โพธิขวาง
๓.พระนักพัฒนา
ประกาศ
วัดโพธิรัตโนภาส
ท่านสาธุชนชาวพุทธทั้งหลาย
เมื่อคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
เป็นวันที่อาตมาภาพได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวันแรก มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น ท่านผู้รู้บอกว่าพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์
มีแสงสว่างโชติช่วงประหนึ่งแก้วรัตนะอันวิเศษเหาะลอยผ่านวัดนี้
แสดงซึ่งศุภนิมิตอันวิเศษว่าวัดของเราจะเจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลสืบต่อไป
อาตมาเห็นว่าศุภนิมิตนี้เป็นมหามงคลอันประเสริฐ
จึงได้เปลี่ยนนามวัดโพธิขวางเสียใหม่ให้ต้องกับศุภนิมิตนั้น ว่า “วัดโพธิรัตโนภาส”
แปลว่า “วัดโพธิแก้วอันสว่างรุ่งเรือง” ขอท่านสาธุชนจะได้เรียกวัดนี้ว่า “วัดโพธิรัตโนภาส”
สืบต่อไปตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา
ณ วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
โอภาโสภิกขุ
เจ้าอาวาสวัดโพธิรัตโนภาส
ประกาศนี้เขียนลงบนกระดานป้ายแผ่นใหญ่
ติดตั้งไว้หน้าวัด ขนาดเรือแพผ่านไปมาก็แลเห็นได้ เพราะเล่นสีแดง เหลือง น้ำเงิน เป็นที่สะดุดตา
บางคนสงสัยว่า
“โอภาโสภิกขุ” คือใคร
“พระมหาสว่าง
เป็นเจ้าอาวาสไม่ใช่หรือวะ?”
“ก็โอภาโส
เป็นฉายาของท่านมหาสว่าง เดี๋ยวนี้เขานิยมใช้นามฉายากัน อย่างท่านอาจารย์กิตติวุฑโฒภิกขุ
ไงล่ะ
อยู่ต่อมาไม่กี่วันก็มีประกาศฉบับที่สองตามมา
ประกาศ
วัดโพธิรัตโนภาส
ท่านสาธุชนชาวพุทธทั้งหลาย
การพัฒนาวัดให้เจริญนั้นจำเป็นต้องอาศัยกำลังกาย กำลังปัญญา
และกำลังทรัพย์จากท่านพุทธศาสนิกชนเป็นสำคัญ ทางวัดจึงได้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการวัดขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลสำคัญ
มีพ่อค้า คหบดี ข้าราชการ ในตำบลนี้และตำบลใกล้เคียง
เพื่อจะได้เป็นกำลังอุปถัมภ์พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป มีจำนวน ๑๐๐ ท่าน ดังรายนามข้างล่างนี้
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน และขอเชิญประชุมพร้อมกันวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๙
ประกาศมา
ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
โอภาโสภิกขุ
(พระมหาสว่าง โอภาโส ป.๖)
เจ้าอาวาสวัดโพธิรัตโนภาส
ข้างล่างมีรายชื่อบุคคลที่ทางวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการวัดรวม
๑๐๐ ชื่อ แต่ละชื่อเขียนด้วยอักษรสีแดง เหลือง ม่วง เขียว เป็นที่สะดุดตา มีเด็กบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง มายืนอ่านชื่อกันด้วยความสนใจ
นอกจากป้ายประกาศนี้แล้ว
ท่านเจ้าอาวาสองค์ใหม่ยังได้พิมพ์ใบปลิวขนาดใหญ่ ปิดตามต้นไม้ ศาลา
และแจกจ่ายคนทั่วไป พร้อมทั้งมีหนังสือเชิญมาประชุมพร้อมกัน
ถึงกำหนดวันประชุม
ก็มีผู้ได้รับแต่งตั้งมาประชุมพร้อมกันบนศาลาการเปรียญ นับจำนวนได้ถึง ๙๗ คน
ขาดไปเพียง ๓ คนเท่านั้น มีสมุดเซ็นชื่อประชุมด้วย
มีพระภิกษุหนุ่มในวัดเป็นเลขานุการ พระภิกษุในวัดจำนวน
๑๑ รูป มานั่งประชุมด้วย ยกเว้นพระครูญาณวิสุทธิ์เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ ท่านโอภาโสภิกขุ หรือพระมหาสว่าง
นั่งเป็นประธานในที่ประชุม มีเลขานุการนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่งคอยจด เมื่อพร้อมแล้ว
ท่านเจ้าอาวาสก็จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย บอกให้ทุกคนยืนพนมมือ ว่าบทพระพุทธคุณ
พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อย่างย่อตามท่านผู้เป็นประธาน
เสร็จแล้วท่านเจ้าอาวาสก็กล่าวเปิดประชุมอย่างเป็นพิธีการ
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมกันอย่างมีพิธีการเช่นนี้ ด้วยเวลาที่ผ่านมา ๓๐ ปี
เจ้าอาวาสองค์เก่าไม่เคยจัดให้มีการตั้งคณะกรรมการวัดและมีการประชุมอย่างนี้
ทุกคนในที่ประชุมจึงเงียบสงบ ไม่มีใครพูดคุยอะไรกัน เพราะรู้สึกเป็นของแปลก
และใหม่ที่เกิดขึ้นในวัดโพธิขวางหรือวัดโพธิรัตโนภาสแห่งนี้
“ท่านสาธุชนชาวพุทธทั้งหลาย
บัดนี้ท่านได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพัฒนาวัด
อาตมาภาพได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลสำคัญ ที่มีกำลังทรัพย์ กำลังปัญญา
และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในตำบลนี้และตำบลใกล้เคียง เพื่อจะได้เป็นกำลังอุปถัมภ์
ทำการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป ตามพระบาลีที่มีมาว่า ‘สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ซึ่งแปลความว่า
ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ย่อมก่อให้เกิดความสุข (*
พลัง สังฆัสสะ สามัคคี =
สามัคคีของหมู่คณะก่อให้เกิดพลัง) กิจการทั้งหลายลำพังคนเดียวทำไม่ได้
ต้องอาศัยกำลังความร่วมมือจากคนส่วนใหญ่ วัดของเรานี้
แต่เดิมมาทางวัดทำไปแต่ฝ่ายเดียวไม่มีกรรมการวัด วัดจึงไม่พัฒนาการก้าวหน้าไปเท่าที่ควร
นับว่าเป็นวัดล้าหลัง ไม่ทันความเจริญของโลก และสู้วัดอื่นๆ เขาไม่ได้
จึงตั้งกรรมการพัฒนาวัดขึ้นเพื่อท่านทั้งหลายจะได้เข้ามามีส่วนสร้างความเจริญให้วัดเจริญรุ่งเรืองสืบไป
โดยอาศัยกำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญาของท่าน
เมื่อวันที่อาตมาเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวันแรก
ก็เกิดสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ขึ้น คือมีพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเสด็จปาฏิหาริย์สว่างไสว
อาตมาภาพจึงถือว่าเป็นศุภนิมิตมหามงคล
จึงได้เปลี่ยนนามวัดให้ต้องตามศุภนิมิตอันนี้ ให้ชื่อวัดเสียใหม่ว่า วัดโพธิรัตโนภาส
รัตนะ แปลว่า แก้ว โอภาส แปลว่า สว่างไสว มีแสงอันรุ่งเรือง รวมกันเข้าก็แปลว่า
วัดโพธิแก้วอันสว่างรุ่งเรือง ต่อไปนี้วัดนี้จะได้เจริญรุ่งเรืองสมชื่อ
ไม่เป็นวัดโพธิขัดโพธิขวางความเจริญต่อไปอีกแล้ว
ที่อาตมาเชิญท่านทั้งหลายมาประชุมพร้อมกันวันนี้
ก็เพื่อจะปรึกษาหารือว่าเราจะทำการพัฒนาวัดกันอย่างไร ขณะนี้วัดของเราไม่มีเงินทุนอยู่เลย มีแต่โบสถ์ ศาลา
เสนาสนะอันชำรุดทรุดโทรม การพัฒนาวัดต้องอาศัยเงินเป็นปัจจัยสำคัญ
อาตมาจึงคิดจะหาทุนสักก้อนหนึ่ง คือว่าจะทำการทอดผ้าป่าหาทุน เรียกว่าผ้าป่ามหากุศล
พัฒนาวัด แต่จะไม่ทอดที่วัดนี้
จะไปทอดที่วัดเจ้าคณะจังหวัด เป็นการยิงนกทีเดียวได้นกสองตัว คือ
คนจะได้รู้จักวัดของเรา ผู้ใหญ่ทางจังหวัดจะได้สนับสนุนวัดเรา ในเวลาเดียวกันก็จะแบ่งทุนไว้สักก้อนหนึ่ง
เก็บไว้เป็นทุนบำรุงวัดต่อไป
แต่การที่จะหาทุนก้อนแรก
ในการพิมพ์ใบโฆษณาแจกจ่ายไป พิมพ์ซองผ้าป่านั้น อาตมาคิดว่าจะขอให้ท่านกรรมการช่วยออกคนละ ๑๐๐
บาท ๑๐๐ คน ก็จะได้ ๑๐,๐๐๐ บาท
เป็นเงินทุนเริ่มแรก แจกซองไปสัก ๑๐,๐๐๐
ซอง ถ้าได้เงินผ้าป่าซองละ ๑๐ บาท ก็จะได้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เราจะเอาไปทอดผ้าป่าสัก ๕๐,๐๐๐ บาท เหลืออีก
๕๐,๐๐๐ บาท เราจะได้เอาไว้เป็นเงินทุนของวัดต่อไป
จะมีงานการอะไรจะได้ใช้ทุนก้อนนี้ อาตมาคิดว่าปีหน้าจะพยายามหานายทุนใหญ่มาทอดกฐินที่วัดนี้
อาจจะได้เงินหลายแสนบาท เราก็จะมีเงินพัฒนาวัดต่อไป
ท่านทั้งหลายจะเห็นดีด้วยหรือไม่ แต่อย่างไรก็ขอให้เห็นแก่วัดของเราก็แล้วกัน
เงินคนละ ๑๐๐ บาทก็ไม่มากอะไร เก็บไว้ก็ใช้ประโยชน์ได้น้อย
ถ้าเอามากองรวมกันต้องได้มาก ทางวัดก็จะได้เงินทุนทำการต่อไป ใครเห็นดีตามที่อาตมาว่านี้ขอให้ยกมือขึ้น”
มีผู้ยกมือ
๖๑ คน เหลืออีก ๓๖ คนไม่ยกมือ
“ที่ไม่ยกมือ
๓๖ คนจะว่าอย่างไร จะไม่ร่วมมือกับทางวัดหรือ
ทางวัดก็ได้แต่งตั้งท่านเป็นกรรมการแล้ว” พระมหาสว่างถาม
“ทอดผ้าป่า
ทำไมถึงไม่ทอดวัดของเรา ทำไมจึงไปทอดถึงวัดเจ้าคณะจังหวัด หมดเปลืองเงินไปถึง
๕๐,๐๐๐ บาท” ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งถาม
“ก็เพื่อให้คนรู้จักวัดของเรา
ผู้ใหญ่จะได้สนับสนุนวัดเราไงล่ะ เราต้องทำใจให้กว้าง” ประธานตอบ
“เงิน
๑๐๐ บาทนี้จะคืนหรือไม่ หรือจะเอาเลย?” นายเงื่อนหนุ่มวัย ๓๐ ถามขึ้น
“ไม่คืนเพราะลงทุนไปหมดแล้ว”
“ยืมลงทุน
เมื่อได้เงินมาแล้ว ทำไมจึงไม่คืนเขา?” นายเงื่อนถามอีก “ก็กะว่าได้เงินตั้งแสน”
“ถือว่าเป็นเงินบริจาคให้วัดทำทุน”
“ควรจะทอดที่วัดของเรา
ได้เงินมาก็คืนทุนเขาไปถึงจะถูก” นายเงื่อนคัดค้านเสียงแข็ง
“อาตมาตั้งใจไว้แล้วว่า
จะไปทอดที่วัดเจ้าคณะจังหวัด ตอบแทนบุญคุณท่านเจ้าคุณ”
“เป็นการตอบแทนบุญคุณส่วนตัว
ไม่เกี่ยวกับวัด” นายเงื่อนพูดฉะฉาน
“ตอบแทนส่วนตัวก็ได้ประโยชน์ทางอ้อม
สมภารจะได้เป็นพระครูโดยเร็ว
มีเกียรติแก่วัดของเรา” ท่านกำนันเชื้อ ได้แย้งอย่างพาซื่อ
“การประชุมวันนี้
ทำไมจึงไม่นิมนต์หลวงพ่อพระครูมาร่วมประชุมด้วย จะได้ฟังความเห็นของท่านบ้าง?”
นายเงื่อนเปลี่ยนเรื่องต่อไป
“ท่านแก่แล้ว
ยกท่านไว้เป็นกิตติมศักดิ์ ท่านไม่มีอำนาจบริหารกิจการคณะสงฆ์อะไร?” สมภารตอบ
“ก็ตั้งท่านไว้เป็นที่ปรึกษา
ควรนิมนต์ท่านมาปรึกษาด้วย กรรมการวัดที่นั่งอยู่นี่ก็ไม่มีอำนาจบริหารกิจการคณะสงฆ์
เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส ทำไมจึงเรียกมาประชุมปรึกษา”
นายเงื่อนตีโวหารต่อไปไม่ยอมแพ้
“กรรมการคณะนี้มีกำลังช่วยวัดได้”
โอภาโสภิกขุ รู้สึกมีอารมณ์โกรธ พูดเสียงสั่นๆ
“ท่านพระครูญาณวิสุทธิ์
ไม่มีกำลังช่วยวัดบ้างเชียวหรือ ท่านปกครองวัดมานานถึง ๓๐ ปี”
“อาตมาขอโทษที่เข้าใจผิด
ไม่รู้ว่าคุณเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิ”
“ผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์
ผมไม่ได้บวชที่วัดนี้ ผมบวชอยู่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ผมเคยอยู่สำนักที่ดี”
พระมหาสว่างนิ่งอึ้งไปสักครู่
บรรยากาศในที่ประชุมอึดอัด ในที่สุดพระมหาสว่างก็พูดเปรยๆ ว่า
“คุณก็เป็นศิษย์สำนักเดียวกับฉัน”
“ใช่
ผมก็รู้ว่าท่านเคยอยู่วัดมหาธาตุ แต่ไปอยู่ทีหลังผม ท่านจึงไม่รู้จักผม
ผมมันบวชเมื่อจบ ม.๖ แล้ว รับราชการเป็นครูแล้วเป็นตำรวจแล้ว”
นายเงื่อนพูดเสียงดัง “ตอนนั้นท่านยังอยู่บ้านนอก”
ที่ประชุมเงียบไปอีก
“แล้ววัดโพธิขวางนี่น่ะ
เขาเรียกวัดโพธิขวางมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ใครก็รู้จักชื่อนี้เรียกกันแต่ว่า “หลวงพ่อเพ็ง
วัดโพธิขวาง” เหตุใดจึงคิดจะมาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงกันอีก”
นายเงื่อนรุกเรื่องอื่นต่อไป “ชื่อวัดโพธิขวาง มันขัดขวางความเจริญยังไง ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วผู้บริหารไม่สามารถ
มันจะเจริญไปได้ยังไง ถ้าหากว่าผู้บริหารสามารถแล้ว วัดมันจะชื่ออะไร
มันก็เจริญ”
“ก็บอกแล้วว่า
เปลี่ยนให้ไพเราะเป็นมงคลนาม สมัยนี้ไม่มีใครตั้งชื่อ
นายดำ นายแดงกันแล้ว เขาตั้งชื่อให้ไพเราะเป็นภาษาบาลีกันทั้งนั้น วัดก็เปลี่ยนชื่อ
วัดโพธิท่าเตียนเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสระแกเป็นวัดสระเกษ”
“วัดสระแกเป็นวัดสระเกษก็พอฟังเข้าท่า
แต่วัดโพธิชาวบ้านเรียกวัดโพธิกันอยู่ ถ้าจะเปลี่ยนชื่อวัดโพธิขวางก็เปลี่ยนให้มันเรียกง่ายๆ
ว่าวัดโพธิแก้ว โพธิทอง หรือวัดโพธิรัตนารามอะไรยังงี้พอจะเข้าหูคนบ้าง
ชื่อวัดโพธิรัตโนภาสใครมันจะเรียก การเปลี่ยนชื่อวัดนี้ก็ต้องขออนุญาตแก้ทำเนียบ นี่ขออนุญาตแล้วหรือยัง?”
“ยังไม่ได้ขออนุญาต
ตั้งใจว่าจะให้คนเรียกชื่อใหม่กันให้ชินเสียก่อน แล้วจะขออนุญาตทีหลัง”
สมภารองค์ใหม่ตอบ
“อยากจะฟังคำแปลอีกที
ว่าชื่อใหม่นี้มีที่มาอย่างไร?” นายเงื่อนตั้งปัญหาต่อไป
“วัดโพธิก็แปลว่า
วัดโพธิ รัตนะก็แปลว่า แก้ว โอภาสก็แปลว่าสว่าง รวมคำแปลว่า วัดโพธิแก้วสว่าง”
มหาสว่างแปลให้ฟัง “เป็นบาลีเข้าสมาสและสนธิกัน”
“สว่างก็ชื่อของสมภาร โอภาโสก็ฉายาของสมภารอีก
การที่เปลี่ยนชื่อวัดเช่นนี้ มีเจตนาจะเปลี่ยนชื่อวัดตามชื่อตัวและชื่อฉายาของสมภาร
ทั้งๆ ที่สมภารก็พึ่งมาอยู่ได้เดือนเดียว
ยังไม่ได้สร้างความเจริญอะไรให้วัดเลย ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ควรจะมีความละอายใจกันบ้าง หลวงพ่อเพ็งท่านปกครองวัดมานานถึง ๓๐ ปีแล้ว มีคนเรียกว่า
หลวงพ่อเพ็ง วัดโพธิขวาง ท่านก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อวัด ว่าวัดโพธิเพ็ง
โพธิเพ็ญอะไร ผมไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนชื่อวัด”
นายเงื่อนคัดค้านอย่างเปิดเผย คนอื่นนิ่งเงียบกันอยู่
“วันนี้ท่านมหา
เชิญเรามาปรึกษากันเรื่องทอดผ้าป่า ไม่ได้ปรึกษาเรื่องการเปลี่ยนชื่อวัด เรื่องการเปลี่ยนชื่อวัดเป็นอำนาจของสมภาร
พวกเราไม่เกี่ยว” กำนันเชื้อลุกขึ้นพูดขัดจังหวะ
“เกี่ยวซี ทำไมจะไม่เกี่ยว ก็วัดนี้เป็นของชาวบ้านตำบลนี้ทุกคน ไม่ใช่วัดของสมภารคนเดียว
วัดเป็นสาธารณสถาน เรามีสิทธิเป็นเจ้าของด้วยกันทุกคน
เรามีสิทธิเรียกชื่อวัดตามความพอใจของเรา ปู่ ย่า ตา ยายของเราออกเงินบำรุงวัดกันมา
เราทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของวัด”
มีเสียงตบมือสองสามคน
ล้วนแต่เป็นคนหนุ่ม คนนอกนั้นนั่งเงียบ
“แล้วเรื่องผ้าป่าจะว่ายังไง
ใครเห็นว่าควรไปทอดที่วัดเจ้าคณะจังหวัดยกมือขึ้น”
กำนันเชื้อลุกขึ้นพูดด้วยเสียงดัง ทำท่าจะเป็นประธานที่ประชุมเสียเอง
มีคนยกมือ
๒๔ คน นอกนั้นนั่งนิ่ง
“ท่านกำนัน ทำไม่ถูก
ควรจะให้ท่านมหาสว่างผู้เป็นประธานถามมติที่ประชุมเอง กำนันไม่ได้เป็นประธานที่ประชุม”
นายเงื่อน ลุกขึ้นพูดคัดค้าน
“ใครเห็นว่า
ควรไปทอดผ้าป่าที่วัดเจ้าคณะจังหวัดยกมือขึ้น” ท่านมหาสว่าง
ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมขอมติ
มีผู้ยกมือ
๒๔ คน ตามเดิม
“ใครเห็นว่า
ควรทอดที่วัดนี้ ยกมือ”
มีผู้ยกมือ
๓๖ คน
“อ้าว
เมื่อแรกมีผู้ยกมือถึง ๖๑ คน ที่เหลือไม่ยกมือเลย จะเอายังไง?” ท่านสมภารถาม
“ผมไม่เห็นด้วยกับการทอดผ้าป่าหาเงิน”
นายเงื่อนลุกขึ้นคัดค้านเสียงดัง “มันเป็นวิธีการหลอกลวงชาวบ้านผู้โง่เขลาให้เขางมงายโง่เขลาต่อไปไม่สิ้นสุด
เราควรจะเปิดหูเปิดตาชาวบ้าน ควรจะพูดความจริงกันอย่างตรงไปตรงมา วัดจะทำการพัฒนาอะไร จะใช้เงินทุนเท่าไร
ก็ประกาศบอกบุญไป ใครอยากทำบุญก็มาทำ ไม่ควรจะทำการทอดผ้าป่าเป็นการบังหน้า ผมชอบให้วัดทำอะไรตรงไปตรงมาไม่บิดเบือน
แล้วก็ควรเป็นเรื่องของคณะกรรมการวัดปรึกษากันเอง ผมไม่เห็นด้วยที่พระสมภารเจ้าวัดจะมาเป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดการทอดผ้าป่าเอง”
“ถ้าไม่ให้พระมาเป็นผู้นำจัดการ
จะให้ใครเป็นหัวหน้า?” สมภารถาม
“ก็กำนันเชื้อ
เป็นหัวหน้า” นายเงื่อนตอบทันที
“ผมมีภาระหน้าที่มาก
มาทำไม่ได้ มอบให้นายเงื่อนเป็นหัวหน้าดีกว่า” กำนันออกตัว
“ถ้ามอบให้ผมเป็นประธานกรรมการ
ผมก็เห็นว่าไม่ควรจัดทอดผ้าป่าหาเงิน”
ที่ประชุมเริ่มรวนเร
ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป
“ลงมติใหม่อีกทีซิว่า
ใครเห็นว่าควรทอดผ้าป่า ใครเห็นว่าไม่ควรทอด” นายเงื่อนเสนอตัดบท
“ทอดน่ะฉันได้ตั้งใจเด็ดขาดแน่นอนแล้ว”
ท่านมหาสว่างพูดเสียงเครียด หน้าเครียด “จะไปทอดที่วัดเจ้าคณะจังหวัด เพราะฉันพูดกับท่านไว้แล้ว
ฉันจึงขอถามว่า
ผู้ใดเห็นด้วยว่าจะไปทอดผ้าป่ากับฉันบ้าง ขอให้ยกมือขึ้น”
มีผู้ยกมือ
๒๐ คน
“ถ้าประชุมกันแบบนี้ ก็ไม่ต้องเรียกมาประชุมให้เสียเวลา เรียกมาถามว่าใครยินดีจะไปทอดผ้าป่าบ้าง
มันก็แบบเผด็จการ ไม่ฟังความคิดเห็นกัน วันหลังก็ไม่ต้องเรียกประชุมหรอก”
นายเงื่อนพูดเปรยๆ แล้วก็ลุกออกจากที่ประชุมไป มีพวกหนุ่มๆ ลุกตามไปหลายคน
คนอื่นก็เลยลุกตาม รีๆ รอๆ บ้าง ออกไปบ้าง เป็นอันว่าการประชุมกรรมการพัฒนาวัดเพื่อจะทอดผ้าป่าหาทุนวันนั้น
ได้ผลผิดความคาดหมายของท่านสมภารหนุ่มเป็นอย่างมาก
ท่านมหาสว่างมีสีหน้าเคร่งเครียด อย่างชนิดที่ว่า สีหน้าปั้นยาก
“แล้วนี้จะเอายังไงกันต่อไปครับท่าน?”
กำนันเชื้อเข้าไปถามท่านสมภาร
“ก็ใครเห็นชอบก็เอาเงินคนละ
๑๐๐ บาทมาให้อาตมา จะได้พิมพ์ซองฎีกาผ้าป่าแจกไป” ท่านสมภารพูด
แล้วก็ลุกขึ้นเดินลงจากศาลาการเปรียญไปด้วยอารมณ์ขุ่นมัว
รู้สึกในใจว่าการเป็นสมภารวัด แม้แต่ในท้องที่บ้านเกิดของตัวเองแท้ๆ นี้
ก็ไม่ใช่เป็นง่ายๆ เหมือนที่คาดฝันไว้ วันแรกก็มีอุปสรรคมีมารมาผจญเสียแล้ว
มารตัวนี้ก็ทำท่าว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อย สามารถชักจูงคนไปเข้าข้างตัวได้ถึง ๗๗
คน ในจำนวน ๙๗ คน ทำให้สมภารหนุ่มวุฒิเปรียญ ๖
ประโยคต้องใช้ความคิดอย่างหนักหน่วง ที่จะต้องหาทางเอาชนะมารตนนี้ให้จงได้ แต่จะเอาชนะได้ด้วยวิธีใดหรือไม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป
สองสามวันต่อมา
หลังเพลแล้ว กำนันเชื้อก็มาหาท่านสมภารหนุ่มที่วัด นั่งสนทนากันอยู่สองต่อสอง
“ท่านมหามีธุระอะไรหรือครับ
สารวัตรเขาพึ่งไปบอกผมเมื่อเย็นวาน ว่าท่านมหาต้องการพบผม”
“มีธุระส่วนตัวอยากจะถามสักหน่อย”
“เรื่องอะไรครับ?”
“เรื่องนายเงื่อน”
“มีเรื่องอะไร?”
“ฉันอยากรู้จักประวัติเขา
เป็นคนอย่างไร?”
“อ๋อ ก็ลูกชายผู้ใหญ่สาย ยายง้อ คนตำบลนี้ แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่เสียหมดแล้ว
เป็นลูกชายคนเดียวครับ ไม่มีพี่น้อง พ่อแม่อุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนจนจบ
ม.๖ ออกมาเป็นครูโรงเรียนประชาบาลอยู่พักหนึ่ง มันก็ไม่ถูกกับเจ้านายเขา
จึงถูกออกจากครู ไปเป็นตำรวจอยู่พักหนึ่งก็ถูกออกอีก
แล้วไปบวชอยู่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เวลานี้กลับมาอยู่บ้าน ตั้งตัวเป็นหัวหน้าแก๊ง
มีเจ้าพวกหนุ่มๆ เป็นลูกน้องอยู่หลายคน อ้ายคนนี้สำคัญ มันชอบแสดงความรู้
แสดงโวหารในที่ประชุมทุกแห่ง นายอำเภอมาประชุมราษฎร
มันก็ซักถามโต้แย้ง จนนายอำเภอโมโห สั่งให้ผมติดตามสอดส่อง
นายอำเภอว่ามันมีหัวเอียงซ้ายเป็นคอมมิวนิสต์ มันเกลียดข้าราชการ เกลียดคนมั่งมี
มันเข้าข้างคนยากคนจน คารมโวหารมันดี คนชอบฟังมันพูดเสียด้วย
ท่านมหาต้องระวังคนนี้ไว้ให้มาก ที่จริงท่านมหาไม่ควรจะตั้งเป็นกรรมการวัดหรอก
ไม่ถามผมเสียก่อนนี่ครับ ประวัติคนในตำบลนี้อยู่ในบัญชีผมทุกคน”
“เรื่องที่ถูกออกจากราชการน่ะเรื่องอะไร?”
“ก็อ้ายเรื่องดื้อรั้นไม่ฟังเสียงผู้ใหญ่
ชอบตะแคงข้างไปอย่างนี้แหละ อยู่ที่ไหนมันก็ไม่ถูกกับเจ้านายที่นั่น
ใครจะเลี้ยงมัน”
“เวลานี้มีอาชีพอะไร
หลักฐานดีไหม?”
“หลักฐานไม่ดีอะไร
พอมีพอกินไป เขามีอาชีพรับซื้อน้ำตาลส่งยี่ปั๊วอีกทีหนึ่ง ไม่ต้องออกทุนอะไร
อาศัยที่เป็นคนกว้างขวาง เอาน้ำตาลไปก่อน ขายส่งได้เงินมาก็เอาเงินมาให้เจ้าของน้ำตาลเขา
เอากำไรกิน”
“มีภรรยาแล้วหรือยัง?”
“มีแล้ว
ขายของชำ ตั้งร้านกาแฟอยู่ริมคลองลัดถัดวัดไปนี่เอง”
พูดกันได้เท่านั้น
ก็มีชาย ๓ คน ก้าวขึ้นบันได โผล่ขึ้นมาถึงกุฎีของท่านสมภาร ทำให้การสนทนาหยุดชะงัก
คนนำหน้าคือนายเงื่อน คนที่สองชื่อนายเขียน
คนที่สามชื่อนายผันเป็นเพื่อนคู่หูกัน
“อ๋อ
เงื่อน นั่งซี” ท่านกำนันเชื้อทักทาย “ไปไงมาไงถึงนี่ เขียนกับผันก็มาด้วย”
“ก็มาหาท่านสมภารนี่แหละ กำนันมาฉันก็มามั่ง เป็นกรรมการวัดด้วยกันนี่”
นายเงื่อนพูดอย่างไว้เชิง “ท่านสมภารก็คงอยากพบฉันเหมือนกัน”
สมภารหนุ่มมีสีหน้าไม่ค่อยดี
“อาตมาก็อยากจะพบคุณเหมือนกัน
จะได้รู้จักคุ้นเคยเป็นมิตรสหายกัน”
“อ๋อ ผมเป็นมิตรสหายท่านไม่ได้หรอก ท่านเป็นพระมหาเปรียญ เป็นสมภารเจ้าวัด อ้ายผมมันราษฎรเต็มขั้น”
“ก็เราเป็นลูกบ้านเดียวกัน
บวชเรียนอยู่สำนักเดียวกัน ทำไมเล่าจะเป็นมิตรสหายกันไม่ได้”
สมภารเอาอารมณ์ดีเข้าสู้
“ถึงอย่างไร
ผมก็เป็นมิตรสหายกับท่านไม่ได้ หัวคิดของเรามันคนละแนวทาง ถ้าผมเป็นมิจฉาทิฐิ ท่านก็เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าผมเป็นสัมมาทิฐิ ท่านก็เป็นมิจฉาทิฐิ มันไปด้วยกันยาก”
สมภารหนุ่มนิ่ง
“เฮ้ย
เงื่อน บนกุฏิกุฐานของท่าน เราไม่ควรจะมาพูดจารวนท่าน ท่านเป็นพระเป็นสงฆ์”
ท่านกำนันเชื้อปรามเสียงอ่อยๆ
“เอ๊ะ
ท่านกำนันพูดให้ดีนะ ฟังให้ดีๆ ด้วย ฉันพูดอย่างนี้เรียกว่ารวนหรือ?”
“แล้ววันนี้
เอ็งมาทำไมบนกุฏินี่?”
“ก็มาถามปัญหาบางอย่างกับท่านสมภารองค์ใหม่
คนอย่างฉันนี่ไม่มีสิทธิจะเข้าวัดถามปัญหาธรรมะจากพระสงฆ์หรือ?”
“จะมาถามปัญหาอะไรก็เชิญถามได้”
ท่านสมภารขัดจังหวะขึ้น
“ผมอยากจะถามว่า
โอภาโสภิกขุ นั่นคือใคร เห็นเขียนชื่อประกาศอยู่หน้าวัดนั่น”
“ก็ชื่ออาตมา”
“อ้าว
ท่านไม่ได้ชื่อพระมหาสว่างดอกหรือ?”
“โอภาโส
เป็นนามฉายาของฉัน เป็นชื่อทางพระ ไม่ใช่ชื่อฆราวาส ฉันบวชเป็นพระ ฉันก็ใช้ชื่อทางพระ”
“ก็ใบตราตั้งของท่านใช้ชื่อว่าตั้งพระมหาสว่าง
โอภาโส มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ ไม่ได้ตั้งโอภาโสภิกขุ นี่ครับท่าน การใช้ชื่อฉายาแทนชื่อตัวอย่างนี้
จะชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือ?”
“นี่แน่ะ
ฉันจะบอกให้เอาบุญนะ” พระมหาสว่างเริ่มระงับอารมณ์ไม่อยู่
“คนที่มาบวชอยู่ในเพศภิกษุนี้ ถือว่าสละบ้านสละลูกเมียพ่อแม่ ทรัพย์สมบัติหมด
พ้นจากเพศฆราวาสมาเข้าสู่เพศภิกษุ ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว
อุปัชฌาย์ท่านก็ตั้งชื่อใหม่ทางพระให้เป็นภาษาบาลี
ภิกษุต้องพ้นชื่อเก่านามเก่ามาใช้ชื่อใหม่นามใหม่ จึงจะถูกต้อง ที่ภิกษุยังใช้ชื่อเดิม
นามสกุลเดิมอยู่นั้นผิดธรรมเนียมครั้งพุทธกาล แต่เราใช้ผิดๆ กันมานาน
บัดนี้ก็ใช้ถูกกันครึ่งหนึ่ง คือใช้ชื่อเดิมตามด้วยฉายา
จะให้ถูกต้องใช้แต่นามฉายาเท่านั้น ฉันจึงมาคิดปฏิวัติใช้ให้ถูกต้องเสียที
ฉันจึงใช้ชื่อว่า โอภาโสภิกขุ เข้าใจหรือยัง คนเราจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร
ต้องศึกษาเสียให้ถูกต้องถ่องแท้ก่อน”
“เข้าใจละข้อนั้น
ผมเข้าใจดีแล้ว ว่านามฉายาเป็นนามใหม่ของภิกษุ แต่การที่ท่านได้รับแต่งตั้งมาเป็นสมภารวัดนี้
ได้รับแต่งตั้งในนามของพระมหาสว่าง โอภาโส ไม่ใช่ตั้งในนามของโอภาโสภิกขุ การที่ท่านจะทำนิติกรรมอะไรในฐานะนิติบุคคลตัวแทนของวัด
ต้องทำในนามของพระมหาสว่าง โอภาโส จึงจะถูกต้อง จะใช้ชื่อฉายา โอภาโสภิกขุไม่ได้ กฎหมายยังไม่ยอมรับ
เพราะฉะนั้นท่านต้องใช้ชื่อเดิมของท่านประกอบกับนามฉายา
จึงจะเป็นเจ้าอาวาสที่ถูกต้อง ผมว่ายังงี้”
“มันเป็นชื่อฉายาของฉัน
พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ ฉันรับรู้เองแล้วว่าชื่อนี้เป็นชื่อของฉัน ฉันมีสิทธิใช้ได้
คนอื่นไม่เกี่ยว”
“เกี่ยวซีครับ
ทำไมจะไม่เกี่ยว ก็ท่านมาเป็นสมภารวัดโพธิขวาง
วัดนี้เป็นของประชาชน ท่านทำอะไรในนามของทางวัด ประชาชนต้องยอมรับ ถ้าท่านเป็นพระลูกวัดธรรมดา
ท่านจะใช้ชื่ออะไรผมก็ไม่เกี่ยวข้อง แต่นี่ท่านมีตำแหน่งแต่งตั้งเป็นสมภารวัดนี้
ท่านจะใช้ชื่อตามใจชอบที่กฎหมายไม่ยอมรับรู้ไม่ได้” นายเงื่อนตีโวหารเต็มที่
“ไม่สำคัญ
เพราะฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ฉันไม่ได้ทำสัญญานิติกรรมอะไร”
“ทำไมจะไม่เป็นนิติกรรมครับ
ท่านพิมพ์ฎีกาบอกบุญไปเรื่องทอดผ้าป่า ท่านใช้ชื่อวัด ท่านลงตำแหน่งสมภารวัด
ท่านได้เงินมา ทำไมจะไม่เกิดนิติกรรม ท่านลองคดโกงซีครับ
ตำรวจจะไม่จับท่านมีหรือ แต่จะเกิดปัญหาหลอกลวงประชาชนขึ้น
เพราะประชาชนไม่รู้จักโอภาโสภิกขุ”
สมภารหนุ่มนิ่งอึ้ง
“อีกอย่างหนึ่งนะครับ ผมจะบอกให้ ท่านยังไม่ได้เป็นพระดังระดับประเทศ
ในทางนักเขียน นักเทศน์ นักปาฐก อย่างท่านปัญญานันทะภิกขุ หรือกิตติวุฑโฒภิกขุ อย่างนั้นท่านใช้ฉายาได้ เพราะเป็นกิจส่วนตัว
คนทั่วไปก็รู้จักดีแล้ว แต่อย่างท่านนี้เป็นสมภารวัดบ้านนอกตั้งอยู่ในระดับวัดระดับตำบลเท่านั้น
ยังไม่มีใครรู้จัก ไม่มีคนยอมรับนับถือ
แล้วยังจะเอามาใช้ในตำแหน่งหน้าที่สมภารเจ้าวัดด้วย ยิ่งไม่ถูกต้องใหญ่”
“ไม่มีใครรู้จักชื่อเราตั้งแต่เกิดหรอก
ใช้ไปนานๆ เข้าเขาก็รู้จักยอมรับเอง” สมภารพยายามโต้
“อีกอย่างหนึ่งนะ
ท่านมาเป็นสมภารวัดบ้านนอก ท่านควรจะทำอะไรให้เหมือนๆ เขา อย่างสมภารเจ้าวัดทั้งหลายเขาทำกัน
เขาไม่เห็นจะต้องออกชื่อฉายาอะไร ใครจะเรียกว่าท่านมหา หลวงน้า หลวงลุง หลวงพ่อ
อะไรท่านก็ไม่ว่า การอยู่ในบ้านนอกนี้ท่านว่า
“ไม้สูงกว่าแม่มักจะแพ้ลมบน คนสูงกว่าคนมักจะหักกลางคัน”
ทำไมท่านมหาจะต้องมาทำอะไรให้มันผิดหูผิดตาชาวบ้านเขา”
“นี่มันเรื่องส่วนตัวของฉัน”
“ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวซีครับ
ท่านทำท่านใช้ในนามของสมภารวัดโพธิขวาง ผมเป็นคนตำบลนี้ เป็นเจ้าของวัดนี้ด้วย
มันกระทบกระเทือนถึงผม เขาจะพูดกันว่า สมภารวัดโพธิขวางของผมทำอะไรขวางๆ
ผมก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย”
“เฮ้ย
เงื่อน บาปกรรมเปล่าๆ เอ็งมาว่าพระว่าสงฆ์”
“ผมไม่ได้ว่า
แต่ผมพูดเตือนให้รู้ถูกรู้ผิด”
“เอ็งไม่มีหน้าที่สั่งสอนพระ
ผู้ใหญ่ทางคณะสงฆ์ท่านมีอยู่แล้ว”
“ก็เพราะเหตุว่า
พระผู้ใหญ่ปล่อยกันน่ะซี ไม่เอาธุระบริหารกิจการคณะสงฆ์ ผมจึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย”
“ถึงอย่างไร
เอ็งก็ไม่รู้อะไรวิเศษวิโสกว่าท่านหรอก ท่านเป็นมหาเปรียญ เอ็งไม่ได้เป็นเปรียญ”
กำนันพยายามโต้แย้งแทน ช่วยรักษาหน้าสมภาร
“ผมก็ไม่ได้อวดรู้อวดวิเศษอะไร
แต่พระมหาเปรียญก็ไม่ได้รู้ทั้งคดีโลกคดีธรรม อาจรู้ทางคดีธรรม แต่คดีโลกไม่รู้
ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมความนิยมของชาวบ้าน ผมพูดนี่ก็พูดทางคดีโลกให้ท่านฟังรับรู้เอาไว้”
“เอาละ
เอ็งมีธุระอะไรอีก?”
“เรื่องทอดผ้าป่าว่ายังไงกัน?”
“เอ็งไม่ทอดก็ไม่ต้องยุ่งเกี่ยว
ทายกทายิกาเขาจะไปทอดกันวันที่ ๑๑ เดือนเมษายน
จะไปรดน้ำสงกรานต์ท่านเจ้าคณะจังหวัดด้วย”
“นี่แหละอีกเรื่องหนึ่ง ที่ท่านสมภารกำลังจะฝืนคดีโลก
ฝืนกระแสธารความคิดของคนหมู่มาก ก็คน ๙๗
คน เห็นด้วย ๒๐ คน ไม่เห็นด้วย ๗๗ คน ท่านยังจะฝืนทำ”
“ฉันจะทำบุญของฉัน
คนอื่นไม่เกี่ยว”
“เอ ท่านจะเข้าใจผิดเสียแล้ว แม้แต่คดีธรรม การถือบวชเป็นภิกษุนี้
ท่านก็ถือว่าเป็นบุญกุศลสูงสุด ไม่มีอะไรเทียบอยู่แล้ว ทำไมท่านจึงจะไปทำบุญทอดผ้าป่า
อันเป็นเศษเลยของบุญกุศลอยู่อีก”
“ฉันบอกแล้วว่า
ฉันจะทำบุญของฉัน คนอื่นไม่เกี่ยว” สมภารหนุ่มสุดจะทนทานไหว
“เกี่ยวซีครับ ทำไมจะไม่เกี่ยว ก็การทอดผ้าป่านี้มันเป็นวิธีการหาเงินหลอกลวงชาวบ้านผู้โง่เขลา”
“ทอดผ้าป่าหลอกลวงยังไง”
“ทอดผ้าป่าน่ะไม่หลอกลวงหรอก
แต่การทอดผ้าป่าหาเงินนี่แหละหลอกลวงชาวบ้านละครับ”
“เลิกพูดกัน
คุณไปได้แล้ว ไม่ไปฉันจะแจ้งความฐานบุกรุก
กำนันเป็นพยาน”
“เฮ้ย
อ้ายเขียน อ้ายผัน เป็นพยานกู กูมานั่งพูดโดยเรียบร้อย
เราทุกคนไม่มีอาวุธ วัดเป็นที่สาธารณสถาน เรามีสิทธิมาได้เสมอ หรือว่าไงกำนัน”
ว่าแล้วนายเงื่อนก็ลุกขึ้น
เดินลงบันไดไปพร้อมกับเพื่อนคู่หูอีก ๒ คน
(ติดตามอ่านต่อ ตอน ๔)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น