วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๑...ระลึกชาติ




โพธิขวาง 

 ๑. ระลึกชาติ

วัดโพธิขวาง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ชื่อแม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำตอนนั้นไหลวกวนคดคุ้งอ้อมมาแต่ทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ผ่านหน้าวัดโพธิขวาง ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือ  หน้าวัดมีศาลาท่าน้ำ เป็นที่นั่งชมแม่น้ำไหลและเรือแพที่ผ่านไปมา  มีถนนอิฐจากศาลาท่าน้ำเข้าไปยังกุฏิสงฆ์ สองข้างทางถนนอิฐปลูกพุ่มต้นเข็มเป็นระยะ  ขวามือเป็นโบสถ์ไม้มุงกระเบื้องหลังย่อมๆ ซ้ายมือมีศาลาการเปรียญตั้งอยู่แนวเดียวกับโบสถ์  ลึกเข้าไปสองฝั่งถนนมีลานวัดถมด้วยทราย เป็นที่โล่งเตียนไม่มีหญ้า ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ร่มรื่นดี มีทั้งต้นยาง ต้นหูกวาง ต้นพิกุลและต้นตะเคียน บรรยากาศร่มรื่นสงบสงัด สมเป็นวัดที่บำเพ็ญสมณธรรมของสมณบุตรพุทธวงศ์  กุฏิสงฆ์เป็นเรือนฝากระดานยอดแหลมปลูกไว้เป็นหมู่สองแถว หันหน้าเข้าหากัน มีระเบียงหันเข้าด้านใน มีชานแล่นติดต่อถึงกันตลอด ตรงกลางเป็นหอฉันภัตตาหาร  ด้านตะวันตกเป็นเรือนทรงไทย ฝากระดานยอดแหลมหลังใหญ่ห้าห้อง ปลูกสกัดทำเป็นหอสวดมนต์ ทางด้านทิศตะวันออกเป็นเรือนไทยห้าห้องปลูกสกัดไว้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส  ก็เป็นแบบวัดไทยทั่วไปในภาคกลางนี้
เจ้าอาวาสเป็นพระภิกษุวัยชรา อายุอยู่ในปูน ๘๐ เรียกกันว่าหลวงพ่อเพ็ง มีสมณศักดิ์เป็นพระครูญาณวิสุทธิ์ ชั้นสัญญาบัตร  นับถือกันว่าท่านเป็นพระเคร่งวินัย มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ได้ญาณสมาบัติ เชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา วาจาสิทธิ์พูดอะไรดีหรือร้ายก็จะเป็นเช่นนั้น  ข้อสำคัญก็คือ ลือกันว่าท่านระลึกชาติได้  ท่านเป็นชาวเขมรเกิดที่ประเทศกัมพูชา ไม่ใช่คนไทยทางภาคนี้ แต่ท่านเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่หนุ่ม ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้หลายสิบปีแล้ว
บุหรง สุนทรบุรี เพิ่งย้ายมาเป็นศึกษาธิการเมืองนี้  ได้ยินกิตติศัพท์จึงได้เดินทางมานมัสการท่านในวันนี้อย่างเงียบๆ เพียงผู้เดียว หวังจะไม่ให้เอิกเกริกเป็นที่รบกวนท่าน  บุหรง สุนทรบุรี เคยเป็นเด็กวัดมาก่อน รู้ขนบธรรมเนียมวัดดี จึงได้จัดหาดอกไม้ธูปเทียนมากราบเคารพท่านด้วย  เมื่อบุหรงเข้าไปนั่งอยู่หน้ากุฏิของท่านนั้น แลเห็นท่านนอนจำวัดอยู่องค์เดียวบนเสื่อปูกับพื้น ตะแคงขวาหันหน้าออกมาทางด้านนอก  บุหรงจึงกราบท่านสามครั้งขณะที่ท่านยังหลับอยู่ แล้วก็นั่งรออยู่สัก ๒-๓ นาที ท่านก็ตื่นลืมตาขึ้นมอง แล้วก็ลุกขึ้นนั่ง ห่มจีวรเรียบร้อย
บุหรง จึงคลานเข้าไปคุกเข่าลงตรงหน้าท่าน กราบสามครั้งแล้วก็ถวายธูปเทียนดอกไม้แด่มือท่าน
“มาแต่ไหนละจ๊ะ?”
“กระผมชื่อบุหรง สุนทรบุรี  พึ่งย้ายมาเป็นศึกษาธิการอำเภอนี้ จึงมากราบนมัสการหลวงพ่อ” บุหรงตอบนอบน้อม
“อ้อ เป็นขุนธรรมการหรือจ๊ะ ขอให้เจริญๆ เถอะจ้ะ”
“วัดนี้เป็นวัดเก่าโบราณมากนะหลวงพ่อ” บุหรงพูดเพราะมีความสนใจในวิชาโบราณคดีอยู่บ้าง “เห็นจะสร้างมานานแล้ว”
“ก็ว่ากันว่านะจ๊ะ ว่ากันว่ามาอย่างนี้ ไม่มีหลักฐานอะไร  ว่าสร้างมา ๓๐๐-๔๐๐ ปี สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่น ขุดลงไปพบอิฐโบราณขนาดใหญ่ยาวตั้งศอก มีรูสำหรับร้อยเชือกหาบขนด้วย  อิฐอย่างนี้เห็นว่าจะเป็นของโบราณจริง เขาเรียกว่าอิฐมอญจ้ะ”
“แล้วก็หินแผ่นใหญ่ที่ปูไว้นั้น เป็นของสมัยไหนขอรับหลวงพ่อ?”
“อ๋อ...หินที่ปูข้างโบสถ์ข้างศาลานั้นหรือจ๊ะ  เขาก็ว่าหินอับเฉาเรือสำเภาสมัยโบราณ เป็นหินสำหรับถ่วงท้องเรือให้หนักไม่โคลงเคลงเวลาต้องคลื่นลมในทะเล  สำเภาจีนขนสินค้าเครื่องผ้าผ่อนแพรพรรณมาจากเมืองจีน เป็นของเบาๆ ต้องใช้หินถ่วงท้องเรือให้หนักเข้าไว้  ขากลับขนสินค้าหนักๆ ไป จำพวกงาช้าง ข้าวสาร เขาก็เอาหินออกทิ้งไว้  เขาก็ไปขนมาปูถนนที่วัดนี่ เขาเล่ากันว่าอย่างนั้นแหละจ้ะ”
บุหรง ฟังแล้วก็รู้สึกทึ่งในใจที่หลวงพ่อวัยชราภาพผู้นี้ มีความรู้และความจำดีมาก ไม่เลอะเลือน พูดจาได้คล่องแคล่ว เป็นหลักเป็นฐาน  บุหรงจึงได้ถามถึงเรื่องที่ตนสนใจต่อไป
“ทำไมจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดโพธิขวางไม่ทราบ?”
“ก็ว่ากันว่านะจ๊ะ” ท่านตอบ ย้ำคำว่า...ว่ากันว่า...อยู่เสมอ “ว่ากันว่า เมื่อแรกตั้งวัดนี้ใหม่ๆ นั้น มีพระภิกษุชาวลังกาท่านมาอยู่ก่อน  ท่านเอาต้นโพธิ์มาปลูกไว้ที่หน้าวัดต้นหนึ่ง เป็นหน่อโพธิ์จากต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้  ต่อมาต้นมันใหญ่โต แผ่กิ่งก้านขวางอยู่กลางลานวัดนี้”
ขณะนั้นมีประสกวัดหรือชาวบ้านวัยสูงอายุคนหนึ่งขึ้นมานั่งฟังอยู่ด้วย
“แหม ต้นใหญ่โตมากเชียวครับ” ชายผู้นั้นพูดเสริมขึ้น ทำไม้ทำมือประกอบ “ลำต้นใหญ่หลายอ้อม ยืนเอามือกางเข้า ๓-๔ คนจึงจะรอบ แตกกิ่งก้านสาขาร่มครึ้มมาก”
“เดี๋ยวนี้ยังอยู่ไหมครับ?” บุหรงถามด้วยความสนใจ
“ถูกเขาโค่นลงเสียแล้ว”
“อ้าว...ทำไมล่ะครับ โค่นเสียตั้งแต่เมื่อไร?”
“สมัยสงครามอินโดจีนโน่นแหละครับ ราว พ.ศ. ๘๔-๘๕” ชายผู้นั้นตอบ
“น่าเสียดาย  ทำไมให้เขาโค่นเสียล่ะครับ หลวงพ่อ?” บุหรงถาม “ถ้ายังอยู่จะได้เป็นประวัติ เป็นสัญลักษณ์ของชื่อวัด”
“ก็เห็นว่าร่มครึ้มเกินไป ปิดบังหน้าวัด ชื่อมันกีดขวางความเจริญอะไรนี่แหละ” หลวงพ่อเล่า “สมัยนั้นฉันก็มาเป็นพระลูกวัด ฉันเสียดายจนตอนมันจะล้มลงนั้นฉันต้องหันหน้าหนี ดูไม่ได้  แต่สมภารแจ่มท่านว่ามันกีดขวางทางเดิน ท่านจะพัฒนาวัด ท่านเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดสว่างวัฒนาราม”  อันที่จริงชื่อวัดโพธิขวางนี่น่ะเป็นวัดเก่าแก่มาก จนเขาเอาไปตั้งชื่อบ้าน ชื่อตำบลอยู่สมัยหนึ่ง ชื่อวัดสว่างวัฒนารามก็สูญหายไปตามคนตั้งชื่อ”
“แล้วก็เป็นไงล่ะหลวงพ่อ ล้มตายกันระเนระนาด” ชายผู้นั้นว่า “สมภารแจ่มก็ยังหนุ่มอยู่นะตอนนั้น”
“เรื่องเป็นไงหลวงพ่อ?” บุหรงถามด้วยความสนใจ
“ก็สมภารแจ่มนั่นแหละ คนบงการให้โค่น อยู่ๆ ก็ชักตาตั้งน้ำลายฟูมปาก ตายไปโดยปัจจุบันทันด่วน ดูเหมือนหลังจากโค่นต้นโพธิ์ใหญ่ไม่ทันถึงเดือน” หลวงพ่อเล่า “ต่อมาก็คนโค่นอีก ๔ คน ล้มเจ็บลงพร้อมๆ กัน เป็นไข้บวมทั้งตัว แล้วก็ตายอีกในเวลาใกล้ๆ กัน  หลังจากนั้นวัดนี้ก็ร่วงโรยอับเฉาอยู่หลายปีไม่มีคนอยากมาอยู่ พระเณรน้อย คนไม่ค่อยมาเข้าวัดทำบุญกัน” หลวงพ่อเพ็งเล่า
“อันที่จริง สมภารแจ่มนี้น่ะท่านเป็นมหาเปรียญ ๔ ประโยคนะ” ชายวัยสูงอายุผู้นั้นพูด “พูดก็เก่ง เทศน์ก็เก่ง  แต่ท่านไม่เชื่อเรื่องผีสาง เทวดา นรก สวรรค์ อะไรนี่  ท่านว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ว่าเทวดาคือเจ้าขุนนางชั้นสูง เปรตนรกคือคนที่ติดคุก วิมานคือปราสาทราชวังของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นรกคือคุกนี่เอง  ท่านว่าเรื่องผีเรื่องเทวดาเป็นเรื่องเหลวไหล เรื่องอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์เป็นบุคคลาธิษฐาน เป็นเรื่องเปรียบเทียบ ชาดกต่างๆ เป็นเรื่องนิทาน  ท่านเป็นพระสมัยใหม่”
“อายุเท่าไหร่ครับ?”
“ก็สัก ๓๐ เศษๆ”
“เป็นคนจากไหนครับ?”
“เป็นลูกกำนันเก่าตำบลนี้เอง” ชายผู้นั้นตอบ “บวชแล้วไปเรียนบาลีอยู่วัดในกรุงเทพฯ แล้วกลับมาเป็นเลขาของเจ้าคณะจังหวัด ท่านส่งมาเป็นสมภารวัดนี้แทนหลวงพ่อผ่อง องค์ก่อน”
บุหรง สุนทรบุรี ได้ฟังเรื่องราวแล้วก็นิ่งคิดอยู่ในใจถึงคติความเชื่อถือพระพุทธศาสนาอย่างเก่าตามแบบชาวบ้าน กับคติความคิดเห็นอย่างใหม่ตามแบบของพระมหาเปรียญ ที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้พึ่งเกิดมีขึ้นในวันนี้และวัดนี้เท่านั้น แต่ได้เกิดมีขึ้นมานานแล้ว อย่างน้อยก็ประมาณ ๑๐๐ ปีเศษมานี้ อาจจะมีจุดเริ่มต้นจากที่มีพระธรรมยุตินิกายเกิดขึ้นในเมืองไทย  บุหรง สุนทรบุรี เองก็เกิดความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจว่าความคิดความเชื่อถือของฝ่ายไหนจะถูกต้อง ฟังๆ ดูก็เป็นความเชื่อถือที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของทั้งสองฝ่ายและมีเหตุผลด้วยกันทั้งคู่  บุหรงพยายามทำใจให้เป็นกลาง พยายามฟังความคิดและความเชื่อถือทั้งสองฝ่าย และกำลังพยายามศึกษาด้วยความพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างใจได้  ศาสนาพุทธนี้มองดูเผินๆ ก็นึกว่ามีเพียง ๒ นิกาย คือ นิกายมหายานกับนิกายหินยาน  แต่ในนิกายหินยาน หรือนิกายเถรวาทฝ่ายสยามนี้ก็ยังแตกแยกความคิดความเชื่อออกไปอีกหลายนิกาย ที่เห็นได้ชัดก็คือมหานิกายกับธรรมยุตินิกาย ถึงจะถือพระศาสดาองค์เดียวกันก็ยังแตกแยกความคิดกัน แม้ในเรื่องพุทธประวัติ และพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์  เพราะเหตุแห่งความแตกแยกทางความเชื่อถือนี้ และสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันอาจจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อมทรามของพระพุทธศาสนา  บุหรงพยายามปัดความคิดอันเหลวไหลนี้ออกไปเสียจากจิตใจ ไม่อยากคิดเพราะเป็นเรื่องใหญ่โตเกินวาสนาบารมีที่จะทำอะไรได้  แต่แล้วก็อดคิดไม่ได้ คิดแล้วก็ไม่สบายใจ  ความไม่สบายใจนี้ก็เกิดจากกิเลสตัณหาภายในใจ บุหรงก็รู้อยู่ แต่เหตุไฉนหนอจึงอดคิดไม่ได้  เพื่อปัดความคิดนี้ออกไปเสีย บุหรงจึงถามถึงเรื่องอื่นต่อไป
“หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดนี้กี่ปีแล้วครับ?” บุหรงถามเพื่อเปลี่ยนเรื่องต่อไป
“ก็พอสมภารแจ่มตายแล้ว ชาวบ้านเขาก็ประชุมกันเลือกตั้งให้ฉันเป็นสมภาร ฉันก็รั้งตำแหน่งสมภารมา ๓-๔ ปี ต่อมาทางเจ้าคณะจังหวัดก็ตั้งฉันเป็นเจ้าอาวาสเรื่อยมา”
“สมภารแจ่ม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสหรือรั้งตำแหน่งครับ?”
“สมภารแจ่ม ท่านเป็นเลขาเจ้าคณะจังหวัดอยู่ก่อน  พอหลวงพ่อผ่องมรณภาพ เจ้าคณะก็สั่งแต่งตั้งมาทีเดียว ย้ายจากวัดเจ้าคณะมาเป็นสมภารจริงๆ จ้ะ  แต่ส่วนฉันน่ะ อยู่ที่วัดนี้ ชาวบ้านเขาเลือกขึ้น ลงชื่อร้องเรียนไปทางเจ้าคณะจังหวัดจ้ะ  แต่ท่านเจ้าคณะท่านยังไม่รู้จัก ไม่ค่อยเต็มใจตั้ง ฉันจึงรั้งตำแหน่งเรื่อยมา ๓-๔ ปี ท่านจึงออกตราตั้งมาจ้ะ” ท่านตอบเรียบๆ “ที่จริงฉันก็ไม่ได้อยากเป็นอะไร ไม่ได้วิ่งได้เต้น ไม่ได้ไปหาท่าน ท่านก็เลยไม่รู้จัก ไม่สั่งแต่งตั้ง มาตั้ง ๓-๔ ปี ฉันก็อยู่ของฉันเฉยๆ เรื่อยๆ มา  ดูเหมือนว่าท่านเตรียมจะตั้งองค์อื่นมาแทนด้วยซ้ำไป แต่ชาวบ้านนี้เขาไม่ยอม  ในที่สุดเวลาล่วงเลยมาก็ได้แต่งตั้ง แต่งตั้งแล้วฉันก็อยู่เฉยๆ เรื่อยมา ไม่ได้ก่อสร้างปรับปรุงอะไร เป็นแต่ผู้รักษาวัด รักษาของเก่าไว้ให้เหมือนเดิม ไม่ได้แต่งเติมเสริมต่ออะไร ปลูกแต่ต้นไม้ไว้บ้าง”
“กี่ปีแล้วครับ ต้นไม้ถึงโตๆ”
“ก็รั้งตำแหน่ง ตั้งแต่ศก ๒๔๘๖  รั้งอยู่ ๔ ปี  ได้รับใบตราตั้งเมื่อศก ๒๔๙๐  จนบัดนี้ก็ ๒๙ ปีแล้วจ้ะ”
เรื่องที่หลวงพ่อเล่า ทำให้บุหรงได้ความรู้ใหม่ว่า การแต่งตั้งสมภารเจ้าวัดมี ๒ อย่างคือ เจ้าคณะตั้งเอง และชาวบ้านเลือกตั้งให้เจ้าคณะแต่งตั้ง  แต่สังเกตดูรู้สึกว่าสมภารแต่งตั้งกับสมภารเลือกตั้งมีคุณลักษณะแตกต่างกันอยู่ สมภารแต่งตั้งมักเป็นพระหนุ่ม เป็นพระมหาเปรียญเจ้าคณะแต่งตั้งทันที  แต่สมภารเลือกตั้งมักจะเป็นพระภิกษุที่มีวัยสูง ไม่ได้เป็นมหาเปรียญ และกว่าจะได้ใบตราตั้งก็ต้องรอรั้ง รั้งรออยู่นาน ถ้าเจ้าคณะไม่รู้จัก หรือไม่ไปหาให้ท่านรู้จัก  ดูช่างละม้ายแม้นการแต่งตั้งข้าราชการสมัยนี้เสียจริงๆ  ระบบข้าราชการได้เข้ามาใช้ในวงการคณะสงฆ์นานกี่มากน้อยแล้ว และผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร บุหรงก็ยังสงสัยลังเลใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของพระลูกวัดและจิตใจของชาวบ้าน  ส่วนความเจริญทางวัตถุนั้นแน่นอน สมภารแต่งตั้งมักจะพัฒนาวัดให้เจริญขึ้นไปทางการก่อสร้างเป็นอันมาก แต่ความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านทั่วไปด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นดูยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่
“ขอประทานโทษ หลวงพ่ออายุเท่าไหร่แล้ว?”
“ปีนี้ก็ ๘๖ แหละจ้ะ  บวชพระมา ๖๖ ปี บวชเณรมา ๕ ปี  รวมก็ ๗๑ ปีแล้วจ้ะ”
“หลวงพ่ออายุเท่าคุณพ่อผมพอดี” บุหรงพูดแล้วก็ก้มลงกราบท่านด้วยความเคารพอย่างจริงใจ “แต่คุณพ่อผมล่วงลับไปแล้ว ๒๐ ปี ไม่มีบุญเหมือนหลวงพ่อ  ผมขอฝากตัวเป็นลูกของหลวงพ่อต่อไปด้วย”
“ขอให้อายุมั่นขวัญยืน มีความสุขความเจริญเถอะจ้ะ คุณธรรมการ” หลวงพ่อพูดด้วยความเมตตาในสีหน้าและน้ำเสียง  บุหรงก้มกราบลงรับพรท่านอีกครั้งหนึ่ง
“เป่ากระหม่อมให้ผมทีเถอะครับหลวงพ่อ” ว่าแล้วบุหรงก็คลานเข้าไปก้มหัวลงแทบเท้าของท่าน
“เชื่อด้วยหรือคาถาอาคม?” หลวงพ่อหัวร่อ อารมณ์ดี
“ผมเชื่อเมตตาจิต เชื่อคุณศีล คุณสัตย์ คุณวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อ” บุหรงก้มหน้าพูด
หลวงพ่อเอามือจับศีรษะ เอานิ้วชี้จี้ลงที่กลางกระหม่อม บุหรงรู้สึกเย็นวาบลงไปตลอดท้ายทอยและไขสันหลัง หลวงพ่อเป่าพรวดที่กระหม่อมให้ในที่สุด เสร็จแล้วบุหรงก็คลานถอยหลังออกมานั่งที่เดิม
“หลวงพ่อครับ กระผมมาหาหลวงพ่อวันนี้ ตั้งใจจะมาเรียนถามหลวงพ่อเรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่ง” บุหรงเริ่มเข้าเรื่องที่ตั้งใจจะมาวันนี้ “หลวงพ่ออย่าหาว่าผมละลาบละล้วงอะไรเลยครับ”
“เรื่องอะไรจ๊ะ?”
“เรื่องระลึกชาติได้ครับ !
หลวงพ่อเพ็งนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ทำท่าเหมือนไม่เต็มใจจะพูดเรื่องนี้ บุหรงจึงพูดต่อไป
“คือว่าผมสนใจศึกษาเรื่องนี้อยู่ เคยอ่านหนังสือเรื่องคนระลึกชาติได้ว่าคนอินเดีย คนไทย ระลึกชาติได้  เคยอ่านเรื่องอภิญญา ๖ พระพุทธองค์ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติย้อนไปได้หลายร้อยชาติ จึงได้ตรัสเรื่องชาดก  แต่คนเดี๋ยวนี้ไม่เชื่อถือว่าเป็นนิทาน เป็นบุคคลาธิษฐาน  กระผมมีความลังเลสงสัยใจ เพราะไม่เคยพบเห็น ไม่มีทางจะพิสูจน์ความจริง  ทราบว่าหลวงพ่อระลึกชาติได้จริง จึงมากราบเรียนถาม”
“คุณธรรมการ เชื่อหรือเปล่าล่ะ?” หลวงพ่อถามยิ้มๆ จ้องมองหน้าบุหรงอยู่ครู่หนึ่ง “ว่าพระพุทธเจ้าระลึกชาติได้จริง?”
“กระผมเชื่อว่าพระพุทธเจ้าระลึกชาติได้จริง แต่กระผมอยากจะฟังจากปากคำคนที่ระลึกชาติได้ปัจจุบันนี้ด้วย”
“เรื่องการระลึกชาติได้นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยาก” หลวงพ่อพูดช้าๆ พลางก็ยกมือประนมขึ้นหันไปทางพระพุทธรูปที่ตั้งที่บูชา “ขั้นแรกเราจะต้องเชื่อความตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียก่อน ถ้าไม่เชื่อก็ไม่ควรพูดกันถึงเรื่องนี้  จะต้องเชื่อพระอภิญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้าคือญาณอันยิ่ง ๖ ประการ ได้แก่ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณเครื่องระลึกชาติปางก่อนได้ ถ้าไม่เชื่อก็เปล่าประโยชน์ที่จะพูดกัน”
บุหรงนั่งฟังด้วยอาการสงบ
“ญาณ เครื่องระลึกชาติปางก่อนนี้ มีอยู่ด้วยกันทุกคน  มีตั้งแต่ระดับต่ำ ระดับกลางและระดับสูง” หลวงพ่ออธิบาย
ระดับต่ำธรรมดา ก็มีอยู่ทั่วไปทุกคน  คือระลึกย้อนหลังถึงวันก่อน เดือนก่อน ปีก่อน ย้อนหลังไปได้หลายๆ วัน หลายเดือน หลายปี  ญาณอย่างนี้มีอยู่ด้วยกันทุกรูปทุกนามใช่ไหม?”
ระดับกลาง ก็คือ จำย้อนหลังได้ถึงเมื่อก่อนนี้เราเป็นอะไร อยู่ที่ไหน  เช่นจำได้ว่าเมื่อก่อนนี้ เราอยู่ที่ไหน เป็นอะไร  เช่นขณะนี้เป็นธรรมการอำเภอ ก็จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้เคยเป็นธรรมการอำเภออยู่ที่ไหน จำได้ว่าเคยเรียนหนังสือโรงเรียนใด เคยเป็นเด็กวัดไหน เกิดที่ไหน เมืองอะไร  แม้ญาณอย่างนี้ก็มีไม่เท่ากัน บางคนก็จำได้แต่เหตุการณ์สำคัญๆ ของชีวิต บางคนก็จำได้ละเอียดถี่ถ้วนแจ่มกระจ่างสว่างใจ บางคนก็จำอะไรไม่ค่อยได้มาก อย่างนี้ใช่ไหม?”
ระดับสูง ก็คือ สามารถระลึกย้อนหลังไปได้ไกลแสนไกล ถึงชาติก่อน ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ สามชาติบ้าง  สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทรงระลึกย้อนไปได้หลายร้อยชาติ อย่างนี้เป็นญาณพิเศษ ญาณอันยิ่ง เรียกว่า อภิญญา  พระอรหันต์บางองค์ก็ระลึกชาติได้ชาติหนึ่ง สองชาติ สามชาติ  บางองค์ก็ระลึกได้เพียงชาติเดียว บางองค์ก็ระลึกไม่ได้  ญาณของพระอรหันต์ก็มียิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วระลึกชาติได้ทุกองค์  บางองค์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ระลึกชาติได้ บางคนเป็นฆราวาสวิสัย เกิดมาก็ระลึกชาติได้ก็มีอยู่  เป็นญาณพิเศษที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน ไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ระลึกชาติได้ก็มีเหมือนกัน...”
“แต่ว่าญาณการระลึกชาติได้นี้ มันเป็นของเฉพาะตัว พูดให้คนอื่นฟังเข้าใจได้ยาก  เหมือนเรานอนหลับฝันไป ตื่นขึ้นมาจำได้เล่าให้คนอื่นเขาฟัง เขาก็มองไม่เห็นเหมือนที่เรานึกเห็นความฝันของเราเอง  เหมือนว่าเรานึกย้อนหลังจำภาพสมัยเรายังเป็นเด็กได้ พูดให้คนอื่นเขาก็นึกเห็นภาพไม่ออกเหมือนที่เราจำได้  เรื่องการระลึกชาติได้นี้ จึงพูดให้คนอื่นฟังเข้าใจได้ยาก บางทีก็กลับจะเกิดเป็นโทษ คนอื่นเขาจะหาว่าเราอวดอุตริมนุสธรรม คืออวดสิ่งที่เหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญที่เขามีเขาเป็นกันอยู่”
“กระผมอยากจะฟังเรื่องที่หลวงพ่อระลึกชาติได้” บุหรงยืนยัน
“เอาเถอะ เมื่อคุณธรรมการอยากจะฟัง ฉันก็จะเล่าให้ฟัง  แต่ฉันก็ไม่มีอะไรจะพิสูจน์ยืนยันหรอกนะจ๊ะ”
“ครับ ไม่เป็นไร”
“ว่าแต่คุณธรรมการ จะเชื่อแน่หรือ?”
“เชื่อครับ กระผมเชื่อ  กระผมแน่ใจว่า ไม่มีอะไรที่ทำให้หลวงพ่อต้องพูดเท็จ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรแด่หลวงพ่อ”
หลวงพ่อเพ็งยิ้ม
“ฉันเกิดที่เมืองพระตะบอง ประเทศเขมรโน่นน่ะจ๊ะ ฉันไม่ได้เกิดในประเทศไทยหรอก  เมื่อเกิดมาฉันก็พูดภาษาเขมร พอจำความได้ฉันพบคนไทย เขาพูดภาษาไทย ฉันก็ฟังเข้าใจได้  ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทย เคยพูดภาษาไทยมาก่อน  ฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลาเหมือนความฝันว่า ฉันเคยเกิดในประเทศทางทิศตะวันตก คือเมืองไทย  บ้านเกิดของฉันอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่ง พ่อฉันชื่อสุข แม่ฉันชื่อพริ้ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดหนึ่ง มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่หน้าวัด  ตัวของฉันชื่อจันทร์ ตัวฉันเคยบวชเณร บวชพระอยู่ในวัดนั้น ต่อมาฉันก็สึกเพราะถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ฉันเป็นไข้ตายในกองทัพ  ฉันจำได้อย่างนี้ ฉันเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่พี่น้องก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง  โตขึ้นฉันก็บวชเณร ฉันอยากจะไปดูบ้านเก่าเมืองเก่าของฉัน แต่พ่อแม่ห้ามไว้  พอพ่อแม่ฉันสิ้นบุญ ฉันก็เดินทางเข้ามาเมืองไทย ฉันสืบเสาะมาหาบ้านเก่าทางทิศตะวันตก  ฉันไม่รู้ว่าวัดนั้นชื่อวัดอะไร แต่ฉันจำได้ว่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ หน้าวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่  ในที่สุดฉันก็มาถึงวัดนี้ มีลักษณะเหมือนกับที่ฉันเคยนึกเห็นทุกอย่าง หมู่กุฏิ ต้นโพธิ์ จะผิดไปบ้างก็แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  ฉันถามถึงคนที่ชื่อสุข ชื่อพริ้ง เขาก็บอกว่ามีคนชื่อสุข ชื่อพริ้ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดนี้ ลูกหลานของเขามียืนยัน ยังมีตัวตนอยู่ แต่ทั้งสองท่านตายไปนานแล้ว  ฉันรักวัดนี้มาก มันเหมือนเป็นสถานที่เก่าแก่ที่ฉันเคยอาศัยมาแต่เก่าก่อน  ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้มาอยู่วัดนี้อีกครั้งหนึ่ง ฉันก็เลยอยู่วัดนี้เรื่อยมา  ฉันเล่าให้พระเณรฟัง ท่านก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง บางคนก็หาว่าฉันอวดอุตริมนุสธรรม ที่ว่าฉันเป็นคนเขมรพูดจาโอ้อวดเชื่อถือไม่ได้ก็มี  แต่ฉันไม่ได้พูดเท็จอะไร เมื่อไม่มีคนเชื่อถือ ฉันก็เลยนิ่งเสียไม่ได้เล่าให้ใครฟังมานานแล้ว ฉันเองก็ไม่มีอะไรจะพิสูจน์ได้ เรื่องก็มีเท่านี้แหละจ้ะ”
บุหรงฟังแล้วก็นิ่งคิด มองดูหลวงพ่อ เห็นผิวพรรณขาวสะอาดผิดกับคนเขมรทั่วไปที่พบเห็นยกเว้นเจ้านโรดมสีหนุ
“หลวงพ่อผิวขาว ไม่เหมือนชาวเขมรทั่วไป”
หลวงพ่อเพ็งหัวเราะน้อยๆ
“ภาษิตไทยเขาว่า ไทยเล็ก เจ๊กดำ เขมรขาว ลาวใหญ่ ห้ามคบหรือคบยาก ใช่ไหมจ๊ะ?”
“เห็นจะไม่จริงหรอกครับ” บุหรงแย้งโดยมารยาท
“มันจริงจ้ะ คุณธรรมการ” หลวงพ่อเพ็งยืนยัน “คือว่า ไทยเล็กน่ะมันผิดไทยธรรมดาทั่วไป เจ๊กดำก็ผิดเจ๊ก เขมรขาวก็ผิดเขมร ลาวใหญ่ก็ผิดลาว มันไม่ใช่ธรรมดาสามัญ  เพราะคนไทยมักจะสูงใหญ่ เจ๊กก็ผิวขาวเหลือง เขมรก็มักจะผิวดำคล้ำ ลาวก็มักจะตัวเล็กๆ ป้อมเตี้ยๆ  ใครเกิดมาผิดเพศพันธุ์ก็ผิดธรรมดา  แต่ข้างเขมรนั้นคนผิวขาวนั้นมีเชื้อสายมาจากวรรณะกษัตริย์ เป็นวรรณะที่ปกครองคนในเขมร  เมื่อทัพไทยไปตีกวาดต้อนครอบครัวเขมรมา คนเขมรดำๆ มักจะยอมอ่อนน้อมอยู่ในอำนาจ แต่คนเขมรขาวมักจะหลบหนีออกไป ตั้งตัวเป็นใหญ่และคิดกู้ชาติ คนไทยจึงว่าเขมรขาวคบยาก  แต่ที่จริงเขมรขาวได้รับความนิยมนับถือมีเชื้อสายวรรณะกษัตริย์โบราณ”
“หลวงพ่อเป็นวรรณะกษัตริย์?”
“ฉันน่ะ มันปลายเชื้อปลายแถวแล้วจ้ะ ต้นวงศ์สกุลเคยเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง”
หลวงพ่อพูด “ฉันเกิดในตระกูลอภัยวงศ์ เดิมฉันชื่อเป็นภาษาเขมรว่า...“อวง”...”
“แปลว่าอะไรครับ?”
“แปลว่าเป็นใหญ่”
หลวงพ่อตอบ
“เดิมฉันชื่อ อวง อภัยวงศ์” หลวงพ่อพูดต่อไป “ฉันเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า เพ็ง  เพราะฉันเกิดวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดปีขาล พ.ศ. ๒๔๓๓  ฉันบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓”






(ติดตามอ่านต่อ ตอน ๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น