วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

ตอน ๖..ผีสางเทวดาไม่ปรานี


โพธิขวาง 

๖. ผีสางเทวดาไม่ปรานี


โอภาโสภิกขุ สมภารหนุ่มวัย ๓๑ ปี กลับไปนั่งอยู่ที่กุฏิด้วยความขุ่นข้องหมองใจเป็นอย่างยิ่ง  นึกถึงคำพูดของคนต่างๆ ในที่ประชุมที่กระทบกระเทือนทิ่มแทงใจตนแล้ว ก็กลุ้มกลัดขัดใจ ครุ่นคิดไปต่างๆ  จุดบุหรี่สูบอัดควันแรงๆ หลายครั้ง แต่ดูเหมือนยิ่งเพิ่มความกลุ้มกลัดในหัวสมองมากขึ้น  นึกถึงว่าตัวเราบัดนี้ก็ดูเหมือนว่าจะรุ่งเรืองในทางการคณะสงฆ์ ได้เป็นเจ้าอาวาสแต่ยังหนุ่มแน่น  มีความคิดฝันที่จะพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองทันตาเห็น มีความคิดอันรุ่งโรจน์โชติช่วงที่จะพัฒนาวัดในเรื่องนั้นเรื่องนี้หลายอย่าง หลายสิ่ง  แต่พอเริ่มแผนงานก็พบแต่อุปสรรค มีมารมาขัดขวางทั้งเบื้องล่างและเบื้องบน  เบื้องล่างนั้นก็มาเจอเอาคนรุ่นเดียวกันวัยเดียวกันเข้า คอยขัดขวางคอยชักใบให้เรือเสียอยู่ตลอดเวลา  ความรู้ทางโลกและการพูดจานั้นดูเหมือนจะสู้เขายาก สมัครพรรคพวกเขาก็มี  เราเป็นลูกบ้านนี้ แต่จากไปเสียนาน เมื่อกลับมาใหม่ก็เหมือนตัวคนเดียว ยังไม่มีคนเคารพนับถือในความรู้ความสามารถ เพราะยังไม่มีโอกาสแสดงฝีมือ พอจะเริ่มแสดงก็มีคนคอยขัดขวางขัดจังหวะเสียแล้ว   ฝ่ายเบื้องบนนั้นเล่า ก็ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลครอบคลุมวัดนี้อยู่ทั้งหมด เพราะอยู่ปกครองวัดนี้มานานถึง ๓๐ ปี เท่าๆ อายุของเรา  คนในตำบลนี้เล่าก็ล้วนแต่โง่เขลา ขาดการศึกษาอบรม หลงเชื่อในทางฤทธิปาฏิหาริย์ เชื่อบุญเชื่อบารมีของพระภิกษุเก่าๆ แก่ๆ  เชื่อจนกระทั่งว่าหลับตามองเห็นอะไรได้ล่วงหน้า เชื่อว่าวาจาสิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั่น  นี่ดีว่าท่านไม่ได้ให้หวยใบ้เบอร์อะไร ไม่เช่นนั้นคนก็จะยิ่งงมงายฝังหัวกันไปอีกมาก  ถึงอย่างนั้นก็เป็นเหมือนหลักเหมือนตอ หินโสโครกที่จมอยู่ใต้น้ำ กีดขวางการเดินเรือแพ การดำเนินงานของเราอยู่ไม่น้อย  ไม่ใช่หลักตอใต้น้ำธรรมดา เป็นเหมือนจระเข้ขวางคลองเอาทีเดียว เพราะคนทั่วไปพากันขยาดหวาดเกรงไม่กล้าข้ามกราย เราจะมีหนทางแก้ไขได้อย่างไร  ยิ่งคิดไปแล้วก็ยิ่งตันปัญญา ฟ้าดินส่งให้เรามาเป็นใหญ่ในวัดนี้ ทำไมจึงให้มีนายเงื่อนและสมภารเพ็ง ฟ้าดินช่างไม่กรุณาปรานีเราเสียบ้างเลย เราจะเป็นสมภารวัดโพธิขวางนี้ต่อไปได้อย่างไร เมื่อมีที่ขัดขวางกางกั้นอยู่ทั้งเบื้องล่างเบื้องบนเช่นนี้
สมภารหนุ่ม ยิ่งคิดไปก็ยิ่งกลุ้มกลัดขัดเคืองใจ  นึกไปถึงคำของคนที่ว่าเราเป็นลูกคนจนเอาดีทางโลกไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ต้องมาเอาดีทางพระ  ว่าเราคิดสร้างตึกสมภารให้โอ่โถงเกินกว่าฐานะชาวบ้าน  เราสร้างก็เป็นของเราเมื่อไรมี ก็ตกเป็นสมบัติของวัด เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของคนทั้งตำบล  แต่วาทศิลป์ของเรามันสู้เขาไม่ได้ พูดจูงใจให้เขาเห็นดีเห็นชอบไม่ได้  ขณะนั้นหัวใจมันเต้นแรง คุมสติไม่อยู่ นึกหาคำพูดไม่ออก คิดแล้วมันเจ็บใจตัวเอง  แต่คนอื่นก็ไม่มีปัญหา ดูเหมือนจะชอบฟังมากกว่าพูด แต่มันมีนายเงื่อนคนนี้ชักใบให้เรือเสีย มันมีสมภารเพ็งคนนี้ มีอิทธิพลกีดขวางอยู่
สมภารหนุ่มคิดวนเวียนอยู่อย่างนี้ มองไม่เห็นหนทางออกว่าจะกำจัดขวากหนามเหล่านี้ออกไปให้พ้นทางได้อย่างไร แต่คิดว่าจะต้องหาหนทางให้จงได้  ต้องเลือกเอาทางหนึ่ง ถ้ากำจัดขวากหนามไม่ได้ เราก็ต้องยอมแพ้หลีกทางไป เป็นสมภารวัดโพธิขวางไม่ได้แน่  แต่เราจะยอมแพ้หรือ เราจะต้องคิดหาหนทางต่อไป  คิดอย่างนี้แล้วมหาสว่างก็ลุกขึ้น คว้าจีวรห่ม คิดจะไปหาที่สงบสงัดพักอารมณ์ข่มใจไม่ให้ใครมารบกวน  จึงลงจากกุฏิเดินวนไปข้างหลังวัด ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม หญ้าพงรกเป็นป่าช้าฝังผีศพชาวบ้าน มีซองใส่ศพ ก่อด้วยซีเมนต์เรียงอยู่เป็นแถวไม่ได้ระเบียบอะไรนัก  มีต้นไม้และพงหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป มีต้นไม้ใหญ่ เช่นต้นไทร ต้นหว้า และต้นไม้ชนิดอื่น ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น   สมภารหนุ่มเดินลัดเลาะไปด้วยจิตใจหม่นหมองขุ่นมัว ตั้งใจจะมาหาที่นั่งสงบอารมณ์สักพัก  แต่เป็นคราวเคราะห์ไปปะทะกับรังผึ้งเข้า มันก็แตกฮือ บินเข้ากรูรุมต่อยเอา  พระมหาสว่าง เอามือปัดไปมา มันก็ยิ่งบินกรูกันเข้ามาต่อยเป็นพัลวัน  จนเห็นไม่ได้การ ก็เลยวิ่งหนีกลับมากุฏิ  ปรากฏว่าโดนผึ้งต่อยตามใบหน้า ตามแขน หลายสิบแห่ง นอนปวดร้องครางอยู่ พระเณรตกใจต้องเข้าไปช่วยถอนเหล็กในออก  พระมหาสว่างหน้าตาบวมปูด นอนปวดระบมทั้งคืน รุ่งเช้าก็เป็นไข้ ตัวร้อนจัด หน้าตาจำไม่ได้ ปากบวม ตาปิด ฉันอาหารไม่ได้ทั้งตอนเช้าและตอนเพล พระเณรต้องนั่งพยาบาลกันอยู่
ประสกแย้ม คนข้างวัด ขึ้นมาดูอาการ เห็นเข้าเช่นนั้นก็ให้คนไปตามกำนันเชื้อมา  กำนันเชื้อมาถึงเห็นเข้าก็ตกใจ ชวนกันออกมานั่งปรึกษากันอยู่สองคน
“ท่านกำนันเห็นเป็นอย่างไร?”
“ฉันว่า ควรจะต้องส่งโรงพยาบาล เดี๋ยวจะเป็นอะไรมากไป”
“ฉันว่ายังงี้นะท่านกำนัน” นายแย้มคนสูงอายุพูดขึ้น “เมื่อวันวานนี้ ท่านมหาได้พูดจาล่วงเกินหลวงพ่อเพ็งในที่ประชุม ว่าอวดอุตริมนุสสธรรม เป็นปาราชิก ท่านกำนันได้ยินใช่ไหม?”
“ได้ยิน”
“หลวงพ่อท่านเป็นพระขลังๆ แรงๆ อยู่นะ ท่านกำนัน  ฉันว่าควรให้ไปขอขมาลาโทษหลวงพ่อเสีย”
“ก็เวลาพูดหลวงพ่อไม่ได้ยิน” กำนันว่า “ใครจะไปบอกท่านทำไม”
“กำนันนึกหรือว่าหลวงพ่อไม่รู้”
“หลวงพ่อท่านเป็นพระมีเมตตา คงไม่ถึงกับจะเสกผึ้งให้มาต่อย” กำนันพูด หัวเราะหึๆ
“ไม่ใช่หลวงพ่อเสกผึ้ง เสกต่อ เสกแตนอะไร ฉันไม่ได้หมายความยังงั้น” ตาแย้มพูด “แต่หลวงพ่อท่านไม่ใช่พระธรรมดา ใครไปว่ากล่าวล่วงเกินท่าน มีอันเป็นไปทันตาเห็นทุกคน  อ้ายเจ้าเงื่อนพูดว่า หลวงพ่อเคยขึ้นไปบรรจุพระไว้บนเจดีย์ ท่านว่าท่านไม่กล้าขึ้น กลัวตก  พออ้ายเจ้าเงื่อนปีนขึ้นไป ก็ตกลงมาปากคอแตก ไม่เห็นหรอกหรือท่านกำนัน?”
“เออ ชอบกลเหมือนกัน พี่แย้ม” กำนันยอมรับ “ฉันก็ลืมนึกไป”
“นั่นนะซี ฉันว่าให้ท่านมหาไปขอขมาลาโทษท่านเสียคงจะไม่เป็นไร ไม่ต้องเอาไปโรงพยาบาลหรอก”
“แล้วใครจะไปพูดกับท่านมหา?”
“ก็จะมีใคร ท่านกำนันแหละ พอจะพูดให้ท่านเชื่อถือได้”
“ต้องเข้าไปพูดด้วยกันสองคน”
กำนันเชื้อกับนายแย้ม จึงพากันเข้าไปในห้องของท่านสมภาร  ท่านยังนอนอยู่ ลืมตาไม่ขึ้น แต่มีอาการแสดงว่าตื่นอยู่  ท่านกำนันกับนายแย้มเข้าไปนั่งชิดข้างเตียงนอน
“ท่านมหาครับ เป็นยังไงตอนนี้?”
“ปวดระบมไปหมด” ท่านมหาพยายามพูดเสียงเบาๆ
“ท่านมหาครับ” กำนันพูดต่อไป “ผมอยากจะพูดอะไรกับท่านสักอย่าง ท่านอย่าโกรธผม ผมก็หวังดีต่อท่าน”
สมภารนิ่ง
“คือเมื่อบ่ายวานนี้ ท่านมหาได้พูดจาล่วงเกินหลวงพ่อเพ็ง ในที่ประชุมสองสามคำ แต่ว่าเป็นคำหนักอยู่ ตกเย็นท่านก็ได้รับเคราะห์กรรมมาอย่างนี้แหละ  ผมอยากให้ท่านมหาเอาดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาลาโทษหลวงพ่อเพ็งท่านเสียนะครับ”
สมภารนอนนิ่ง
“หลวงพ่อเพ็งท่านเป็นพระขลังอยู่ วาจาก็ศักดิ์สิทธิ์  ดูแต่อ้ายเงื่อนเถอะ ตกเจดีย์ลงมาทันตาเห็น  อ้ายเงื่อนพูดจาล่วงเกินท่านเล็กน้อยเท่านั้น ท่านก็เห็นกับตาว่ามันตกลงมาเหมือนปากท่านจริงๆ”
สมภารนิ่ง ยกเอามือมาประสานพาดไว้ที่อก
“ถึงอย่างไร หลวงพ่อเพ็ง ก็เป็นพระคราวพ่อคราวปู่  การไปกราบไหว้ท่านก็ไม่เสียหายอะไร ผีสางเทวดาก็ยังสรรเสริญ ว่าเราเคารพกราบไหว้พระผู้เฒ่าผู้แก่”
สมภารคงนอนนิ่ง
“ผมเข้าใจว่าตั้งแต่ท่านมหามาเป็นสมภารวัดนี้ ยังไม่ได้บอกเล่าเจ้าที่เจ้าทางเขา ยังไม่ได้ไปกราบไหว้เคารพหลวงพ่อเพ็งเลย  ผีสางเทวดาก็จะมองเห็นว่าท่านกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพเจ้าที่เจ้าทาง  เท่านั้นก็พอทำเนา  ท่านไปกล่าววาจาล่วงเกินท่านด้วยคำหนัก ผมจึงอยากให้ท่านไปขอขมาท่านเสีย บางทีเรื่องร้ายแรงทั้งหลายก็จะไม่มี”
สมภารนิ่งฟัง
“ถ้าท่านมหาไม่ขัดข้อง ผมจะเตรียมธูปเทียนดอกไม้มาให้  พอท่านลุกขึ้นไหว ก็ไปขอขมาลาโทษท่านเสีย  ยังไงๆ ก็อย่าให้คนทั้งหลายเขานินทา  หลวงพ่อเพ็งก็เป็นพระผู้ใหญ่ มีคนเคารพนับถือท่านมาก  ท่านจะได้ไม่มีเคราะห์ไม่มีศัตรู”
สมภารสว่างลืมตาเผยอเปลือกตาขึ้นเป็นครั้งแรก
“เอา ฉันตกลง”
สมภารเดินนำหน้า กำนันเดินตาม นายแย้มเดินตามไปยังกุฏิหลวงพ่อเพ็ง ซึ่งอยู่หัวสกัดทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับกุฏิสมภารสว่าง  ครั้นไปถึงก็พากันนั่งลงตรงหน้าหลวงพ่อเพ็ง
สมภารสว่าง นั่งคุกเข่าถือธูปเทียนดอกไม้ใส่พาน วางไว้ตรงหน้าหลวงพ่อเพ็ง แล้วก้มลงกราบ ๓ ครั้ง แล้วส่งพานให้หลวงพ่อเพ็ง
“กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ผมได้สบประมาทพลาดพลั้งด้วยกาย วาจา ใจ ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอได้อโหสิกรรมนั้นให้ผมด้วย”
หลวงพ่อเพ็ง รับพานดอกไม้ธูปเทียนไว้ พลางก็กล่าวว่า
“กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อโหสิกรรม”
ครั้นแล้วหลวงพ่อเพ็ง ก็ล้วงลงไปในย่าม หยิบเอาห่อกระดาษสีขาวขึ้นมา
“เอายาเขียวใหญ่ไปฉันกับน้ำอุ่น พรุ่งนี้ก็หาย” พลางก็ส่งซองยาให้ แล้วหลวงพ่อก็นิ่ง ไม่พูดจาไต่ถามอะไรอีก ไม่ถามว่าไปถูกอะไรมา มีอาการอย่างไร  ดูเหมือนท่านรู้แล้ว และท่านเตรียมตัวคอยไปรับขอขมา ท่านเตรียมยาไว้ให้เสร็จ
สมภารสว่าง ก้มลงกราบ ๓ ครั้ง ลาท่านกลับมายังกุฏิ โดยมีกำนันเชื้อ นายแย้มเดินตามมา  ถึงกุฏิแล้วก็นั่งพูดคุยอยู่สักครู่ กำนันเชื้อกับนายแย้มก็ลากลับไป
รุ่งเช้า อาการบวม อาการไข้ของพระมหาสว่างก็หายเป็นปกติดี  ฉันเช้าแล้ว พระมหาสว่างก็จัดแจงเดินทางเข้าไปในตัวจังหวัด เข้าไปยังวัดเจ้าคณะจังหวัด เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิขวางตั้งแต่ต้นจนจบ
ท่านเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระภิกษุสูงอายุ อยู่ในวัย ๖๐ เศษ มีความรู้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม มีประสบการณ์มาก  เป็นพระภิกษุที่เฉลียวฉลาด มีปัญญาหยั่งรู้ถึงสภาพความเป็นจริง แทงทะลุปรุโปร่งเข้าไปถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ที่ได้ยินได้ฟัง  จึงได้เทศนาสั่งสอนอบรมแบบครูอาจารย์ที่มีความหวังดีต่อศิษย์ของตน
“คุณไปเป็นสมภารเจ้าวัด ต้องมีความรู้ ๑ ความสามารถ ๑ คุณธรรม ๑  ทั้ง ๓ ประการนี้ต้องประกอบกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็เรียกว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมภารที่ดี
ความรู้ต้องนำหน้า ต้องรอบรู้ในกิจการของคณะสงฆ์ รู้จักหน้าที่ของพระสงฆ์ ต้องรู้ในกิจการหน้าที่ของเจ้าอาวาส
ความสามารถเดินตาม เป็นเครื่องสนับสนุน  ต้องสามารถในการบำรุงรักษาวัด และพระศาสนา ต้องสามารถนำหมู่คณะคือพระลูกวัด ต้องสามารถในการชักนำพุทธบริษัทให้หันมาส่งเสริมกิจการของพระศาสนา
คุณธรรมตามหลัง ต้องมีคุณธรรมในการเป็นผู้ปกครองคน  เอาธรรมะของพระบรมศาสดามาใช้ทุกอย่าง ที่จะทำให้เราเป็นที่เคารพรักใคร่ของคนในปกครอง และคนที่แวดล้อมอยู่ในตำบลท้องถิ่นนั้น  คุณธรรมนี้เปรียบเหมือนกลิ่นหอมของดอกไม้ ที่ทำให้คนทั้งหมดอยากเข้าชิดเข้าใกล้ เป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม  ถ้าเราขาดคุณธรรมก็เหมือนดอกไม้ไร้สีไร้กลิ่น คนไม่อยากชม  ถ้ายิ่งมีความร้ายความชั่วในตัวเราก็เหมือนกลิ่นเหม็น คนทั้งหลายก็จะพากันหลีกหนีไป  คุณธรรมนี้แหละผมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่าความรู้ความสามารถ  จะเป็นเครื่องส่งเสริมความรู้ ความสามารถ ให้เราทำงานในหน้าที่ได้สำเร็จ  คนที่ขาดคุณธรรม ถึงจะมีความรู้ ความสามารถเพียงใด ก็จะทำงานไม่สำเร็จ  เพราะงานทุกอย่างเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนอื่น ถึงเราจะขาดความรู้ ความสามารถจะด้อย แต่ถ้าเรามีคุณธรรม ก็อาจจะจูงให้คนอื่นมาช่วยงานเราจนสำเร็จ  พระสมภารเจ้าวัดที่ขาดความรู้ หย่อนความสามารถ แต่ทำงานใหญ่ๆ ได้สำเร็จมากมาย เพราะเหตุที่มีคุณธรรมดี ก็อาจจะดึงเอาคนที่มีความรู้ความสามารถกว่าตนมาช่วยงานได้สำเร็จ  คุณคงจะเคยเห็นแล้ว สมภารบางองค์ความรู้ไม่มีอะไรเลย ความสามารถก็ไม่มีอะไร พูดก็ไม่เก่ง คาถาอาคมก็ไม่ขลัง แต่ท่านสร้างวัดของท่านได้เป็นปึกแผ่น คนเคารพนับถือมาก  นี่ก็เพราะเหตุที่ท่านมีดีอยู่ในตัว ดีที่ว่านี่ก็คือคุณธรรมของผู้เป็นหัวหน้าคน
พระมหาสว่างนิ่งฟังเหมือนฟังเทศน์ พนมมือแต้
“คุณธรรมของคนที่เป็นสมภารเจ้าวัดนี้ มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนทางราชการเขา เขามีระเบียบ มีกฎหมาย มีอำนาจให้คุณ ให้โทษคนได้ คนย่อมเกรงกลัวกัน  แต่คุณธรรมของสมภารนี้ ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษใครได้ จึงต้องใช้คุณธรรมล้วนๆ ไม่มีอำนาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง  สมภารจึงใช้อำนาจไม่ได้ เพราะที่จริงแล้วเราไม่มีอำนาจอะไรอยู่ในมือเลย ต้องใช้แต่คุณธรรมหรือพระคุณล้วนๆ
คุณธรรมของสมภารวัดนั้น พระบรมศาสดาของเราได้ตรัสสอนไว้มาก เราได้ยินได้ฟัง ได้อ่านกันอยู่เป็นประจำ  แต่คุณธรรมเหล่านี้เราจะเรียนรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามเท่านั้นไม่ได้ เราจะเรียนรู้ไว้เสนอนักธรรมหรือเป็นมหาเปรียญเท่านั้นไม่พอ เราต้องรู้จักนำเอามาประพฤติปฏิบัติจริงๆ ในชีวิตประจำวันด้วย  หมายความว่าคุณธรรมกับตัวเราต้องเป็นสิ่งเดียวกัน เราต้องมีคุณธรรม  คุณธรรมนั้นอยู่ในตัวเราตลอดเวลา เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญมีแสงสว่างส่องกระจายออกไปให้คนพบเห็นชื่นใจ สบายใจ
คุณธรรมของสมภารเจ้าวัดมีมาก จะยกเอามาแต่ที่สำคัญๆ พูดให้ฟัง
๑.    ขันติ  ต้องมีความอดทน อดกลั้นทุกอย่าง  แม้แต่ศัตรูที่จะมาโจมตีเราด้วย เจตนาร้าย เราก็ต้องทน  ต้องถือคติว่า “ยอมแพ้เป็นพระ ย่อมชนะแก่มาร”  ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรา ชนะมารทุกอย่างเพราะขันติบารมีทั้งสิ้น
๒.   โสรัจจะ  ความสงบเสงี่ยม ไม่ไว้ยศ ไม่วางตัวว่าเราเป็นสมภารเจ้าวัด  ทำตัวเป็นผู้อาศัยวัด เป็นลูกวัดคนหนึ่ง
๓.   นิวาตะ  ไม่พองลม ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ไว้อำนาจแก่ผู้ใด ไม่ว่าพระเณร หรือชาวบ้านทั่วไป
๔.   ทมะ คือ ข่มใจข่มอารมณ์ของตัวเราได้ ข่มความอยากดี อยากเด่น อยากดัง ของเราให้สงบลง  อย่าให้มันแสดงออกไปให้บาดหู บาดตา  บาดใจคน
๕.   มะทะ  ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทรัพย์ หรือบริวาร  ประคองใจไม่ให้หวั่นไหวลุ่มหลง
๖.    อปมาทะ  ไม่ประมาทในบุคคล แม้จะเล็กน้อย  ไม่ประมาทในการงานที่ทำ สิ่งใหญ่ๆ มาจากสิ่งเล็กน้อยเสมอ
๗.  เมตตา  รู้จักทำใจให้รักใคร่ในผู้คนในปกครอง ไม่ว่าพระ เณร ชี ชาวบ้าน  แผ่เมตตาจิตไปให้กว้างขวาง
๘.  กรุณา  ช่วยเขาให้พ้นทุกข์ เดือดร้อน แม้ในสิ่งเล็กน้อยเท่าที่เราจะช่วยได้
๙.   มุทิตา  ยินดีในความสุข ความเจริญ ลาภ ยศ สรรเสริญ ของคนอื่น  ไม่มีใจริษยาเขา
๑๐.          อุเบกขา  รู้จักวางใจเป็นกลางในคนจน คนมี คนดี คนชั่ว  ในความวิบัติล่มจม หรือทุกข์ยากของผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมเขา
๑๑.          ทาน  รู้จักให้ปันสิ่งที่เรามีแก่ผู้ที่ไม่มี ไม่หดหืนเหนียวแน่นตระหนี่
๑๒.         ปิยวาจา  พูดจาคำไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดคำที่บาดหูบาดใจคนอื่น แม้แต่คำน้อย
๑๓.         อัตถจริยา  ประพฤติตนเป็นประโยชน์เกื้อกูลเขา เท่าที่เราจะช่วยได้แก่ทุกคน
๑๔.         สมานัตตตา  วางตนสม่ำเสมอเหมือนเคย ไม่ทำตนขึ้นลง ตามบุญวาสนาของเรา  เคยอย่างไรก็อย่างนั้น แม้ว่าเราจะมียศมีตำแหน่งสูงขึ้น
๑๕.         อัตตัญญุตา  รู้จักตนของเราว่าเราเป็นใคร ลูกเต้าใคร มีพื้นเพอยู่ที่ใด มีความรู้ความสามารถอย่างไร
๑๖.          อัตถัญญุตา  รู้จักเหตุว่าเหตุนี้ก่อให้เกิดผลอย่างไร รู้จักปลายเหตุสาวเข้าไปหาผล
๑๗.        ธัมมัญญุตา  รู้จักสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่มีอยู่ ว่ามันเกิดมาจากเหตุอะไร รู้จักต้นเหตุที่ก่อให้เกิดผล
๑๘.        มัตตัญญุตา  รู้จักประมาณ ว่าทำอะไรให้พอเหมาะพอควรกับทุนรอน และความสามารถของเรา
๑๙.         กาลัญญุตา  รู้จักกาล รู้จักสมัย  ว่าสิ่งนี้ควรทำในจังหวะไหน โอกาสใด จึงจะเหมาะจะควร
๒๐.          บุคคลัญญุตา  รู้จักบุคคลที่เราเกี่ยวข้อง ว่ามีอุปนิสัย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และบริวารของเขา ประวัติความเป็นมาของเขา
๒๑.         ปริสัญญุตา  รู้จักประชุมชน สังคมในท้องถิ่นนั้น ว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อถืออย่างไร
เหล่านี้เป็นคุณธรรมประจำใจของเรา เราต้องให้ธรรมเหล่านี้อยู่กับใจเราเสมอ  เราต้องเป็นตัวธรรมะเหล่านี้ พร้อมที่จะให้ธรรมเหล่านี้มันส่งรัศมีออกจากกายของเราตลอดเวลา ใครพบเห็นเข้าก็รู้ได้ทันที เรามีธรรมเหล่านี้อยู่โดยปกติธรรมดา  คุณธรรมเหล่านี้แหละจะช่วยให้เรามีเสน่ห์ เมตตา มหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มีตบะเดชะอยู่ในตัว เราจะเป็นสมภารเจ้าวัดที่ดีมีคนเคารพนับถือเอง ทำอะไรก็มีคนร่วมมือร่วมใจ ทำอะไรใหญ่น้อยก็สำเร็จทุกอย่าง”
สมภารสว่าง ฟังแล้วก็สว่างใจ  นึกถึงตัวเอง แล้วก็รู้สึกละอายใจที่เสียแรงเป็นมหาเปรียญลืมธรรมะตื้นๆ เหล่านี้เสียหมดสิ้นในขณะที่เป็นสมภารเจ้าวัด
“กล่าวโดยเฉพาะที่วัดโพธิขวางนี้  พระครูญาณวิสุทธิ์ ท่านก็เป็นพระสำคัญโขอยู่ จะข้ามกรายท่านไม่ได้เป็นอันขาด คนเคารพนับถือท่านมาก  ถ้าเราไม่เคารพท่าน หรือไปล่วงเกินข้ามกรายท่าน คนทั้งหลายก็จะพากันเกลียดชังเรา เรียกว่าไม่มีสิริมงคล ไม่รู้จักเคารพคนที่ควรเคารพ ในมงคลสูตร ๓๖ ประการ
ทางที่ดีเราจะต้องรู้จักวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง คือเรายกท่านให้ออกหน้า เรายอมอยู่ข้างหลัง เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด  ทำอะไรปรึกษาหารือท่าน ท่านเห็นดีก็ยกให้ท่านออกหน้า เป็นความคิดของท่าน เป็นงานของท่าน ยกย่องท่าน  ท่านไม่เห็นด้วยก็อย่าทำ  เวลาประชุมกรรมการก็ให้ท่านเป็นประธาน เราลดตัวลงมาเป็นเลขานุการเสีย ก็ไม่เห็นว่ามันจะเสียหน้าอะไร  เราก็เป็นสมภารอยู่วันยังค่ำ แต่เป็นสมภารที่ฉลาด รู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่เอามาเป็นประโยชน์แก่เรา
ผมว่านะ ท่านพระครูก็ชราภาพมากแล้ว ท่านจะอยู่กับเราอีกไม่นาน เอาตัวพระครูนั่นแหละมาเป็นประโยชน์แก่เราให้มากที่สุด  ท่านพระครูนั่นแหละ เป็นตัวเงินตัวทอง ผมจะบอกให้  เห็นไหมล่ะ อยู่ๆ ท่านก็ทำเงินไว้ให้เราถึง ๔๕๐,๐๐๐ บาท คิดดูให้ดีเถอะ  ตัวพระครูญาณวิสุทธิ์นั่นแหละมีราคาเป็นเงินนับล้านทีเดียวคุณ
“แหม พระเดชพระคุณ ทำไมไม่สอนกระผมเสียก่อน” พระมหาสว่างพูดขึ้น “สอนกระผมเสียก่อนไปอยู่วัดโพธิขวางก็จะดี”
“ผมไม่สอนคุณหรอก” ท่านเจ้าคณะจังหวัดพูด “ผมต้องการให้คุณไปผจญกับสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเองให้เต็มที่ แล้วผมจะได้สอนคุณภายหลัง คุณจะได้จำได้ติดใจไปจนตาย  ถ้าสอนเสียก่อน คุณก็จะฟังแต่เพียงเผินๆ ไม่ได้ประโยชน์แก่คุณ”
พระมหาสว่าง กราบลาท่านเจ้าคณะจังหวัดกลับวัดโพธิขวางวันนั้น มีอาการตัวเบาหวิว



(โปรดติดตามตอนต่อไป)








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น