วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๕ ...พายเรือวนในอ่าง


โพธิขวาง

๕. พายเรือวนในอ่าง


บ่าย ๔ โมงวันนั้น มีผู้คนมามากหน้าหลายตาที่วัดโพธิขวาง  คนเหล่านั้นมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง วัยหนุ่มสาว และวัยสูงอายุ ต่างพากันทยอยขึ้นไปบนศาลาวัด  คนพวกนี้ก็คือคณะกรรมการพัฒนาวัดที่ท่านเจ้าอาวาสแต่งตั้งขึ้น  ท่านพระมหาสว่าง โอภาโส หรือโอภาโสภิกขุ นั่งรออยู่บนศาลาก่อนแล้ว  ให้พระภิกษุหนุ่มเอาสมุดมาให้คนเหล่านั้นลงชื่อ  เมื่อนับจำนวนคนที่ลงชื่อแล้วได้ ๘๗ คน  พระมหาสว่างจึงได้กระทำพิธีเปิดประชุมเป็นทางการ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์แล้วก็กล่าวเปิดประชุม
ใจความโดยย่อที่ท่านประธานพูดก็คือ  เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ท่านพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ ได้เปิดกรุพระเจดีย์หน้าโบสถ์ พบพระสมเด็จในกรุจำนวน ๓๙๗ องค์  เป็นพระสมเด็จแท้ มีค่าองค์ละไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท  นักเลงพระบางคนก็หาเช่ากันในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็มี รวมแล้วมีราคาประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ถึง ๔ ล้านบาท  เป็นสมบัติของวัดนี้  แต่ท่านพระครูได้ยินยอมมอบพระให้แก่ทางศึกษาธิการอำเภอไปทั้งหมด ว่าจะเอาไว้จำหน่าย เอาเงินมาสร้างโบสถ์ใหม่  หรืออาจจะต้องมอบให้แก่ทางอำเภอไปเป็นของหลวง  แต่ท่านมหาสว่างเห็นว่าพระสมเด็จจำนวนนี้มีค่ามหาศาล เป็นสมบัติของวัด วัดจะต้องเก็บรักษาเอาไว้เอง  การที่ยินยอมมอบให้ทางอำเภอไปจึงไม่ถูกต้อง  เพราะวัดเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ผู้อื่นไม่มีอำนาจมอบสมบัติของวัดไป ทางอำเภอก็ไม่มีสิทธิจะมาริบเอาทรัพย์ของวัดไป  อีกประการหนึ่ง วัดก็กำลังจะทำการพัฒนาหลายอย่าง จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก  จึงได้เรียกประชุมกรรมการพัฒนาวัดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป
“ต้องเอาคืนมา”
“ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง”
“ยักยอกทรัพย์ของวัด”
“ต้องลงชื่อกันยื่นคำร้อง”
“ต้องฟ้องศาล”
ต่างคนต่างเสนอความคิดเห็นกันฟังไม่ได้ศัพท์
ตอนนี้ นายเงื่อน สุขสันโดษ ได้ยกมือขึ้นขอพูด แต่ไม่ได้รับความสนใจ  จึงลุกขึ้นพูดด้วยเสียงอันดัง จนคนอื่นเงียบเสียงลง...
“ท่านประธานครับ วันนี้ผมไม่ได้รับเชิญให้มาประชุมหรอก ผมมาของผมเอง เพราะผมก็เป็นกรรมการพัฒนาวัด ยังไม่ได้ถูกถอด”
เสียงคนหัวเราะกัน
“ตามที่ท่านประธานพูดให้ที่ประชุมฟังนั้นยังคลาดเคลื่อน  ข้อเท็จจริง ความจริงผมรู้เห็นโดยตลอด รวมทั้งท่านกำนันเชื้อ ที่นั่งอยู่นี่ด้วย  ผมจะขอพูดให้ฟัง”
“เอา พูดไป พูดให้จริงนะ” เสียงคนพูดสอดขึ้นมาจากที่ประชุม
“ที่ว่าหลวงพ่อเพ็งเปิดกรุนั้นเป็นข้อเท็จ ข้อจริงก็คือท่านมหาสว่างขึ้นไปเปิดกรุเอง ต่อหน้าผม  ท่านกำนันเชื้อที่นั่งอยู่ที่นี่ก็รู้เห็นเป็นพยานได้”
คนทั้งหมดเงียบกริบ
“ที่ว่าหลวงพ่อเพ็งยินยอมมอบพระให้ศึกษาธิการอำเภอไป ก็คลาดเคลื่อน   ความจริงศึกษาธิการอำเภอบอกว่าพระที่มีอยู่อายุ ๑๐๐ ปี เป็นโบราณวัตถุ  ตามกฎหมายต้องตกเป็นทรัพย์แผ่นดิน ใครจะเก็บรักษาไว้มีความผิด  จึงเอาไปฝากตู้เซฟธนาคารไว้ มีกรรมการรู้เห็น ๓ คน  คือ ศึกษาธิการอำเภอ กำนันเชื้อ แล้วก็ผม ถือกุญแจคนละดอก ประทับตราตีครั่งเรียบร้อย  การเปิดเซฟต้องไปพร้อมกัน ๓ คน จึงจะไขได้  มีบันทึก ๓ ฉบับตรงกัน ยึดถือไว้คนละฉบับ  ศึกษาธิการอำเภอ ๑ ฉบับ กำนันเชื้อ ๑ ฉบับ ผม ๑ ฉบับ เดี๋ยวผมจะอ่านให้ฟัง  ผมเห็นว่าการเก็บรักษาอย่างนี้ปลอดภัยที่สุด ดีกว่าเก็บรักษาไว้เองที่วัดหลายเท่า ไม่มีใครจะมายักยอกเปลี่ยนแปลงได้”
ที่ประชุมเงียบ ไม่มีผู้โต้แย้ง
“ทำไมจึงไม่เก็บฝากไว้ในคลังของทางราชการ เหตุใดจึงฝากธนาคารเอกชน” ท่านมหาสว่างแย้ง
“ท่านศึกษาธิการอำเภอบอกว่า การฝากคลังของทางราชการ อาจจะตกเป็นของทางราชการทั้งหมด กรมศิลปากรอาจเอาไปเก็บรักษาหรือจำหน่ายเป็นของหลวง  ที่ทำเช่นนี้เป็นการทำกึ่งราชการเท่านั้น  ถ้าตกลงปรองดองกันได้ ไม่มีเรื่องอื้อฉาว ก็จะได้นำเอามาจำหน่ายให้ผู้ที่เขาศรัทธา เอาเงินมาเป็นทุนสร้างโบสถ์ต่อไปได้” นายเงื่อนอธิบาย
“ผมว่า เราอย่าทำอะไรเอะอะไปดีกว่า เดี๋ยววัดจะไม่ได้อะไรเลย เสียประโยชน์เปล่าๆ  เฉยๆ ไว้แล้วค่อยพูดจาตกลงกับท่านศึกษาธิการอำเภอ เอาพระออกมาให้เช่า เอาเงินไว้เป็นทุนสร้างโบสถ์ดีกว่า”
“ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น” นายเงื่อนทำหน้าที่ประธานเสียเอง
มีผู้ยกมือ ๕๑ คน ไม่ยกมือ ๓๖ คน
“แล้วใครจะเป็นผู้ตีราคา?” พระมหาสว่างถาม
“ก็กรรมการเก็บรักษา ๓ คน” นายเงื่อนตอบ
“ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ทางวัดต้องเป็นผู้ตีราคา” พระมหาสว่างค้าน
“ตีราคาก็ตีไปซีครับ กรรมการเขาก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่  แต่ตีราคาสูงเกินไป คนยากคนจนอยากได้ ก็จะไม่มีปัญญาเช่า  กรรมการจะต้องชี้ขาด ถือราคาปานกลาง” นายเงื่อนว่า
“ผมว่าที่ประชุมกรรมการวัดเรานี่แหละ ตีราคาเสนอไปให้ท่านศึกษาธิการอำเภอ ท่านจะได้นัดกรรมการเก็บรักษาพิจารณาอีกที” กำนันเชื้อพูดเป็นหลักฐาน
“ผมว่า ๕๐๐”
“ผมว่า ๑,๐๐๐”
“ผมว่า ๒,๐๐๐”
“ฉันว่า ๓,๐๐๐”
ที่ประชุมพูดกันเอะอะ
“อาตมาว่า ๕,๐๐๐ บาท กำลังสวย  เพราะทางวัดต้องการใช้เงินมาก” พระมหาสว่างว่า “สมัยนี้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ไม่มากอะไร  พระสมเด็จเขาเช่ากันองค์ละ ๑๐,๐๐๐ บาท ๕๐,๐๐๐ บาทก็มี”
“อย่าลืมว่าตั้งราคาสูงเกินไป ก็จะตกไปอยู่ในมือพ่อค้า คนมั่งมี นักเล่นพระค้าพระเครื่องขายกินกัน  คนยากจนจะไม่มีปัญญาเช่า  ทางวัดไม่ควรเห็นแก่เงินจนเกินไป ทางวัดอย่าไปทำตัวเป็นพ่อค้าหน้าเลือด” นายเงื่อนพูด “ผมว่าองค์ละ ๕๐๐ บาทก็พอแล้ว”
“ผมว่า ๑,๐๐๐ บาท กำลังดี” กำนันว่า
“เอา ใครเห็นว่าองค์ละ ๕๐๐ บาท?”
มีคนยกมือ ๒๕ คน
“ใครเห็นว่า ๑,๐๐๐ บาท?”
มีคนยกมือ ๓๖ คน
“ใครว่า ๒,๐๐๐ บาท?”
มีคนยกมือ ๖ คน
“ใครว่า ๓,๐๐๐ บาท?”
มีคนยกมือ ๒ คน
“ใครว่า ๕,๐๐๐ บาท?”
ไม่มีคนยกมือเลย
คนไม่ยกมือเลยสักอย่าง มีหลายคน
“เป็นอันว่า ๑,๐๐๐ บาท ชนะ” กำนันเชื้อประกาศ
“๓๙๗ องค์ องค์ละ ๑,๐๐๐ บาท  จะได้เงินทั้งหมด ๓๙๗,๐๐๐ บาท” นายเงื่อนประกาศต่อ
“เงินจำนวนนี้ ใครจะเก็บรักษาไว้ที่ไหน?” พระมหาสว่างเป็นห่วง
“ก็ฝากไว้ในธนาคาร ในนามของคณะกรรมการ” นายเงื่อนตอบ
“กรรมการมีใครบ้าง?”
“ก็กรรมการ ๓ นายที่เก็บรักษาพระไว้”
“ทำไมจึงไม่ให้เจ้าอาวาสเป็นกรรมการด้วย?” พระมหาสว่างตั้งปัญหา
“ท่านเป็นพระเป็นสงฆ์ อย่ามายุ่งเกี่ยวกับเงินทองให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลยครับ  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฆราวาสเขาดีกว่า” นายเงื่อนพูด
“ถ้ากรรมการคนหนึ่งคนใดล้มตายไป?”
“กรรมการที่เหลืออยู่เขาก็รับผิดชอบ แต่งตั้งขึ้นใหม่ให้ครบคณะ ๓ คน  ท่านไม่ต้องห่วง”
“ถ้ากรรมการรวมหัวกันคดโกง?”
“ตะรางครับ ไม่มีใครอยากติดคุกหรอก”
ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในที่ประชุมพอใจ ไม่มีผู้ใดพูดโต้แย้งอะไร
แต่สำหรับพระมหาสว่าง เจ้าอาวาสหนุ่ม  ต้องกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง จึงมีสีหน้าคร่ำเครียดหม่นหมอง
รุ่งขึ้นก็มีผู้คนไปติดต่อขอเช่าพระสมเด็จกันมากมาย  คณะกรรมการ ๓ นาย จึงไปเบิกพระสมเด็จมา ให้เช่าไปองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท ออกใบรับเงินให้เรียบร้อยทุกราย  ทำบัญชีรายชื่อผู้เช่าพระไว้เป็นหลักฐาน มีรายชื่อผู้เช่าทุกคน  ส่งเงินฝากธนาคารโดยเรียบร้อย  ตอนบ่ายมีคนแห่กันมาขอเช่าอีกมาก มีทั้งข้าราชการ พ่อค้า คหบดี  ถึงขนาดเข้าคิวเช่าซื้อกันทีเดียว จนต้องออกกฎว่าคนหนึ่งจะเช่าได้เพียง ๑ องค์เท่านั้น  เพราะปรากฏว่าบางคนเตรียมเงินมาเช่าถึง ๑๐ องค์ก็มี  ที่ขอเช่าคนละ ๒ องค์ ๓ องค์ก็มาก  กำนันเชื้อ กับบุหรง ก็ต้องรีบเอาเงินมาวางประจำเช่าไว้คนละ ๑ องค์  ส่วนนายเงื่อนนั้นเฉยอยู่ กำนันเชื้อต้องบอกว่ารีบเช่าไว้นะ เดี๋ยวจะหมด  นายเงื่อนว่า ไม่ค่อยสนใจไม่เคยแขวนพระเครื่อง  บุหรงว่า เอาไว้เป็นที่ระลึกเถิด ในฐานะที่พวกเราเป็นกรรมการ นั่นแหละนายเงื่อนจึงขอเช่าไว้องค์หนึ่ง  บ่าย ๓ โมงวันนั้นเอง พระสมเด็จ ๓๙๗ องค์ก็หมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเลยแม้แต่องค์เดียว  เพราะทุกคนทราบดีว่าพระสมเด็จของกรุเจดีย์นี้ นักเลงพระเครื่องเรียกว่าสมเด็จทรงนิยม มีราคาสูงถึง ๑๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาททีเดียว  แม้กระทั่งขวดโหลก็มีนักซื้อของเก่ามาขอซื้อไปในราคา ๕๐๐ บาท  บางคนมีศรัทธามากมอบเงินไว้ให้ ๑,๕๐๐ บาท ถึง ๒,๐๐๐ บาท ก็มีหลายคน  รวมทั้งหมดจึงได้เงินถึง ๔๕๐,๐๐๐ บาทถ้วน
ส่วนพระมหาสว่าง เจ้าอาวาสวัดโพธิขวางนั้น ได้ส่งคนมาสืบข่าวอยู่ตลอดวัน  เมื่อทราบแน่นอนว่าได้เงินค่าบูชาพระเครื่องถึง ๔๕๐,๐๐๐ บาท ก็ดำเนินการทันที  เขียนหนังสือยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวโทษว่าศึกษาธิการอำเภอร่วมมือกับกำนัน เอาพระสมเด็จมาจำหน่ายได้เงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท ยังไม่ได้ส่งมอบเงินให้ทางวัด ขอให้จัดการส่งมอบเงินให้แก่ทางวัดด้วย  เคราะห์ดีที่บุหรงเป็นคนรอบคอบ ได้เรียนหารือต่อเจ้าเมืองและนายอำเภอไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งศึกษาธิการจังหวัดด้วย  ผู้บังคับบัญชาทั้ง ๓ คนเป็นคนนิยมพระเครื่อง จึงให้เงินมาเช่าพระเครื่องไว้คนละองค์แล้ว จึงไม่เกิดเรื่องราวอะไร  จึงได้ชี้แจงเจ้าอาวาสไปว่า เงินจำนวนนี้ฝากธนาคารไว้ถูกต้องแล้ว เตรียมไว้เป็นทุนสร้างโบสถ์ตามความประสงค์ของท่านพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์  เมื่อสร้างโบสถ์ ทางวัดก็มาขอเบิกเงินไปใช้จ่ายได้ โดยให้มีหลักฐานในการใช้จ่ายให้ถูกต้อง
แต่พระมหาสว่างไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ได้เรียกประชุมกรรมการพัฒนาวัดอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๓
ที่ประชุมวันนั้น มีผู้มาประชุมเพียง ๕๒ คนเท่านั้น
พระมหาสว่าง เจ้าอาวาสหนุ่ม ได้ชี้แจงในที่ประชุมใจความสำคัญว่า  บัดนี้คณะกรรมการเก็บรักษาพระสมเด็จได้จำหน่ายพระหมดแล้ว ได้เงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท  ฝากธนาคารพาณิชย์ไว้ จะเอาไว้เป็นทุนในการสร้างโบสถ์  แต่ว่าค่าสร้างโบสถ์นั้นก็ต้องใช้เงินนับล้าน ยังเป็นเรื่องห่างไกล ต้องคิดกันอีกหลายปี  ขณะนี้ก็ยังไม่อยู่ในความดำริที่จะสร้างโบสถ์  ขณะนี้ทางวัดมีความจำเป็นรีบด่วนอยู่ คือกุฏิของวัดนี้ก็เป็นเรือนไม้แบบโบราณ ชำรุดทรุดโทรมทุกหลัง  วัดเรายังมีสภาพเป็นวัดโบราณบ้านนอกอยู่ ยังไม่มีกุฏิสมัยใหม่ให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาเลย  ฉันจึงคิดจะสร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่สักหลังหนึ่ง เป็นตึกสองชั้น ชั้นล่างเป็นที่เจ้าอาวาสอยู่ เป็นที่รับแขกด้วย ชั้นบนเป็นที่รับรองแขกพระผู้ใหญ่มาพัก จะได้สะอาดโอ่โถง พระผู้ใหญ่มาจะได้มีที่พักสบาย ทางวัดเราก็จะได้เป็นที่รู้จักของพระผู้ใหญ่ไปมา เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวัดเรา  ค่าก่อสร้างกะประมาณว่าจะต้องใช้เงินสัก ๕๐๐,๐๐๐ บาท  เวลานี้ทางวัดก็ไม่มีเงิน จะเรี่ยไรบอกบุญชาวบ้านก็ไม่สมควร  ฉันเห็นว่าควรจะเบิกเงินที่ฝากธนาคารไว้ ๔๕๐,๐๐๐ บาทเอามาใช้จ่าย จะเห็นเป็นอย่างไรก็ขอให้เห็นความจำเป็นเฉพาะหน้าของทางวัดด้วย
ที่ประชุมนั้นมีกำนันเชื้อนั่งอยู่ด้วย รวมทั้งนายเงื่อนซึ่งไม่ได้รับเชิญ แต่รู้ข่าวก็พาพรรคพวกมาหลายคน
“ผมเองก็เห็นว่ามีความจำเป็น เพราะเห็นอยู่แล้วว่า วัดเรามีกุฏิโบราณ ไม่ทันสมัยเลย” กำนันเชื้อสนับสนุน
“แต่ผมเห็นว่ายังไม่จำเป็น” นายเงื่อนลุกขึ้นยืนคัดค้านทันควัน  เมื่อที่ประชุมนั่งเงียบ นายเงื่อนก็กล่าวต่อไปอย่างฉะฉาน “วัดเราเป็นวัดบ้านนอก จะมีพระผู้ใหญ่ที่ไหนไปมา จนถึงต้องสร้างตึกไว้รับรอง ก็คงเป็นตึกเจ้าอาวาสเท่านั้น  กุฏิเจ้าอาวาสก็เป็นเรือนฝากระดานยอดแหลมกว้างถึง ๕ ห้อง พอจะปรับปรุงให้สะอาดโอ่โถงได้ดี พอสมกับฐานะของวัด ของสภาพชาวบ้าน  ขณะนี้ชาวบ้านตำบลเราก็ไม่ใช่จะมั่งมีศรีสุข เรือนฝากระดานยอดแหลมมีนับหลังคาได้  ถึงบ้านเกิดของท่านเองก็เป็นเรือนฝาไม้หลังคามุงจาก ถึงไม่ยากจนก็ไม่ใช่จะมั่งมีศรีสุข  ถ้าท่านมหาสว่างเป็นลูกคนมี ก็คงจะส่งเสียเล่าเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว นี่เพราะความจนจึงเรียนจบแค่ ป.๔ แล้วเอาดีทางพระจนได้มหาเปรียญ กลับมาเป็นสมภารวัดบ้านเกิดของตัวเอง ทำไมจะต้องมาคิดสร้างตึกอยู่ให้มันโอ่โถงเกินกว่าสภาพของชาวบ้าน  ชาวบ้านยังอยู่กระท่อมขัดแตะ มุงจากอยู่ทั่วไป วัดจะมาสร้างตึกอยู่ให้โอ่โถงเกินฐานะชาวบ้าน มันจะไม่เหมาะ  จะกลายเป็นว่าพระอยู่ตึก ชาวบ้านอยู่กระท่อม มันจะได้หน้าตาโอ่อ่าอย่างไร  เศรษฐกิจของชาวบ้านยังยากจนอยู่เช่นนี้ จะไปเอาอย่างวัดหลวงในกรุงเทพฯ ได้ยังไง  วัดราษฎร์ก็เป็นวัดของประชาชน เพราะประชาชนออกเงินบำรุงวัด จะมาสร้างวัดราษฎร์ให้มันเกินฐานะของชาวบ้าน ผมไม่เห็นด้วย  ถ้าชาวบ้านร่ำรวย คิดจะสร้างตึกให้สมภารอยู่ ผมก็ไม่ว่า  แต่ถ้าชาวบ้านยังอยู่กระท่อมมุงจาก สมภารจะอยู่ตึก ผมว่ามันไม่เหมาะสม  ชาวบ้านเขาทำกินกันตัวโก่ง พระนั่งนอนอยู่เฉยๆ  ชาวบ้านอยู่กระท่อม สมภารอยู่ตึก มันดูไม่คู่ควรกัน  ผมขอคัดค้านเต็มที่”
“พี่เงื่อนพูดถูก ผมไม่เห็นด้วยเหมือนกัน” นายผันส่งเสริมเป็นลูกคู่
“ผมก็ไม่เห็นด้วย” นายเขียนสนับสนุนลูกพี่
“สร้างตึกกุฏิเจ้าอาวาส ผมไม่เห็นด้วย ผมขอคัดค้าน  ถ้าสร้างโบสถ์ผมเห็นด้วย” นายชิดสนับสนุน
สมภารหนุ่มนั่งหน้าเสีย
“กำนันเชื้อที่สนับสนุนให้สร้างตึกเจ้าอาวาสน่ะ พูดออกมาก็เห็นลิ้นไก่ ก็น้องเมียเป็นช่างรับเหมาอยู่นี่” นายฉุย พูดตรงเผง
“ถ้าไม่ให้สร้างตึก ทางวัดก็มีโครงการอยู่อีกโครงการหนึ่ง  จะสร้างเขื่อนหน้าวัด เป็นเขื่อนคอนกรีตกันตลิ่งพัง ยาว ๒๕๐ เมตร เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท” สมภารหนุ่มเสนอต่อไป
“ผมขอคัดค้านอีกหนหนึ่ง” นายเงื่อนลุกขึ้นพูดอีก “เขื่อนหน้าวัดนี้ก็ไม่มีความจำเป็นอะไร  วัดเราเป็นหัวแหลม ดินกำลังงอกออกไปทุกทีๆ”
“จะสร้างให้สวยงาม เปิดหน้าวัดให้มีสง่า คนผ่านไปมามองเห็นวัดของเรา  วัดของเราจะได้เปิดเผย เหมือนวัดอื่นๆ ในแม่น้ำนี้ เขาทำเขื่อนกันโดยมาก” พระมหาสว่างชี้แจง
“วัดที่ท่านมหาว่านั้นเขาหันหน้าลงแม่น้ำ แต่วัดของเรานี้ต่อไปจะหันหน้ากลับไปทางหลังวัด  หลวงพ่อท่านพูดว่าภายใน ๓ ปี จะมีถนนตัดผ่านหลังวัด วัดเราจะต้องหันหน้าออกถนนหลังวัด ไม่เชื่อไปถามหลวงพ่อดูก็ได้”
“ใช่ หลวงพ่อท่านพูดกับใครๆ ไว้หลายคน ว่าวัดเราจะหันหน้าขึ้นเหนือ จะมีถนนตัดผ่านมา มีรถราแล่นผ่าน” นายเขียนลุกขึ้นสนับสนุน
“จะรู้ล่วงหน้าได้ยังไง ใครรับรอง” พระมหาสว่างพูดด้วยความโมโห “พูดอวดอุตริมนุสธรรม ปาราชิกเชียวนะ!
“ท่านมหาว่าหลวงพ่อปาราชิกน่ะ ระวังจะเจ็บตัวก็แล้วกัน  ไม่รู้จักหลวงพ่อเพ็ง”
“ถึงอย่างไรก็ต้องคอยดู ถ้าหลวงพ่อไม่รู้จริงท่านไม่พูดหรอก” นายเขียนลุกขึ้นพูดขึงขังอย่างมั่นใจ
“ถึงอย่างไรก็เบิกเอามาใช้อย่างอื่นไม่ได้ เพราะกรรมการฝากไว้ในนามของทุนสร้างโบสถ์  ต้องเอามาสร้างโบสถ์ เอามาทำอย่างอื่นไม่ได้” นายเงื่อนยืนยัน
ดูเหมือนจะหมดปัญหาพูดกันต่อไป ท่านมหาสว่างลุกจากเก้าอี้ลงศาลาไปโดยไม่บอกปิดประชุม  คนอื่นๆ ลุกขึ้น ทยอยกันลงจากศาลากลับบ้าน

ความคิดของพระมหาสว่าง โอภาโส เจ้าอาวาสหนุ่ม ที่จะพัฒนาวัด  จึงเหมือนดังพายเรืออยู่ในอ่าง ไม่มีทางออกได้เลย ต้องพ่ายแพ้แก่อุปสรรคขวากหนามทุกย่างก้าวเดิน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น