วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๔ ...พญามารมาผจญ


โพธิขวาง

๔. พญามารมาผจญ


บุหรง สุนทรบุรี ได้รับลิขิตฉบับหนึ่งจากพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดโพธิขวาง ให้ไปหาสักหน่อย ว่ามีธุระสำคัญจะหารือ  บุหรง ศึกษาธิการอำเภอ จึงเดินทางไปยังวัดโพธิขวางบ่ายวันนั้น พร้อมด้วยเสมียนติดตามอีกคนหนึ่ง  เมื่อไปถึงท่านพระครูญาณวิสุทธิ์ก็เรียกเข้าไปพบในห้อง พูดกันสองต่อสอง ไม่มีใครได้ยิน
“ฉันมีธุระสำคัญจะขอพูดด้วย ขอให้ถือเป็นความลับนะจ๊ะ” ท่านพระครูเอ่ยขึ้น
“ผมรับรอง ขอสาบานต่อหน้าพระ ว่าจะรักษาความลับไว้”
“คือว่ายังงี้จ้ะ  ในคอระฆังเจดีย์ใหญ่หน้าโบสถ์นั้นน่ะ มีพระสมเด็จอยู่ในขวดโหลใหญ่จำนวนหนึ่ง เจ้าของท่านมาขอให้ฉันเอาออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้ศรัทธาเลื่อมใส เอาเงินมาสมทบทุนสร้างโบสถ์ต่อไป”
“มีมากไหมหลวงพ่อ?”
“ฉันก็ไม่ทราบจำนวน”
“ใครเอามาบรรจุไว้ครับ?”
“ฉันก็ไม่ทราบเหมือนกัน”
“แล้วหลวงพ่อทราบได้อย่างไรว่ามีอยู่”
“เจ้าของท่านบอกจ้ะ”
“เจ้าของท่านคือใครครับ?”
“สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆังจ้ะ”
“เอ๊ะ ก็สมเด็จท่านมรณภาพไปนานแล้ว”
“ท่านมาปรากฏตัวให้เห็นจ้ะ”
“ในฝันหรือครับ”
“ในฌานจ้ะ ในจตุตถฌาน”
“จตุตถฌาน?”
“จ้ะ ฌานมี ๕ ฌานนะจ๊ะ  ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน” หลวงพ่อพูดช้าๆ “ปฐมฌาน คือฌานชั้นต้น ประกอบด้วย วิตก-ตรึก วิจาร-ตรอง ปีติ-อิ่มใจ สุข-สุขใจ เอกัคคตา-นิ่งเป็นหนึ่งไม่มีสอง”
“หลวงพ่อเข้าฌานแล้วเห็นได้?”
“เข้าฌาน ถึงจตุตถฌาน  สมเด็จท่านปรากฏกายให้เห็น สั่งให้ฉันเอาพระสมเด็จมาจำหน่ายแก่ผู้ศรัทธา เอาเงินไว้สร้างโบสถ์  ท่านปรารถนาจะบำเพ็ญบุญ”
“หลวงพ่อทราบได้อย่างไรว่าเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์?”
“ฉันทราบในขณะท่านมาปรากฏตัวนั่นแหละจ้ะ”
“ท่านบอกชื่อท่านหรือครับ”
“ท่านไม่ได้บอก แต่ทราบได้ในขณะที่ฉันเห็นนั่นแหละ”
“ท่านรูปร่างเป็นอย่างไรครับ?”
“เป็นพระสงฆ์ชราภาพแล้ว ห่มจีวรสีกรัก  มายืนอยู่ตรงหน้า สั่งให้ฉันไปเอาพระสมเด็จในคอระฆังเจดีย์หน้าโบสถ์มาจัดการจำหน่ายแก่ผู้ศรัทธา เอาเงินมาสร้างโบสถ์”
“หลวงพ่อแน่ใจหรือว่ามีพระสมเด็จอยู่จริง?”
“มีจ้ะ มีแน่จ้ะ”
“หลวงพ่อจะให้ผมทำยังไง?”
“ฉันถามท่านว่า จะให้ผมทำอย่างไร  ท่านก็ตอบว่า แล้วท่านพระครูก็นึกออกเองแหละจ้ะ”
“แล้วหลวงพ่อนึกว่าจะทำยังไง?”
“ฉันก็นึกเห็นหน้าคนอยู่ ๓ คน  คือคุณธรรมการคนหนึ่ง กำนันเชื้อคนหนึ่ง นายเงื่อนคนหนึ่ง จะเป็นผู้จัดการแทนฉันให้เรียบร้อยตามความปรารถนาของสมเด็จท่านได้”
“หลวงพ่อจะให้จัดการอย่างไรต่อไปครับ?”
“พรุ่งนี้ตอนสายๆ ฉันจะนัดมาพร้อมกันทั้ง ๓ คน ให้ปรึกษาหารือกันจัดการเรื่องนี้  ขอให้คุณธรรมการมาที่วัดนี้อีกสักหนหนึ่ง”
“แล้วท่านพระมหาสว่าง เจ้าอาวาสจะว่าอย่างไรครับ?”
“ฉันเห็นว่าจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ขัดขวางความประสงค์ของสมเด็จท่าน  จะเอาเงินไปใช้จ่ายผิดความปรารถนาของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ”
“นายเงื่อนเป็นใครครับ?”
“นายเงื่อนเป็นคนตำบลนี้ เป็นคนตรง พูดจาโผงผาง ไม่ยอมใคร  เขาไม่เชื่อหรอกเรื่องพระเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาจะได้เป็นปากเสียงจัดการให้ตรงไปตรงมา  อย่าพูดให้เขาฟังว่าฉันรู้ได้อย่างไร ฉันจะบอกว่าฉันฝันเห็น  ที่จริงก็เหมือนฝันน่ะแหละจ้ะ”
“กำนันเชื้อเป็นคนอย่างไรครับ?”
“กำนันเชื้อเป็นคนที่เข้าทางฝ่ายสมภารใหม่ได้ จะได้เป็นปากเสียงแทนทางฝ่ายสมภาร  เป็นคนรู้ระเบียบงานอยู่บ้างพอจะอาศัยได้”
“มีกรรมการหลายๆ คน ไม่ดีกว่าหรือครับ?”
“ไม่ดีหรอกจ้ะ จะเกิดการรวนเรยุ่งยากทีหลัง”
“มีพระสมเด็จแน่นะครับ?”
“มีซิจ๊ะ”
“พระสมเด็จแท้นะครับ?”
“แท้ซิจ๊ะ”
“ผมยังไม่เคยมีพระสมเด็จแท้สักองค์ คราวนี้คงจะได้ไว้บูชา”
หลวงพ่อควักย่าม หยิบเอาพระสมเด็จวัดระฆังขึ้นมาให้บุหรงดูหนึ่งองค์ ใส่ตลับไว้ มีสำลีรอง ดูท่านทะนุถนอมมาก
“พระสมเด็จต้องพิมพ์นี้ เนื้ออย่างนี้” พลางส่งให้บุหรงชม พระนั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อสีขาวอมเหลือง งดงามมาก
“หลวงพ่อได้มาอย่างไรครับ?”
“สมเด็จท่านปรากฏตัวให้เห็น อนุญาตให้มีอยู่ที่วัดนี้เอง กองรวมอยู่ในพานหน้าพระพุทธรูป”
บุหรงกลับมาวันนั้น ตกกลางคืนก็นอนไม่ค่อยหลับ นึกถึงแต่เรื่องพระสมเด็จว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เป็นพระสมเด็จแท้หรือว่าใครทำปลอมขึ้นใหม่อย่างไร  บุหรงไม่ได้สวดมนต์ก่อนนอนมานานแล้ว คืนนั้นจึงจุดธูปเทียนบูชาพระ สวดมนต์อธิษฐานว่า ถ้าเป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง พระภิกษุมีชื่อทำไว้แท้จริงแล้ว จะขอเอามาบูชาสักองค์ จะต้องบริจาคเงินสร้างโบสถ์สักเท่าไรก็ยินดีบริจาค แล้วก็นอนหลับไป
คืนนั้นประมาณตี ๕ บุหรงกำลังเคลิ้มหลับก็ฝันประหลาด  ฝันว่ามีพระภิกษุแก่องค์หนึ่ง ห่มจีวรสีคล้ำ มายืนอยู่ที่หัวเตียงนอน พูดว่า “พระแท้ หายาก”  รู้สึกประหลาดอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ในฝันนั้นก็นึกได้ว่าพระองค์นั้นคือสมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง รู้ได้ด้วยใจของตนในขณะฝันเห็น ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้บอก  บุหรงมั่นใจว่าวันนี้จะได้พบพระเครื่องสมเด็จแน่นอน
บุหรงตรงไปที่ห้องสมุดประชาชน ค้นหนังสือเกี่ยวกับประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และพระเครื่องสมเด็จที่ท่านได้สร้างไว้  ได้พบหนังสือที่ “ตรียัมปวาย” เขียนไว้  มีทั้งประวัติ รูปภาพ และรูปพระเครื่องสมเด็จ  บุหรงรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่รูปภาพสมเด็จในหนังสือนั้น เหมือนอย่างที่เห็นในความฝันไม่มีผิดเพี้ยนเลย
บุหรงนึกถึงมูลเหตุแห่งฝันที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่ามี ๔ อย่าง คือ
๑. บุพนิมิต          - เห็นนิมิตล่วงหน้า
๒. จิตนิวรณ์         - จิตมีนิวรณ์พัวพัน
๓. เทพสังหรณ์     - เทวดาเข้ามาบอกข่าว
๔. อุทรวิการ                - ท้องไม่ดี
ใน ๔ ประการนี้ ท่านว่าประการที่ ๑ และที่ ๓ เป็นความฝันที่แม่นยำ  ประการที่ ๑ นั้นเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ประการที่ ๓ นั้น เทวดาเข้ามาสำแดงนิมิตสังหรณ์ใจในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น  บุหรงเข้าใจว่าจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองประการนี้ บุหรงได้นำหนังสือเล่มนั้นไปวัดโพธิขวางด้วย
เมื่อไปถึงที่วัด ก็แลเห็นกำนันเชื้อ และนายเงื่อน มานั่งคอยอยู่ก่อนแล้วที่กุฏิหลวงพ่อ  เมื่อได้กราบนมัสการและทักทายกันตามธรรมเนียมแล้ว หลวงพ่อก็เอ่ยขึ้น
“ฉันนิมิตเห็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ท่านมาบอกให้ไปเอาพระสมเด็จที่บรรจุไว้บนคอระฆังที่เจดีย์องค์ใหญ่หน้าโบสถ์  เอามาจำหน่ายจ่ายแจกแก่ผู้ศรัทธาเอาไปสักการบูชา เพื่อจะได้เอาเงินมาเตรียมไว้สำหรับสร้างโบสถ์ใหม่  ไม่ให้เอาไปใช้ในกิจการอย่างอื่นเป็นอันขาด  ในนิมิตนั้นฉันก็นึกเห็นหน้าของท่านทั้ง ๓ คนนี้ คือคุณธรรมการอำเภอ ท่านกำนันเชื้อ แล้วก็นายเงื่อน  ว่าเป็นผู้ที่ซื่อตรง มีสัตย์สุจริต ยุติธรรม  ที่จะเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าประคุณสมเด็จท่านได้  ฉันจึงได้เชื้อเชิญมาบอกเล่าให้ทราบ สุดแต่ว่าทั้งสามท่านจะปรึกษาหารือกันทำการอย่างไร  ฉันขอมอบภาระให้จัดการให้เป็นไปอย่างสุจริตยุติธรรม”
“หลวงพ่อฝันเห็นใช่ไหม?” นายเงื่อนถาม
“ก็ยังงั้นแหละจ้ะ”
“หลวงพ่อแน่ใจหรือว่าจะจริง?”
“เดี๋ยวก็ค่อยไปดูเอาซีจ๊ะ”
“หลวงพ่อเอาไปบรรจุไว้ตั้งแต่เมื่อไร?”
“ฉันไม่ได้บรรจุไว้หรอกจ้ะ”
“ถ้างั้นทำไมหลวงพ่อทราบ ทำไมถึงแน่ใจว่ามีพระสมเด็จอยู่?” นายเงื่อนตั้งกระทู้ถามหลวงพ่อ “ไม่ต้องรื้อเจดีย์กันหรือ ถ้ารื้อไม่มีพระแล้วใครจะรับผิดชอบ?”
“ไม่ต้องรื้อหรอกจ้ะ ขึ้นไปถึงคอระฆังก็มีช่องอยู่ เปิดแผ่นอิฐออกก็เอามือล้วงลงไปเอาขวดโหลขึ้นมาเท่านั้น”
“แหม หลวงพ่อพูด ยังกะเอาขึ้นไปบรรจุไว้เอง” นายเงื่อนตั้งข้อสงสัย
“ฉันไม่เคยขึ้นไปหรอกจ้ะ ฉันกลัวตกลงมา”
กำนันเชื้อออกความเห็นว่า ควรจะไปบอกสมภารให้รับรู้ไว้ด้วย เพราะเป็นทรัพย์สินของวัด เดี๋ยวจะมีปัญหาขึ้นภายหลัง
แต่บุหรง สุนทรบุรี บอกว่า  ถ้าเป็นของเก่าขนาด ๑๐๐ ปี ก็เป็นโบราณวัตถุ เป็นสมบัติของแผ่นดิน ทางราชการมีหน้าที่ดูแลรักษา ไม่ใช่ทรัพย์สินของวัด  ไปนมัสการให้ท่านสมภารมารับทราบด้วยก็ได้  จึงให้คนไปตามมาพร้อมกัน แล้วก็พากันไปที่เจดีย์หน้าโบสถ์ ๔ คนด้วยกัน  หลวงพ่อเพ็งไม่ไปด้วย ว่าเอามาดูกันที่กุฏินี่ก็แล้วกัน
เมื่อไปถึงหน้าอุโบสถ ก็เห็นเจดีย์ใหญ่ สูงตั้งแต่พื้นดินถึงยอดประมาณ ๖ วา ถึงคอระฆังประมาณ ๕ วา  นายเงื่อนเป็นผู้รับอาสาปีนขึ้นไปดู  แต่เจดีย์ไม่มีบันไดสำหรับขึ้นไป จึงต้องค่อยๆ ปีนขึ้นไปตามปล้องเจดีย์  แต่พอนายเงื่อนปีนขึ้นไปได้เกือบถึงคอระฆังเท่านั้นก็ลื่นไถลตกลงมา นอนนิ่งอยู่กับพื้น  บุหรงและกำนันเชื้อตกใจ กำนันเชื้อวิ่งไปดู ประคองให้ลุกขึ้นมา  ก็ปรากฏว่านายเงื่อนมีบาดแผล ปากและคางครูดกับเจดีย์มีบาดแผลเลือดไหล  กำนันเชื้ออุทานว่า
“ท่านว่าแล้ว ข้านึกแล้วไม่มีผิดเลย”
“ทำไมท่านกำนัน?”
“ก็เมื่อตะกี้ ท่านศึกษาไม่ได้ยินหรือ  ที่นายเงื่อนพูดว่า หลวงพ่อพูดเหมือนเคยขึ้นไปบรรจุไว้เอง หลวงพ่อว่าฉันไม่เคยขึ้น ฉันกลัวตกลงมา  แล้วมันตกลงมาเหมือนปากว่าไหมล่ะ ทันตาเห็น ยังกะปากพระร่วง”
ต้องนำนายเงื่อนไปเช็ดเลือดทำบาดแผลกัน ก่อนหาบันไดมาพาดปีนกันใหม่  คราวนี้ท่านมหาสว่างรับอาสาปีนขึ้นไปเอง สักครู่ก็ได้ขวดโหลขนาดใหญ่ เป็นขวดโหลแบบโบราณ เป็นแก้วสีขาวปนน้ำเงินใส มีฝาปิดเรียบร้อย  ค่อยๆ อุ้มประคองถอยหลังลงมาถึงพื้น ครั้นแล้วท่านสมภารหนุ่มก็อุ้มขวดโหลพาเดินดุ่ม ออกจากเจดีย์มุ่งหน้าขึ้นกุฏิ  บุหรงและกำนันเชื้อเดินตามติดมาด้วยความตื่นเต้น เมื่อเห็นสมภารหนุ่มเดินเลี้ยวซ้ายจะไปยังกุฏิของท่าน กำนันก็ร้องขึ้น
“ช้าก่อนท่านมหา ต้องเอาไปถวายหลวงพ่อดูก่อน ท่านเป็นคนฝันเห็น ท่านเป็นคนบอกให้มาเอา”
“ฉันเป็นเจ้าอาวาส ฉันมีสิทธิ  ของนี้อยู่ในวัด เป็นสิทธิของสมภาร” ท่านมหาสว่างโต้แย้งพลางเดินหนี
บุหรงเห็นท่าไม่ดี จึงเดินขวางหน้าสมภารหนุ่ม พูดขึ้นว่า
“ของนี้เป็นโบราณวัตถุ เป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ทางราชการต้องเก็บรักษา  ท่านจะเอาไปไม่ได้ครับ ผิดกฎหมาย”
ขณะนั้นนายเงื่อน ก็เดินเข้ามา คว้าขวดโหลในมือเจ้าอาวาสได้ ก็เดินตรงไปยังกุฏิท่านพระครูญาณวิสุทธิ์  พระมหาสว่าง บุหรง และกำนันจึงเดินตามไปติดๆ  นายเงื่อนเอาขวดโหลไปตั้งไว้ตรงหน้าพระครูญาณวิสุทธิ์ ทุกคนนั่งลงพร้อมกัน  นายเงื่อนเปิดฝาขวดโลกออก หยิบเอาวัตถุชิ้นหนึ่งออกมา เป็นกระดาษสมุดข่อยสีดำ เขียนตัวอักษรสีเหลือง ที่เรียกว่าสีรงค์  อ่านได้ความว่า
“พุทธศก ๒๓๙๗
พระอุปัชฌาย์เอี่ยม
ประจุไว้ในพระศาสนา”
บุหรงรีบคว้าเอามาถือไว้ อ่านแล้วอ่านอีกด้วยความสนใจ
นายเงื่อนเอามือล้วงลงไปหยิบพระเครื่องที่บรรจุไว้ขึ้นมา ๓ องค์ ชูให้ดูกัน   กำนันเชื้อคว้าเอาไป ๑ องค์ นายเงื่อนถือไว้ ๑ องค์ พระมหาสว่างคว้าไป ๑ องค์
“ปิดขวดโหลไว้ก่อน ดูกันเพียง ๓ องค์ก่อน” บุหรงร้องขึ้น “ดูให้รู้ว่าเป็นพระอะไร สมัยไหน” พลางก็เอื้อมมือไปขอองค์ที่นายเงื่อนมาพิจารณา
“พระสมเด็จ” บุหรงร้องขึ้น “นี่ดูแบบในตำรานี่เห็นไหม” พลางก็เปิดหนังสือขึ้นชี้ให้ดูรูปภาพในหนังสือ “พระสมเด็จทรงเจดีย์”
“เนื้อก็เก่ามาก พิมพ์ก็ใช่” พระมหาสว่างดูอยู่ครู่หนึ่ง ก็กล่าวรับรอง “ไหนเอาออกมานับดูซิว่ามีกี่องค์”
“เดี๋ยวช้าก่อน เอาผ้ามาปูเข้า แล้วค่อยๆ หยิบออกมานับทีละองค์ เอามาวางเรียงกันเข้า”
กำนันลุกไปคว้าเอาผ้าจีวรของหลวงพ่อที่วางอยู่ใกล้มือมาพับปูวางเข้า  บุหรงคว้าเอาขวดโหลมา ค่อยๆ หยิบพระเอามาวางเรียงเข้าทีละองค์  แต่พระนั้นวางทับถมอยู่นานปีเต็มที บางองค์จึงจับเกาะติดกันแน่น  เมื่อนับรวมทั้งหมดจึงได้จำนวน ๓๙๕ องค์ “ต้องเอารวมไว้ก่อน ใครจะเอาไปไม่ได้”
กำนันเชื้อ ควักกระเป๋าเสื้อเอามาคืนไว้ พระมหาสว่างยังนิ่งเฉยอยู่
“อยู่ที่ท่านมหาอีกองค์หนึ่งใช่ไหมครับ ขอคืนมาก่อน”
พระมหาสว่างนิ่งมองหน้าศึกษาธิการอำเภอ
“อยู่ที่ฉันไม่ไปไหน”
“ไม่ได้ครับ เอาคืนมาก่อน  เพื่อความยุติธรรม ใครยังเอาไปไม่ได้  ผมก็ไม่เอา กำนันก็ไม่เอา”
พระมหาสว่างจึงหยิบพระส่งคืนให้
“รวมพระทั้งหมดในขวดโหล มี ๓๙๗ องค์” บุหรงประกาศ “ในสมุดข่อย บอกไว้ว่าพุทธศก ๒๓๙๗  คงจะมาจากเลขท้าย ๓ ตัวพุทธศักราชนี้เอง  แต่สงสัยว่า พระอุปัชฌาย์เอี่ยมนี่เป็นใคร  ไม่ใช่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)”
“หลวงพ่อเอี่ยมเป็นสมภารวัดนี้” หลวงพ่อเพ็งพูดขึ้น “เท่าที่ฉันทราบ หลวงพ่อเอี่ยมปกครองวัดอยู่ ๓๕ ปี  หลวงพ่อช่วง ๑๘ ปี  สมภารปลั่งครองอยู่ ๑๖ ปี  หลวงพ่อผ่องปกครองต่อมาอีก ๓๐ ปี  สมภารแจ่มปกครองอยู่ ๓ ปี  แล้วฉันก็เป็นสมภารมาอีก ๓๐ ปีเข้าปีนี้”
“เดี๋ยวๆ คำนวณเวลาดูก่อน ๓๕ ปี ๑๘ ปี ๑๖ ปี ๓๐ ปี ๓ ปี ๓๐ ปี  รวมกันได้ ๑๓๒ ปี” บุหรงพูดพลางค้นประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต “สมเด็จท่านสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ นับถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ นี่ได้เท่าไร”
“๑๐๔ ปี” พระมหาสว่างตอบ
“บรรจุ พ.ศ. ๒๓๙๗ ถึงปีนี้ได้เท่าไร?”
“๑๓๒ ปี” พระมหาสว่างตอบ
“ถ้าอย่างนั้นก็ถูกต้อง  หลวงพ่อเอี่ยม ต้องเป็นผู้เอามาบรรจุไว้เมื่อท่านเป็นสมภารวัดนี้”
“หลวงพ่อเอี่ยม เอามาจากไหน?” บุหรงพูดขึ้น “เป็นพระมาจากไหน หลวงพ่อทราบไหมครับ?”
“ฉันทราบว่า เป็นพระลูกศิษย์สมเด็จ มาจากวัดระฆัง ธนบุรี  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้”
“เห็นจะไม่ผิดหรอก เป็นพระสมเด็จแน่”
“หลวงพ่อเอี่ยม อาจทำขึ้นเองก็ได้” นายเงื่อนพูด
“ถ้าทำเอง ก็ต้องทำมากกว่านี้ ต้องบรรจุไว้มากกว่านี้  เช่น ๒,๓๙๗ องค์ เท่าจำนวน พ.ศ. ที่บรรจุ” บุหรงแย้ง
“ท่านอาจจะแจกไปไม่หมด บรรจุเท่าที่เหลือ” นายเงื่อนให้เหตุผลคัดค้าน
“ถ้าอย่างนั้นต้องพิสูจน์เนื้อและพิมพ์” บุหรงพูด “หลวงพ่อ ผมขอดูพระสมเด็จของหลวงพ่อมาเปรียบดูหน่อย” หลวงพ่อลุกขึ้นไปหยิบเอาย่ามมาล้วงเอาตลับพระสมเด็จส่งให้
“อ๋อ หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ ยังพกพระสมเด็จ?” นายเงื่อนพูดขึ้น
“จ้ะ ฉันเคารพท่านมาก ปฏิปทาของท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์หนึ่ง น่าเคารพกราบไหว้มาก” หลวงพ่อตอบ “การบวชเป็นพระนี่นะจ๊ะ ก็ต้องมีที่พึ่งที่ระลึก  คือพระบรมศาสดา ๑ พระธรรม ๑ แล้วก็พระอริยสงฆ์ ๑  ต้องนับถือพระรัตนตรัย”
บุหรงรับเอาพระสมเด็จจากพระครูญาณวิสุทธิ์ มาส่องกล้องดู แล้วก็เอาพระสมเด็จจากที่กองอยู่ตรงหน้ามาส่องดูอย่างพินิจพิเคราะห์  ก็บอกว่าเป็นพระพิมพ์เนื้อเดียวกัน เนื้อเดียวกันไม่มีผิด “เป็นวัตถุหาค่ามิได้” บุหรงพูดขึ้น
“แล้วนี่จะจัดการอย่างไรต่อไป?” พระมหาสว่างพูดขึ้น
“ขอกระดาษฟุลสแก๊ปผมสักแผ่น” บุหรงพูด  เมื่อกำนันไปหยิบมาให้แล้ว บุหรงก็ลงมือเขียน

เขียนที่วัดโพธิขวาง
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐
บันทึกนี้ทำไว้เพื่อแสดงว่า วันนี้เวลา ๐๙.๐๐ น.  นายบุหรง สุนทรบุรี ศึกษาธิการอำเภอ  นายเชื้อ ชาติสีแดง กำนัน  นายเงื่อน สุขสันโดษ ราษฎร  ได้พร้อมกันมาเปิดกรุเจดีย์เก่าวัดโพธิขวาง  ซึ่งพระครูญาณวิสุทธิ์ (เพ็ง) เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ เป็นผู้แจ้งว่ามีพระเครื่องพิมพ์สมเด็จจำนวนหนึ่งบรรจุอยู่  โดยพระครูญาณวิสุทธิ์นิมิตว่า เจ้าของแต่โบราณบอกให้นำมาจำหน่ายจ่ายแจกแก่ผู้ศรัทธาเลื่อมใสนำเอาไปบูชา และนำเงินที่มีผู้บริจาคทำบุญตอบแทนนั้น เอาไปเพื่อเตรียมการสร้างอุโบสถหลังใหม่ ที่จะทำการก่อสร้างขึ้นในโอกาสหน้า  ไม่ให้นำเอาไปใช้ในกิจการอันซึ่งผิดตามความประสงค์ของเจ้าของ  เมื่อได้ทำการตรวจตรานับจำนวนแล้ว มีพระสมเด็จอยู่ ๓๙๗ องค์  ได้ลงมติว่าให้นำพระจำนวนนี้ไปฝากธนาคารเก็บรักษาไว้ก่อน จนกว่าจะได้ประกาศให้ผู้มีศรัทธานำเงินมาแลกเปลี่ยนเอาไปบูชา  โดยตีค่าบูชาพระองค์ละ .............. บาท เป็นอย่างต่ำ  เมื่อได้เงินค่าบูชาพระมาจำนวนเท่าใด ให้นำเงินนับฝากธนาคารไว้ ในนามของบุคคลทั้งสามที่กล่าวนามแล้วข้างต้น  ถ้ามีเหตุผลทางกฎหมายของบ้านเมือง เห็นว่าวัตถุนี้เป็นโบราณวัตถุ ควรจะตกเป็นของกรมศิลปากรเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  จึงลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ และพระมหาสว่าง โอภาโส เจ้าอาวาสวัดโพธิขวาง
ลงชื่อ บุหรง สุนทรบุรี  ศึกษาธิการอำเภอ
ลงชื่อ ......................  กำนัน
ลงชื่อ ......................  กรรมการวัด
ลงชื่อ ......................  เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์
ลงชื่อ ......................  เจ้าอาวาส

เขียนเสร็จแล้วก็อ่านให้ฟัง
“อาตมาไม่ยอม ไม่เห็นด้วย” พระมหาสว่างพูดขึ้นเมื่ออ่านจบ
“อ้าว ทำไมล่ะครับ  ท่านศึกษาทำดีที่สุดแล้วนี่” นายเงื่อนถาม
“พระจำนวนนี้เป็นสมบัติของวัด ได้จากอาณาเขตของวัด  อาตมาเป็นเจ้าอาวาส มีสิทธิเก็บรักษาแต่ผู้เดียว ใครจะเอาไปไม่ได้” พระมหาสว่างประกาศเสียงดัง
“ทรัพย์แผ่นดินครับ  โบราณวัตถุมีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี เป็นสมบัติของแผ่นดิน ใครไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ” บุหรงโต้ “ถ้าท่านมหาไม่ยอม ผมก็จะต้องยึดเอาไปเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน  ผมกับกำนันมีอำนาจปฏิบัติตามกฎหมาย”
“ขืนเอาไปอาตมาจะฟ้องฐานยักยอกทรัพย์ของวัด”
“ครับ ท่านมหาก็มีสิทธิจะฟ้องร้องได้  แต่ผมก็มีหน้าที่จะต้องนำเอาพระนี้ไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัยที่สุด  เมื่อศาลสั่งอย่างไร ผมก็จะปฏิบัติตาม”
“ท่านมหาอย่าวู่วามเลย  เดี๋ยวทางการก็จะยึดเอาเป็นทรัพย์แผ่นดินหมด วัดก็จะขาดประโยชน์ไป  เอาไว้พูดจาปรองดองกันดีกว่า ทางวัดจะได้เงินมาสร้างโบสถ์” กำนันเชื้อพูดเป็นกลาง
“พรุ่งนี้ฉันจะเรียกประชุมกรรมการวัด” พระมหาสว่างพูด
บุหรงส่งกระดาษให้กับกำนันและนายเงื่อนลงชื่อ แล้วส่งให้พระมหาสว่างเซ็น
“ฉันไม่เซ็น ฉันไม่รับทราบ” พระมหาสว่างพูด มีกิริยาขัดเคือง
“นี่ท่านพระครู ก็ยอมเขาใช่ไหม?” พระมหาสว่างถาม มองหน้าหลวงพ่อเพ็ง
“ก็ท่านศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน ทำตามกฎหมายบ้านเมือง ก็ยอมแหละครับ” ท่านพระครูตอบอย่างเรียบๆ
พระมหาสว่าง เจ้าอาวาสหนุ่ม ก็ลุกขึ้น
“ก็ให้รู้กันว่า วัดโพธิขวาง มันมีที่ขัดที่ขวาง มีมารมาผจญ” พูดแล้วก็เดินไปกุฏิ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น