โพธิขวาง
๗. คนดีมีน้อย - คนถ่อยมีมาก
“ยอมแพ้เป็นพระ
ย่อมชนะแก่มาร” คำสอนของเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดคำนี้ประทับใจพระมหาสว่าง
โอภาโส เป็นอย่างยิ่ง นำมานึกคิดจนเกิดความสว่างโพลงขึ้นมาในหัวใจ แต่ก่อนนี้ก็ได้ยินแต่คนพูดกันว่า “แพ้เป็นพระ
ชนะเป็นมาร” คำนั้นเห็นจะพูดกันผิดๆ มานาน ทำให้คนเข้าใจความหมายไขว้เขว “ชนะเป็นมาร”
มองไม่เห็นว่าผู้ชนะจะเป็นมารได้อย่างไร “ยอมแพ้เป็นพระ
ย่อมชนะแก่มาร” ก็เหมือนพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะแก่มารด้วยพระขันติบารมี
จึงได้ทรงมีชัยแก่พญามาร พระมหาสว่าง
กำลังมีมารมาผจญอยู่ จะต้องหาทางเอาชนะแก่มารให้จงได้ และหนทางนั้นก็มองเห็นแล้วว่าจะต้องยอมแพ้
เพื่อเอาชนะใจให้ได้ในภายหลัง
“พระครูญาณวิสุทธิ์นั้นท่านมีค่าเป็นล้านๆ
บาทเชียวนะ” คำของเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดคำนี้
คิดแล้วก็เห็นจริง พอจะมองเห็นความจริงในคุณค่าอันมหาศาลที่แฝงอยู่ในตัวหลวงพ่อเพ็งองค์นี้แล้ว
จะต้องรีบฉวยโอกาสเอามาเป็นประโยชน์เสียโดยเร็ว เพราะท่านชราภาพมากแล้ว
ประเดี๋ยวเงินล้านก็จะจมหายไปพร้อมกับชีวิตและร่างกายของท่าน
สมภารหนุ่มคิดได้ดังนี้แล้ว
ก็เริ่มดำเนินการตามแผนการที่คิดไว้ในใจทันที ตามประสาคนใจร้อนใจเร็ว สมภารสว่าง จึงได้มีจดหมายให้คนถือไปเชิญนายเงื่อนมาหาที่วัด
ว่าอยากจะพบนายเงื่อนเพื่อปรึกษาหารือบางอย่าง ขอให้ไปพบที่วัดให้จงได้
เวลาบ่ายโมงวันนี้ นายเงื่อนได้รับจดหมายก็ร่อนให้เพื่อนๆ
ดูว่ามหาสว่างจะทวงเงินเอาไปสร้างอะไรอีกแล้ว จึงชวนเพื่อนๆ ไปด้วย
ได้นายชิดกับนายผันเพื่อนร่วมใจไปด้วยกัน ๓ คน
เมื่อถึงวัด
พบพระมหาสว่างนั่งคอยอยู่ที่กุฏิด้วยสีหน้ายิ้มย่องผ่องใสผิดกว่าวันก่อนๆ
ร้องเชื้อเชิญให้นั่งอย่างกระตือรือร้นเป็นที่ผิดสังเกต นายเงื่อนก็แปลกใจในกิริยาวาจาที่เปลี่ยนไป
“ท่านมหาคงจะพูดถึงเรื่องเงินที่ฝากไว้”
นายเงื่อนเริ่มขึ้นก่อน
“ไม่ช่าย ไม่ใช่”
ท่านสมภารโบกไม้โบกมือปฏิเสธ “ฉันไม่ห่วงหรอก ฉันไว้ใจกรรมการ ก็มีคุณเงื่อนเป็นกรรมการอยู่ทั้งคน
ฉันไว้ใจความตรงไปตรงมาของคุณ”
“ก็ไม่แน่หรอกครับ คนเราน่ะมันเปลี่ยนแปลงได้ สุดแล้วแต่อารมณ์”
นายเงื่อนแขวะสมภารจนได้ “เรื่องเงินนี้ก็เหมือนกัน บางคนไว้ใจได้เพียง ๑๐๐ บาท บางคนไว้ใจได้เพียง
๑,๐๐๐ บาท บางคนไว้ใจได้เพียง ๑๐,๐๐๐ บาท บางคนไว้ใจได้เพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท
เกินกว่านี้เมื่อไรมีช่องทางก็โกงทันที อย่างข้าราชการบางคน
เงินหมื่นไม่คอรัปชั่น พอเงินแสนก็เอา” นายเงื่อนพูดฉอดๆ “สมภารบางองค์
เงินแสนก็สร้างวัดไป พอเงินล้านก็เกิดเรื่อง
อย่างสมภารวัดบางแก้ว ก็สึกไปแล้ว”
“ฉันเชิญคุณเงื่อนมาวันนี้
ก็ไม่ได้คิดจะพูดถึงเรื่องเงินเรื่องทองอะไรหรอก อยากจะหารือเรื่องทั่วๆ ไป ฉันก็จากบ้านนี้ไปเสียนานไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร
อย่างกำนันเชื้อนี่เป็นคนยังไง?” สมภารเปลี่ยนเรื่องพูด
“กำนันเชื้อ
ก็เป็นคนประเภทมือถือสากปากถือศีล”
นายเงื่อนพูดโผง “ดูเผินๆ ก็เป็นคนดี มีหน้ามีตาหรอก แต่เบื้องหลังแย่มาก ท่านเห็นไหม อ้ายคนบ้าๆ บอๆ เล่นกะโหลกกะลาอยู่ที่ลานวัดนั้นน่ะ
ก็ลูกชายกำนันเชื้อ อายุปาเข้าไปตั้ง
๓๕-๓๖ ปีแล้ว ยังเล่นกะโหลกกะลา เล่นดินเล่นทรายเหมือนเด็กอมมือ เขาว่า “ดูต้นไม้ให้ดูผล ดูคนให้ดูลูก”
น่ะเป็นความจริง เวรกรรมของคนมาปรากฏอยู่ที่ลูก
ลูกคนที่คดโกงทุจริตน่ะ มักจะเป็นอย่างนี้แหละ แต่กำนันเชื้อแกก็ไม่รู้ตัว
แกว่ามันเป็นเวรกรรมของลูก ที่จริงมันเวรกรรมตามทันกำนันเชื้อ มีลูกอยู่ ๓ คน คนโตก็ใบ้บ้า ปัญญาอ่อน
คนเล็กก็สูบไอระเหยถูกจับไปติดคุกติดตะรางหลายหนแล้ว
มันล้างผลาญกำนันเชื้ออยู่เรื่อยๆ ทรัพย์สินที่คดโกงเขามาก็ร่อยหรอลงไป”
“กำนันเชื้อ
ทุจริตคดโกงยังไง?” สมภารสว่างสนใจอยากรู้
“ก็พุทโธ่ ท่านมหา ไร่นากำนันเชื้อมีตั้ง ๔-๕ ร้อยไร่ ได้มาจากไหน
โกงเขามาทั้งนั้น รังวัดออกโฉนดเอาเป็นของตัวบ้าง
ใครจะออกโฉนดตราจอง น.ส. ๓ ไปหากำนันเชื้อให้ช่วย กำนันก็ขอส่วนแบ่ง ๑๐๐ ไร่เอาเสีย ๕๐ ไร่ ๓๐ ไร่เอาเสีย ๑๐ ไร่ แกทำมาอย่างนี้เป็นสิบๆ ปี
แกต้องซื้อหาที่ไหนเล่า เวลานี้มีไร่นาให้เช่าทั้งตำบล
ต่างตำบลก็ยังมี ค่าเช่านาคิดครึ่งต่อครึ่ง ได้มา ๒ เกวียน เอาเสียเกวียนหนึ่ง
เอามาออกดอกให้กู้อีก ใครเอานามาจำนำจำนองไว้ หลุดขาดเป็นของแกมากต่อมาก นี่แหละครับนายทุนขูดรีดระดับตำบลล่ะครับ
ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เข้าวัดเข้าวา แต่เบื้องหลังแกทุจริตคดโกงเขามาทั้งนั้น”
นายเงื่อนพูดอย่างเคร่งเครียด
นี่ถ้าหากว่าผมมีอำนาจได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ผมจะออกกฎหมายริบไร่นาเป็นของรัฐบาลให้หมดสิ้น ผมจะเอามาให้ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนเช่าทำกิน เช่ารัฐบาลทุกคน
ผมจะไม่ยอมให้ใครเป็นเจ้าของที่ดินตั้งร้อยไร่
พันไร่”
สมภารหนุ่ม พยักหน้า
เป็นทำนองเห็นด้วย
“เรื่องหนี้สินชาวไร่ชาวนาอีกอย่าง
ถ้าผมเป็นใหญ่ผมจะออกกฎหมายปลดเปลื้องหนี้สินชาวนาชาวไร่ทั้งหมด”
“ทำยังไง?”
“ก็ออกกฎหมายยุติหนี้สินทั้งหมดไว้เพียงนั้น
ไม่ให้ต้องเสียดอกเบี้ยต่อไปอีก เงินต้นทั้งหมดรัฐบาลรับโอนมาเป็นเจ้าหนี้ของชาวไร่ชาวนา
เป็นลูกหนี้รัฐบาลโดยตรง ผ่อนส่งเงินต้นคืนให้รัฐบาลเป็นรายปีเรื่อยไป รัฐบาลก็เอาเงินนี้ชำระคืนให้นายทุนเจ้าหนี้เดิมจนหมด”
“แล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมา?”
“รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเลย เพียงแต่โอนจำนวนเงินหนี้สินมาเป็นของรัฐบาล
รัฐบาลเป็นเจ้าหนี้แทน คอยเก็บเงินผ่อนชำระเงินส่งคืนเจ้าหนี้เดิมต่อไปเท่านั้น”
“ดอกไม่มี?”
“ไม่มีดอก
เพราะต้องการช่วยชาวนาให้พ้นจากทาสนายทุน รัฐบาลต้องทำตัวเหมือนพ่อแม่ของประชาชน
ให้ยืมแก่ลูกๆ พ่อแม่ต้องไม่เอาดอกกับลูก”
“เข้าทีเหมือนกัน”
พระมหาสว่างเห็นด้วย
“โรงสี
ต้องโอนมาเป็นของรัฐบาลทั้งหมด รัฐบาลทำโรงสีเอง
ซื้อข้าว ขายข้าวสารเอง เลิกเก็บพรีเมี่ยมข้าว ไม่กดราคาข้าวให้ชาวนายากจน”
“ดี”
“โรงเลื่อย
ต้องโอนเป็นของรัฐ รัฐบาลทำไม้เอง
ค้าไม้เอง การตัดไม้ทำลายป่าจะได้หมดสิ้นไป”
“เข้าท่า”
“ธนาคารพาณิชย์
ต้องโอนเป็นของรัฐบาลหมด ให้เป็นสาขาธนาคารชาติ เพราะพวกนี้ออกเงินให้พ่อค้ากู้
เอาไปกักตุนสินค้า ทำให้สินค้าราคาแพง รัฐบาลจะได้ควบคุมเงินนายทุนได้
จะได้รู้ว่าพ่อค้าข้าราชการคดโกงเงินมาอย่างไร จะได้ป้องกันปราบปรามได้
ป้องกันไม่ให้โอนเงินไปฝากต่างประเทศด้วย”
“เหมาะมาก”
สมภารหนุ่มสนับสนุนต่อไป
“คอรัปชั่น ต้องปราบเด็ดขาด” นายเงื่อน แสดงความคิดเห็นต่อไป
“ปราบยังไงดี?”
“ยิงเป้าหมด
ใครโกงกินยิงเป้าหมด เรื่องคอรัปชั่นนี้ผมเกลียดเข้ากระดูกดำ
ตั้งแต่ผมเป็นครู เป็นตำรวจ เจอแต่เรื่องคอรัปชั่น มีทุกวงการ ทุกกรมกอง ตำรวจ อัยการ ที่ดิน
สรรพาการ มหาดไทย มีทั้งนั้น ตำรวจร้ายแรงที่สุด”
สมภารหนุ่ม
พยักหน้าอย่างสนใจและเห็นด้วย
“ระดับกำนันยังคอรัปชั่น” นายเงื่อน สาธยายต่อไป อย่างมันเขี้ยว “กำนันเชื้อ
เป็นตัวอย่างคอรัปชั่น ใครรังวัดที่ดินก็เรียกเงิน
บางทีงุบงิบการประกาศรับมรดกไว้ไม่ปิดประกาศ
รับเงินจากผู้ที่รับมรดกไม่ให้คนอื่นรู้เรื่องคัดค้าน ใครแจ้งเกิด แจ้งตาย เสียเงิน ๕ บาท ๑๐ บาททุกราย เจ๊กเสียต่างด้าวรับเอาเงินไปเสียให้ก็เอาค่าติดต่อรายละ
๑๐๐ บาท ใครขออนุญาตซื้ออาวุธปืน
เอาค่ารับรองรายละ ๑๐๐ บาท ยิ่งสมัยเงินผันตำบลยิ่งร้าย ปีที่แล้วได้เงินมา
๕๐๐,๐๐๐ บาท พี่ลูกน้องเมียเอามาลงชื่อขุดคลองรายละ ๒๕ บาท จ่ายเพียงวันละ ๑๕ บาท ทำสะพานแห่งหนึ่งบอกว่า ๑๘๐,๐๐๐ บาท
กำนันเหมาน้องเมียจ่ายเพียง ๘๐,๐๐๐ บาท”
สมภารสว่างฟังอย่างสนใจ
“ปลัดปรีชา ก็ตัวร้าย ทางการเปิดให้จดทะเบียนปืนเถื่อน เรียกรายละ ๕๐๐
บาทรวด”
“ปลัดโทใช่ไหม?”
“นั่นแหละครับ นายหัวเถิกๆ
นั่นแหละตะเข้ดีๆ นี่เอง”
“นายอำเภอเป็นไง?”
“นี่ก็ยอดคอรัปชั่น ทำถนนสายหนึ่งยาว ๑๐ กิโลเมตร ได้เงินมา ๕๐๐,๐๐๐
บาท ก็กิโลละ ๕๐,๐๐๐ บาทใช่ไหม พ่อจ้างน้องเมียกำนันกิโลละ ๒๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น
กินเสียกิโลละ ๓๐,๐๐๐ บาท รวม ๓๐๐,๐๐๐ บาท เงินหลวง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ตกถึงมือประชาชนเพียง
๒๐๐,๐๐๐ บาท ถนนอย่างนี้ ๖
เดือนก็เป็นโคลนหมด”
“แหม แย่จริง” พระมหาสว่าง
พูดพลางสั่นศีรษะ “ฉันไม่ค่อยรู้เรื่องกับเขาหรอก พึ่งรู้”
“อ้ายสมุห์บัญชีหน้าเจ๊กๆ
นั่นก็ร้าย เมื่อเร็วๆ
นี้มาเก็บภาษีย้อนหลังเจ๊กเงี้ยบ ปรับภาษีย้อนหลัง ๑๐๐,๐๐๐ บาท พอเจ๊กเงี้ยบไปหา มันเรียก ๔๐,๐๐๐ บาท ให้ส่งหลวง
๔๐,๐๐๐ บาท เจ๊กเงี้ยบได้ลดภาษี ๒๐,๐๐๐
บาทก็จริง แต่เงินเข้าหลวง ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น มันเอาเสีย ๔๐,๐๐๐ บาท” นายเงื่อนพูด “นี่เฉพาะรายเดียวนะครับ
ยังมีอีกมาก”
“แหมกินจริง”
พระมหาสว่าทำปากเบ้
“ตัวแสบที่สุด ร้ายที่สุด
คือ สารวัตรใหญ่ พันตำรวจตรีจินดา อ้ายตัวนี้ร้ายมาก
กินเจ็บปวดที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้
นายเหมือนนั่งขับเรือหางยาว ไปถูกเรือหางยาวด้วยกันชนตาแตกทั้งสองข้าง เรื่องถึงโรงพัก สารวัตรใหญ่เรียก ๒๐,๐๐๐ บาท
จากนายเช้าคนขับเรือชน นายเช้าให้ ๑๘,๐๐๐
บาท สารวัตรให้นายเหมือน ๔,๐๐๐ บาท ตาบอดสองข้าง ให้ ๔,๐๐๐ บาท ตัวเองเอาเสีย
๑๔,๐๐๐ บาท มันบอกนายเหมือนว่ามันเรียกค่าทำขวัญให้
๘,๐๐๐ บาท มันขอไว้ครึ่งหนึ่ง เพราะถ้าไม่ยอมก็ไม่ได้เลย นายเหมือนเป็นคนตาบอดแล้วก็ต้องยอม แต่อีก ๑๐,๐๐๐ บาท มันว่ามันเรียกพิเศษค่าทำคดี เห็นไหมมันกินแม้กระทั่งค่าทำขวัญตาบอด” นายเงื่อนพูดอย่างเคียดแค้น
“อ้ายสารวัตรคนนี้กินสะบัดที่สุด ซ่องกะหรี่ตั้งอยู่ข้างๆ โรงพัก
ต้องส่งมันเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท ตกวันละ ๒๐๐ บาท อ้ายเจ้าของซ่องมันบอกผม หวยเถื่อนออกกันอย่างเปิดเผย
เก็บโพยกันอย่างเปิดเผย จ่ายเงินกันอย่างเปิดเผย นี่ก็ต้องส่งมันรายละ ๑๐ วัน
งวดละ ๑๐,๐๐๐ บาท เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท นี่กินกันเป็นทีมทั้งจังหวัด
ตั้งแต่สารวัตรถึงผู้กำกับ ที่ร้ายแรงก็คือ
เวลานี้เรือหางยาว ถูกจี้ถูกปล้น เอาเครื่องยนต์ไปขาย ไม่ให้มันก็ยิงตกน้ำตาย อ้ายคนร้ายมันเป็นพวกตำรวจ
ขายได้แล้วเอาเงินแบ่งให้ตำรวจ เดือดร้อนกันมากเวลานี้”
“ฉันฟังคุณเล่าแล้วก็เพลียใจ”
สมภารหนุ่มบ่น “นี่จะทำอย่างไรกันต่อไป บ้านเมืองเป็นอย่างนี้?”
“ก็ต้องช่วยตัวเองครับ ประชาชนต้องรวมกำลังกันต่อสู้
เพื่อปลดแอกตัวเอง”
นายเงื่อนพูดคำนี้
สมภารสว่างฟังแล้วก็แปร่งหู ฟังดูเหมือนขบวนการปลดแอกของคอมมิวนิสต์ พระมหาสว่างเริ่มสงสัยว่านายเงื่อนนี้เป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า?
“ฉันฟังคุณพูดแล้ว
ทำให้ฉันนึกถึงคำพังเพยเก่าแก่บทหนึ่งที่ท่านว่า “คนดีมีน้อย คนถ่อยมีมาก”
“คนชั่วหายาก คนดีทั้งนั้น” คือใครก็แสดงตนว่าเป็นคนดี
จนดูเหมือนว่าคนชั่วไม่มี แต่ถ้ามองดูให้ดีอย่างที่คุณเล่ามา
ก็เหมือนคำที่ว่า คนดีมีน้อยคนถ่อยมีมาก แต่บางทีก็ดูเหมือนว่า
คนชั่วหายาก เพราะใครๆ ก็อ้างตัวเองว่า ล้วนแต่เป็นคนดีทั้งนั้น โลกนี้ดูมันลับแลอยู่พิกล”
“แต่ใจผมรู้สึกว่าคนถ่อยมีมาก
อย่าว่าแต่ฆราวาสเลย
พระสงฆ์องค์เจ้าก็เถอะครับ เวลานี้เจ้าคณะ
สมภารเจ้าวัดหวงยศติดตำแหน่งกันมาก แสวงหาแต่ยศตำแหน่ง
เห่อพัดยศกันถึงขนาดมีการวิ่งเต้นกันแล้ว ถ้าผมเป็นใหญ่
ผมจะสั่งเลิกพัดยศ เลิกสมณศักดิ์ให้หมด”
ตอนนี้พระมหาสว่างนิ่งอึ้ง
รู้สึกนายเงื่อนคนนี้เห็นจะคบยากเสียแล้ว เห็นจะเป็นคนที่เอาชนะได้ยากเสียแล้ว ความคิดของเขานั้น
ดูจะเป็นภัยแก่บ้านเมืองและพระศาสนา
“แต่ฉันสงสัยว่า
คนอย่างกำนันเชื้อนี่ หลวงพ่อทำไมจึงไว้วางใจให้เป็นกรรมการรักษาเงินวัดตั้ง ๔-๕
แสน”
“นี่แหละหลวงพ่อท่านฉลาด
รู้จักใช้คนแหละครับ” นายเงื่อนพูด “ก็กำนันปกครองคนทั้งตำบล ถึงอย่างไรชาวบ้านก็ยกให้
การตั้งกำนันจึงไม่มีใครคัดค้าน ถึงกำนันจะโกงก็ยังมีศึกษาธิการอำเภอ
เป็นข้าราชการอยู่อีกคนหนึ่งเล่า แล้วท่านก็ทราบว่าคนที่ไม่ยอมกำนันก็มีอยู่ในตำบลนี้อีกคนหนึ่ง
คือผม ท่านจึงตั้งผมเป็นกรรมการด้วย”
สนทนากันด้วยอัธยาศัยไมตรีวันนั้น
อยู่จนกระทั่งเวลาเย็น นายเงื่อนจึงลากลับไป ด้วยความรู้สึกว่า
พระมหาสว่างก็เป็นคนที่สนใจกิจการบ้านเมืองและมีอัธยาศัยดี
แต่ก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโลกน้อยนัก แต่พระมหาสว่างกลับมีความรู้สึกว่า
นายเงื่อนคนนี้เป็นคนคบยาก เป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจเลย และน่าจะเป็นภัยแก่ชาติบ้านเมืองและพระพุทธศาสนาด้วย
คนอย่างนี้น่าจะหาทางกำจัดเสีย
ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นภัยแก่บ้านเมืองและพระศาสนาต่อไป
พระมหาสว่าง
ครุ่นคิดถึงคำพูดของนายเงื่อน ในเรื่องต่างๆ ที่พูดจามาทั้งหมด
ดูจะเข้าข่ายความคิดในลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกทิศทุกทา’
จะริบที่ดินเป็นของรัฐ
จะโอนธนาคารเป็นของรัฐ
จะโอนโรงสีเป็นของรัฐ
จะโอนโรงเลื่อยเป็นของรัฐ
จะโอนหนี้สินชาวนามาเป็นของรัฐ
จะเลิกเก็บดอกเบี้ย เงินกู้ของชาวนา
จะปราบคอรัปชั่นด้วยการยิงเป้า
จะเลิกพัดยศ
เลิกสมณศักดิ์ของพระสงฆ์
พระมหาสว่างเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างว่าความคิดนี้
วิธีการอย่างนี้มีอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์
พระมหาสว่างนั่งคิด
นอนคิดถึงพฤติการณ์ของนายเงื่อน ในการประชุมกรรมการวัดทั้ง ๓ ครั้ง ๓
คราวที่แล้วมา ก็คือการบ่อนทำลายวัด ทำลายความสามัคคีของกรรมการวัดดีๆ นี่เอง คนทั้งหลายก็ฟังความเห็นของนายเงื่อนเสียด้วย
พูดก็เก่ง มีถ้อยคำโน้มน้อมใจคนให้คล้อยตาม การพูดอย่างนี้เป็นวิธีการปลุกระดม
ยุยงให้คนไม่เชื่อฟังพระสมภารเจ้าวัด เป็นการทำลายความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน การที่เขาพูดถึงคอรัปชั่นในวงราชการนั้นก็เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ไม่ดีของข้าราชการให้ประชาชนฟัง
เป็นการแยกข้าราชการออกจากประชาชน การที่เขาพูดถึงนายทุนขูดรีดอย่างกำนัน
ก็เป็นการแบ่งแยกนายทุนกับคนยากจนออกเป็นชนชั้น พระมหาสว่างคิดดูแล้วก็ยิ่งเห็นว่านายเงื่อนมีหัวเอียงซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์เป็นแน่นอน
เมื่อกำนันเชื้อมาที่วัดในวันต่อมา
พระมหาสว่างจึงเรียกเข้าไปคุยสองต่อสองในห้อง เล่าถึงคำพูดของนายเงื่อนให้กำนันฟังว่าความคิดอย่างนี้
เป็นวิธีการของคอมมิวนิสต์
“ท่านมหาจะให้ผมทำยังไงต่อไป?”
กำนันถามขึ้น
“ก็ต้องรายงานให้ทางบ้านเมืองท่านทราบ
จะได้คอยติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของเขา” พระมหาสว่างออกความเห็น
“ถ้าเขากล้าพูดกับฉันอย่างนี้ เขาก็ต้องเที่ยวพูดให้ชาวบ้านฟัง ฉันว่ามันเป็นการปลุกระดมมวลชน
ตามที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์เขาว่า มันจะแบ่งแยกประชาชนออกจากฝ่ายปกครอง”
“โอ๊ย มันเที่ยวพูดทั่วไป
ตามร้านกาแฟ ร้านชำ ร้านตัดผม มันพูดทั้งนั้นแหละ คนชอบฟังมันเสียด้วยนะ
โวหารมันดี ผมก็สงสัยว่าบางทีมันอาจจะคิดการใหญ่ถึงขั้นสมัครผู้แทน
แต่ไม่เคยนึกเฉลียวใจอย่างท่านมหาว่า” กำนันพูด
“ความจริงตั้งแต่มันกลับมาอยู่ที่นี่ ลูกบ้านของผมเคยพูดอะไรเชื่อฟังดี
แต่เวลานี้ดูจะรีๆ ขวางๆ อยู่ ประชุมลูกบ้านทีไร
คนมันก็ไปฟังอ้ายเงื่อนเสีย”
“ฉันว่าควรรายงานให้ทางบ้านเมืองเขารู้ไว้
จะได้คอยติดตามสอดส่อง เป็นการป้องกันไว้ก่อน” พระมหาสว่างให้ความเห็น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น