจ้าอาวาส
อยู่มาวันหนึ่ง ก็ได้รับซองการกุศล ทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดเพื่อนสมภารองค์นั้น  พระมหาสว่างมีความผูกพันในใจว่า จำเป็นจะต้องนำคณะผ้าป่าไปทอดที่วัดนั้นเป็นการตอบแทน
ประการสำคัญ ก็คือ เป็นการเสี่ยงบารมี “วัดดวง” ดูเป็นครั้งสุดท้ายว่า จะมีคนเคารพนับถือตนสักเท่าไร อาจจะวัดได้จากเงินร่วมทำบุญ และคนที่จะไปร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน
พระมหาสว่าง จึงได้แจกซองผ้าป่านั้นออกไปเรื่อยๆ เพื่อรวบรวมเงินไปทอดผ้าป่าสามัคคีตามกำหนด
ครั้นถึงวันทอดผ้าป่า ปรากฏว่ามีคนสมัครไปทอดผ้าป่ารวม ๘๐ คนเศษ จึงเช่ารถโดยสารเข้า ๑ คัน แต่รู้สึกว่ารถคับแคบ จึงได้เช่าแท็กซี่ป้ายดำที่แล่นอยู่ระหว่างวัดกับตัวเมืองมาอีกคันหนึ่ง  พระมหาสว่างนั่งรถแท็กซี่ป้ายดำนำหน้า มีนางกิมหงษ์ ภรรยานายเงื่อนขอนั่งไปด้วยอีกคน รวมทั้ง น.ส.สุชาดา ลูกสาวกำนันเชื้อ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนางกิมหงษ์ และคุ้นเคยสนิทสนมกับสมภารสว่าง นั่งไปตอนเบาะท้ายรถอีก รวมทั้งคนขับ ๔ คน พากันเดินทางไปทอดผ้าป่าสามัคคี ออกรถตั้งแต่เช้า
พอตกเย็นก็มีข่าวร้ายแรงมาถึงวัด ว่ารถผ้าป่าประสบอุบัติเหตุ คนตาย ๔ คน!
ในจำนวนคนตาย มีพระมหาสว่าง สมภารวัดโพธิสวรรค์ฯ รวมอยู่ด้วย!!
ญาติโยมและพระเณรพากันไปดูศพ ปรากฏว่ารถบรรทุก ๑๐ ล้อแล่นสวนทางมาปะทะกับรถเก๋งที่สมภารสว่างนั่ง รถแหลกยับเยิน คนในรถตายหมดทั้ง ๔ คน
สมภารสว่าง โอภาโส วัย ๓๒ ปี
นายเรือง สีลา คนขับรถ วัย ๓๑ ปี
นางกิมหงษ์ สุขสันโดษ วัย ๓๐ ปี
น.ส. สุชาดา ชาติสีแดง วัย ๓๐ ปี
นำศพมาถึงวัดโพธิสวรรค์ฯ ตอนกลางคืน  มีผู้คนมาดู มารดน้ำศพกันเนืองแน่น เป็นเหตุการณ์โศกสลดของวัดโพธิสวรรค์ฯ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝัน
“หน้าตาท่านหมองคล้ำอยู่นานแล้ว”
“บุญท่านทำมาเท่านี้”
“บุญท่านไม่ถึง วัดกำลังจะรุ่งเรือง”
“บุญวาสนาท่านสู้บารมีหลวงพ่อไม่ได้”
“แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งยาก”
คนทั้งหลายพูดกันไปต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์การมรณภาพของสมภารหนุ่มวัย ๓๒ ปี  ญาติมิตรของใครใครก็รำพันถึงคนนั้น
นายเงื่อนร้องไห้โฮ บอกว่า “ห้ามแล้วไม่ฟัง”
กำนันเชื้อ ถึงแก่เป็นลมแล้วเป็นลมอีก
“ผมหมดอาลัยตายอยากแล้ว ชีวิตผมก็หวังพึ่งบุญลูกคนนี้คนเดียว”
หลวงพ่อเพ็ง นิ่งเงียบไม่พูดจาอะไรเลย
เจ้าคณะจังหวัดก็มาเยี่ยมศพด้วยความอาลัย
เมื่อได้จัดการสวดอภิธรรมศพทั้ง ๔ แล้ว ก็จัดการเก็บศพไว้ตามประเพณี ศพสมภารสว่างเก็บไว้บนกุฏิของท่าน รอการฌาปนกิจศพต่อไป
กำนันเชื้อ ดูจะมีความเศร้าโศกเสียใจมากกว่าใครๆ  ได้มาหาหลวงพ่อเพ็งในวันหนึ่ง
“หลวงพ่อครับ บุญทานผมก็ทำอยู่เสมอ ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วยผมบ้าง?”
หลวงพ่อนิ่ง
“ลูกสาวผมคนนี้ บาปกรรมอะไรก็ไม่เคยทำ อยู่แต่บ้านทำแต่บุญ ทำไมถึงอายุสั้น”
“เวรกรรม มันมองเห็นด้วยตาไม่ได้หรอก เราไม่รู้ว่าชาติปางก่อนใครทำกรรมอะไรไว้” หลวงพ่อตอบ
“อย่างท่านมหาสว่าง ท่านก็บวชเป็นสงฆ์ถือศีล เวรกรรมอะไรก็ไม่มี ทำไมจึงมาตายอย่างนี้?”
หลวงพ่อนิ่ง
“ไปทำบุญทำกุศลกันแท้ๆ ไม่น่าจะไปล้มตายกันเลย ถ้าไปทำชั่วทำบาป ก็จะไม่ว่าเลย”
 หลวงพ่อ ปล่อยให้กำนันพูดไปจนหมดเรื่องพูดแล้ว จึงได้พูดกับกำนันเชื้อว่า
กัมมุนา วัตตตี โลโก สัตว์โลกย่อมหมุนไปตามกรรม  พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้
กรรมนี้ย่อมมีอดีตกรรม กรรมในชาติปางก่อน  เราทำกรรมใดไว้ในอดีต ทั้งชาตินี้และชาติปางก่อนบ้างก็ไม่รู้ วิบากกรรมจะติดตามมาทันเมื่อไรก็ไม่รู้
กรรมในปัจจุบันชาตินี้ ใครทำกรรมอะไรไว้บ้าง เราก็ไม่อาจล่วงรู้  ตัวของตัวเองยังจำไม่ค่อยได้ เพราะเราทำกรรมอยู่ทุกเวลาตั้งแต่เกิดมาจนทุกวันนี้
แต่การที่คนเราขึ้นรถลงเรือไปทำบุญกันนั้น ที่จริงทุกคนก็หยุดพักการประกอบกรรมกันแล้วชั่วคราว  กายกรรม วจีกรรม เราไม่ได้ทำกรรมใหญ่อันใดกันทุกคน  คนที่ขึ้นรถลงเรือ เท่ากับได้มอบชีวิตร่างกายไว้กับคนขับรถ ขับเรือคนเดียว คนขับรถขับเรือเป็นผู้ประกอบกรรมคนเดียว  รถหรือเรือลำนั้นเหมือนอัตภาพอันใหญ่ เป็นร่างกายอันใหม่ของรถยนต์ เรือยนต์ เรียกว่าชีวิตยนต์  ร่างกายของคนเป็นชิ้นส่วนอันสิ่งของร่างกายใหม่ อันประกอบด้วยคนทั้งหมดเครื่องยนต์ของรถยนต์นั้น เรียกว่า “ชีวิตยนต์”
จะว่ามีชีวิตก็เหมือนไม่มีแล้วตอนนั้น
จะกลายเป็นชีวิตที่หลอมรวมเข้าเป็นชีวิตเดียวกัน
คนขับรถ เป็นผู้บงการชีวิตรถยนต์นั้นคนเดียว
ถ้าคนขับรถมัวเมาประมาท ใจร้อนใจเร็ว ขาดสติ ก็จะพาชีวิตยนต์คันนั้นไปตายได้ง่ายๆ
อย่าลืมว่า คนนั่งรถยนต์คันเดียวกัน จะเป็นคนดี คนชั่ว คนบุญหรือคนบาป ไม่มีชีวิตเป็นของตนเอง  ได้ยอมมอบชีวิตร่างกายไว้ในรถที่แล่นไปด้วยความเร็ว กลายเป็นชีวิตของรถยนต์ไปแล้วทั้งหมด ไม่มีคนดี คนชั่ว ไม่มีพระ ไม่มีโจรอีกต่อไป  สุดแต่ว่า คนขับรถจะพาไปตายหรือเป็น
จะว่าพระไม่ควรตาย หรือคนไปทำบุญกุศลไม่ควรจะต้องตายไม่ได้ ทุกคนถอดชีวิตฝากไว้กับรถหมดแล้ว  รวมเป็น ชีวิตยนต์ อันใหญ่นั้นชีวิตเดียว  มีชีวิตวิญญาณอันใหญ่อยู่คนเดียวคือคนขับรถยนต์ ชีวิตวิญญาณนอกนั้นเป็นชีวิตวิญญาณประกอบเหมือนเนื้อหนังมังสาเท่านั้น” หลวงพ่อพูด
แต่คิดๆ ดูแล้ว การตายของคนทั้ง ๔ คราวนี้ ได้ช่วยปรับระดับธรรมดาธรรมชาติอะไรบางอย่างให้อยู่ในระดับพอดี
ความโลภหลงทะนงศักดิ์ของใครต่อใครค่อยลดลง ทุกคนเห็นว่าชีวิตมีความตายอยู่ใกล้ตัว ค่อยหายมัวเมาประมาทลงมาก
กำนันเชื้อ ซึ่งเป็นคนโลภหลงมาตลอดชีวิต สะสมทรัพย์ไว้ด้วยความโลภ จนมีทรัพย์มั่งคั่งในทางที่ผิดศีลผิดธรรม ก็แลเห็นว่าทรัพย์นั้นจะไม่อยู่กับบุตรธิดาเป็นมรดกได้จริง  บุตรสาวคนดีก็ตาย บุตรชายคนหนึ่งก็ชั่ว บุตรชายคนหนึ่งก็พิกลพิการ  ทรัพย์นั้นกลับเป็นเครื่องทรมานใจให้เกิดความทุกข์
นายเงื่อน สุขสันโดษ ที่เคยหยิ่งทะนง อาฆาตพยาบาท ล้างผลาญชีวิตคนอื่นเขามาแล้ว  เมื่อถึงคราวภรรยาสาวของตัวต้องตายจากไป ก็ได้คิดว่าไม่ควรจะต้องทำลายชีวิตคนอื่นให้บุตรภรรยาของเขาต้องมีทุกข์
พระเณรในวัด ก็ปลงธรรมสังเวช ว่าความตายนั้นไม่เลือกว่าคนแก่จะต้องตายก่อน คนหนุ่มจะมีชีวิตยืนยาว  หลวงพ่ออายุชราภาพยังอยู่ แต่พระมหาสว่างยังหนุ่มตายก่อน
แม้แต่หลวงพ่อเองก็ได้คิด ว่าการสร้างวัดไว้สำหรับคนเป็นเท่านั้นไม่พอ ต้องสร้างไว้สำหรับคนตายด้วย
หลวงพ่อเพ็ง จึงได้เริ่มสร้างเมรุเผาศพไว้ในวัดโพธิสวรรค์ฯ ด้วย
ท่านเริ่มสร้างเมรุเผาศพไว้ มุมทิศตะวันตกของวัด เยื้องกับศาลากรรมฐาน  มีเมรุอยู่กลาง สองข้างเป็นศาลาสำหรับตั้งสวดศพ มีศาลาสำหรับคนเผาศพอยู่ด้านหน้า  ใช้จ่ายเงินค่าก่อสร้างไปอีกล้านเศษ
ท่านว่าเมรุเผาศพ ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างสำหรับอวดโชว์ใคร จึงไม่สร้างไว้หน้าวัด ให้คู่เคียงกับอุโบสถเหมือนวัดอื่นๆ  แต่ว่าเมรุเป็นที่สำหรับเผาศพ เป็นที่ปลงธรรมสังเวช ต้องสร้างไว้หลังศาลากรรมฐาน  มีที่ทางไว้ต่างหาก ให้สะดวกแก่คนมาเผาศพ  ศาลาด้านหน้าเมรุ ท่านตั้งชื่อว่า “ศาลาปลงธรรมสังเวช”
การตายของคนทั้ง ๔ จึงเป็นเครื่องเตือนสติคนข้างหลังด้วยอาการดังนี้
แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ก็ได้สติ ขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
“เดี๋ยวจะแหลกเหมือนอ้ายเรือง”




(โปรดติดตามตอนต่อไป)