วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๑๒ เทพไทอนุโมทนา


โพธิขวาง 
ตอน๑๒ เทพไทอนุโมทนา

หลวงพ่อเพ็งได้ชี้สถานที่สร้างอุโบสถใหม่เหนือต้นหว้าใหญ่ขึ้นมา หันหน้าออกถนน  หลวงพ่อให้เหตุผลว่าพระธาตุเสด็จปาฏิหาริย์มาตรงนี้ สถานที่นี้เป็นมงคลสถาน ให้วางผังสร้างโบสถ์ลงตรงนั้น  ทางทิศตะวันออกแนวเดียวกันให้วางผังสร้างศาลาธรรม  ทางทิศตะวันตกของโบสถ์ให้วางผังสร้างศาลากรรมฐาน แนวหลังของโบสถ์ มีต้นหว้าใหญ่คั่นกลาง ให้วางผังสร้างศาลาทาน
อุโบสถ อยู่กลางให้สร้างเป็นจตุรมุข มีขนาดกะทัดรัด ไม่กว้างใหญ่อะไร  ท่านบอกผู้เขียนแบบว่า
อุโบสถ เป็นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์ เช่น บวชพระ สวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ไม่ต้องการที่กว้างขวางอะไร ให้สร้างแต่พอจำนวนพระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้  โบสถ์ไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์มากเหมือนโบสถ์ฝรั่ง โบสถ์แขก”
ศาลาธรรม ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ให้จุคนได้มาก  สำหรับเป็นที่แสดงธรรม คนมาฟังเทศน์ฟังธรรมสัก ๕๐๐ คน ให้นั่งให้สบาย ทำเก้าอี้นั่งไว้ให้เรียบร้อย  คนเดี๋ยวนี้เขานั่งเก้าอี้กันทั้งนั้น จะให้เขามานั่งพับเพียบกับพื้นไม่เหมาะ คนสมัยใหม่เขาจะไม่เข้าวัดฟังธรรม ต้องทำให้เป็นที่แสดงปาฐกถาแบบสมัยใหม่ได้ด้วย  ข้างหลัง ข้างๆ รอบๆ ให้ตั้งตู้หนังสือไว้ มีโต๊ะอ่านหนังสือไว้ คนเขาจะได้นั่งอ่านหนังสือศึกษาธรรมะได้  ต่อไปให้จัดหาหนังสือธรรมะมาไว้ให้มากพอ ศาลาหลังนี้เป็นที่สำหรับศึกษาพระปริยัติธรรม”
ศาลากรรมฐาน ทางด้านซ้ายมือ ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ขนาดกว้างเท่าศาลาธรรม  เป็นที่สำหรับอุบาสกอุบาสิกามานั่งสมถกรรมฐาน  ให้สร้างเป็นศาลาชั้นเดียว ไม่ต้องมีเก้าอี้นั่ง ให้นั่งกับพื้นแบบเดิม จะได้เป็นสถานที่เหมาะกับการบำเพ็ญกรรมฐาน”
ศาลาทาน อยู่ข้างหลังอุโบสถ ให้สร้างแบบศาลาการเปรียญของเก่า แต่ให้มีชั้นเดียว ให้กว้างพอที่พระสงฆ์ทั้งวัดจะมานั่งฉันอาหาร และคนทำบุญจะมานั่งทำบุญทำทานได้  สร้างศาลาสูงๆ คนแก่คนเฒ่าจะขึ้นลำบาก ให้ทำเป็นพื้นศาลาพื้นเตี้ยๆ อยู่กับพื้นดิน ไม่ต้องยกพื้น  ด้านหนึ่งมีอาสน์สงฆ์นั่งฉันอาหาร ยกพื้นสูงขึ้น นอกนั้นให้มีเก้าอี้นั่งสำหรับคนทำบุญ ไม่ให้นั่งกับพื้น เพราะพื้นศาลาลาดซีเมนต์”
อุโบสถ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน และศาลาทาน ๔ อย่างนี้ให้ลงมือสร้างไปพร้อมๆ กันทีเดียว
นายช่างก็เขียนแบบแปลน แสดงรูปรอยการก่อสร้างแสดงขนาดกว้างยาว เอามาชี้แจงท่านจนพอใจแล้ว ก็ลงมือสร้างกันต่อไป
การสร้างดำเนินมาอย่างคึกคัก มีช่างรับเหมางานทำเป็นหลังๆ ไป  สถานที่ก่อสร้าง ๔ แห่ง มีผู้รับเหมา ๔ รายรับเหมาไป ทำสัญญาจ่ายเงินเป็นงวดๆ ไปแบบของทางราชการ  ใครไปมาเห็นเข้าก็บริจาคเงินทำบุญกันมาก  หลวงพ่อสั่งให้ทำป้ายขนาดใหญ่ไว้ที่หน้าวัด แสดงแผนผังบริเวณก่อสร้างว่า โบสถ์ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน ศาลาทาน อยู่ตรงไหน  ให้เขียนรูปอุโบสถ และศาลาทั้ง ๓ หลัง ไว้ให้คนเห็นรูปร่างว่าเป็นอย่างไร  ใครเห็นเข้าก็ตื่นเต้น เล่าลือกันด้วยความชื่นชมยินดีว่าวัดหลวงพ่อนี้ สร้างแปลกกว่าวัดอื่นๆ มองเห็นว่าจะเป็นวัดทันสมัยมาก
บริเวณด้านหลัง หลวงพ่อวางผังสร้างกุฏิสงฆ์ แยกออกเป็นหลังๆ รายกันไป ไม่ปลูกเป็นหมู่เหมือนแต่ก่อน เป็นกุฏิเรือนไม้ใต้ถุนโปร่งสูง พื้นลานซีเมนต์  ไม่มีใครเคยคิดว่าหลวงพ่อเพ็งวัย ๘๐ เศษ จะมีหัวคิดทันสมัยวางผังสร้างวัดได้อย่างนี้  ใครรู้ก็ชื่นชมยินดี บริจาคเงินให้มิได้ขาด คนจากเมืองไกลๆ รู้เรื่องก็มาบริจาคเงินรายละ ๑๐,๐๐๐ บาทก็มี ๑๐๐,๐๐๐ บาทก็มี บางรายศรัทธามาก บริจาคถึง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๑ ล้านบาทก็มี  หลายรายการก่อสร้างจึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก เงินทองไหลมาเทมาอย่างน่าอัศจรรย์ คนยิ่งเลื่องลือมาก ก็พากันมาบริจาคมากขึ้น เหรียญที่ทำไว้ก็หมดลงไม่มีจะตอบแทนผู้ทำบุญ
หลวงพ่อจึงสั่งให้พิมพ์พระสมเด็จขึ้นอีก ๘๔,๐๐๐ องค์ จัดทำพิธีพุทธาภิเษกเป็นพิธีใหญ่ที่วัดโพธิขวาง นิมนต์พระหัววัดใกล้ไกลมาสวดพุทธาภิเษกถึง ๑๐๘ รูป ให้ปลูกโรงพิธีขึ้นกลางแจ้ง คาดด้วยผ้าขาว ตั้งศาลเพียงตา มีหัวหมูบายศรีตามแบบโบราณ
“ฉันทำคนเดียวไม่ไหวหรอก ต้องเชิญเทวดาท่านลงมาช่วยทำ” หลวงพ่อว่าอย่างนี้
“เราสร้างพระปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้คนเอาไปบูชา เราไม่ได้สร้างพระพุทธเจ้า  เราสวดมนต์ตามพิธีพุทธศาสนา ให้เทวดาเขาอนุโมทนาบุญกุศล เราไม่ได้ปลุกเสกพระพุทธเจ้าหรอก”
มีผู้ถามว่า “ทำไมจึงเรียกพุทธาภิเษก?”
หลวงพ่อก็ตอบอย่างมีเหตุผลน่าฟัง
“พุทธาภิเษก ก็แปลว่า อภิเษกให้พระปฏิมากรเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ไม่ใช่รูปตุ๊กตานะซีจ๊ะ”
“ความศักดิ์สิทธิ์เกิดได้อย่างไร?”
“เกิดได้จากแรงอธิษฐานของเรา ว่าเราไม่ได้ทำตุ๊กตาขาย เราทำฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา  เกิดจากอำนาจบุญกุศลของเรา อำนาจศีล อำนาจสัตย์ อำนาจบารมีของเรา ที่ได้สั่งสมอบรมมาทั้งในชาติก่อนและชาตินี้  ศีลบริสุทธิ์ กรรมบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ของเราที่เราทำก็บริสุทธิ์  มีคุณมีสิริมีมงคล แก่ทั้งตัวเราแก่ผู้ที่เอาไปบูชา
“ดีทางไหนครับ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด หรือคงกระพันชาตรี”
“บารมีของพระพุทธเจ้า ทรงคุณสารพัด” หลวงพ่อยืนยัน “เรียกว่าสมเด็จภควันต์นะจ๊ะ  อย่าเรียกสมเด็จหลวงพ่อเพ็ง เพราะฉันไม่ได้เป็นสมเด็จหรอกจ้ะ
จะอย่างไรก็ตาม พระสมเด็จภควันต์ วัดโพธิขวางรุ่นนี้ มีคนมาขอรับเอาไปบูชากันมากมาย ถึงขนาดขึ้นรถยนต์มาเป็นคันๆ จากต่างจังหวัด  เอาผ้าป่ามาทอด ได้เงินจำนวนมาก แล้วยังบริจาคส่วนตัวกันคนละ ๑๐๐ บาท ๒๐๐ บาท  ซึ่งก็ได้พระสมเด็จไปคนละ ๑ องค์เท่านั้น  ทางวัดจัดเจ้าหน้าที่พระเณรและฆราวาสไว้รับเงินบริจาคและออกใบรับเงินให้ทุกราย
“ใบรับเงินนี้เป็นใบรับรองว่าเป็นพระสมเด็จที่ได้ไปจากวัดโพธิขวาง ไม่ใช่พระสมเด็จที่มีใครทำปลอมขึ้น  ได้รับพระสมเด็จองค์หนึ่ง จะต้องมีใบรับเงินแผ่นหนึ่งเสมอ” พระที่เป็นเจ้าหน้าที่ชี้แจงอย่างนี้ มีเขียนป้ายประกาศไว้แผ่นใหญ่ด้วย
คนที่ต้องการพระสมเด็จภควันต์ไปบูชา ต้องมารับด้วยตัวเอง จะฝากเงินใครมาทำบุญ แล้วขอรับพระด้วยไม่ได้” เจ้าหน้าที่อธิบายว่าหลวงพ่อท่านตั้งกฎเกณฑ์ไว้ ต้องทำตามโดยเคร่งครัด
ใบรับเงินนั้น มีพิมพ์คาถาบูชาพระสมเด็จภควันต์ไว้ด้วยว่า “นะโมพุทธายะ ภะคะวันตัง” ว่าให้ภาวนาไว้เสมอ เมื่อใช้พระสมเด็จภควันต์
“เก็บรักษาไว้ให้ดีเถอะจ้ะ ทำรุ่นเดียวเท่านี้ ต่อไปจะหายาก”
หลวงพ่อมักจะพูดคำนี้แก่ผู้ที่ไปหาท่านอยู่เสมอ  ผู้คนใกล้ไกลพากันหลั่งไหลเข้าวัดไม่ขาดสาย การก่อสร้างอุโบสถ ศาลาธรรม ศาลากรรมฐาน และศาลาทานทั้ง ๔ หลัง ก็รุดหน้าต่อไป สิ้นค่าก่อสร้างไป ๒๐ กว่าล้าน งานก็ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง  คิดๆ ดูก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เหมือนว่าเทวดาดลใจให้คนจำนวนหมื่นเดินทางมาบริจาคทรัพย์ทำบุญ เหมือนมีแม่เหล็กมหึมาที่ดึงดูดใจคนให้หันหน้าเข้าวัดโพธิขวาง
อำนาจดึงดูดใจคนเหล่านั้นคืออะไร?
อาจเป็น “พระสมเด็จภควันต์” ของดี หรือที่เรียกว่า “วัตถุมงคล” กันในสมัยนี้ที่เขาพากันอยากได้ไว้บูชา
อาจจะเป็นพระครูญาณวิสุทธิ์ หรือหลวงพ่อเพ็งที่เคร่งศีล เคร่งวินัย ทรงคุณ ทรงธรรม ที่คนทั้งหลายเคารพบูชา
อาจจะเป็นวิธีการสร้างเหรียญ สร้างพระเครื่องที่เลื่องลือ
อาจจะเป็นคราวที่วัดโพธิขวางชะตาขึ้น
อาจจะเป็นด้วยความโง่เขลางมงายของคนทั้งหลาย
อาจจะเป็นด้วยอะไรก็ได้ สุดแล้วแต่ใจคนจะนึกตรึกตรอง เดาเอา คาดคะเนเอาตามอุปนิสัย สติปัญญา และความเชื่อถือของคน  ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ทิฐิ” หรือ “ความคิดเห็น”  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ “มิจฉาทิฐิ” ความเห็นผิดจากความเป็นจริงอย่างที่เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”  และ “สัมมาทิฐิ” ความเห็นถูกต้องตามความที่เป็นจริง อย่างที่ท่านเรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือมีธรรมจักษุ รู้เห็นได้ลึกซึ้งตามสภาพความจริงของโลกและชีวิต
ถ้าจะว่าเพราะพระสมเด็จ ก็เห็นทำเห็นสร้างกันมากแทบทุกวัด  แต่ที่จะโด่งดังมีคนนิยมบูชากันเหมือนพระสมเด็จภควันต์ก็ไม่เห็นมี
ถ้าหากจะว่า เพราะหลวงพ่อเพ็ง เป็นพระดีแล้ว  พระภิกษุทรงศีล ทรงธรรม วัดอื่นก็มีอยู่มาก ทำไมจึงทำอะไรไม่ขึ้นเหมือนหลวงพ่อเพ็ง
ถ้าจะว่าเป็นเพราะวิธีการสร้าง  วัดทั้งหลายก็มีวิธีการสร้างเหมือนกัน ทำพิธีปลุกเสกกัน ลงทุนโฆษณาทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ ออกรายการทางโทรทัศน์ก็มี แต่เหตุใดจึงสู้วัดโพธิขวางไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้โฆษณา แม้แต่พิมพ์ใบปลิวแจกสักแผ่นเดียว
ถ้าจะว่าเป็นเทวดาดลใจ เทวดาก็ลำเอียงที่ดลใจให้ไปแต่วัดโพธิขวางมากมายเหลือเกินทอดทิ้งวัดอื่นเสียหมด
ถ้าจะว่าวัดโพธิขวางกำลังชะตาขึ้น ทำไมจึงมาขึ้นเอาตอนนี้  หลวงพ่อเพ็งก็ปกครองวัดมา ๓๐ ปีแล้ว วัดก็คงสภาพเดิมอยู่เงียบๆ มาขึ้นมารุ่งโรจน์เอาตอนนี้ด้วยเหตุด้วยปัจจัยอะไร?
ถ้าจะว่าเป็นความโง่เขลางมงายของคน ก็เป็นการดูถูกดูหมิ่นคนจำนวนมาก  คนเหล่านี้ก็มีพ่อค้าใหญ่ชั้นเศรษฐี มีชั้นนายพล มีทั้งเจ้านาย มีทั้งคนที่ได้รับการศึกษาสูงทางโลก ระดับปริญญาตรี-โท ระดับปริญญาเอกก็มีหลายคน  แม้แต่พระสงฆ์เจ้าคณะ เปรียญสูงๆ ก็เดินทางมาบริจาคทานทำบุญ ขอรับพระสมเด็จไปบูชา  ถ้าจะว่าคนเหล่านี้โง่เขลางมงาย ก็แสดงว่าโลกนี้ไม่มีคนฉลาดเลย คนที่คิดเช่นนี้ก็จะเป็นคนฉลาดเป็นบัณฑิตไปไม่ได้แน่
อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย
พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายเกิดมาแต่เหตุ” (เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา)
การที่ผู้คนพากันหลั่งไหลมาทำบุญบริจาคเงินสร้างวัดโพธิขวาง นับจำนวนคนเป็นหมื่น นับจำนวนเงินเป็นล้านนี้ ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัย
แต่เหตุปัจจัยที่แท้จริงนั้นคืออะไร
“อำนาจของบุญ” หลวงพ่อเพ็งพูดอย่างนี้ “บุญคือคุณงามความดีที่เราได้บำเพ็ญมา เปรียบเหมือนบึงบางอันกว้างใหญ่ที่บุญได้รวมกันอยู่  ตัวบุญนี้แหละเป็นกำลังดึงดูดบุญจากในที่ต่างๆ ให้หลั่งไหลมารวมกัน  เศรษฐีเป็นที่รวมของทรัพย์ ทะเลเป็นที่รวมของน้ำ บุญอันใหญ่ก็เป็นที่รวมของบุญ  ศีลของเรา ธรรมของเราที่บำเพ็ญ มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ย่อมมีอำนาจดึงดูดใจคนผู้ใจบุญให้มารวมกันทำบุญ อำนาจของบุญดึงดูดบุญมารวมกันให้เป็นบุญกองใหญ่”
คำอธิบายของหลวงพ่อนี้ เป็นเรื่องลึกซึ้งจนมองไม่เห็น  ก็พอฟังเข้าใจได้คร่าวๆ เท่านั้นสำหรับคนที่ติดอยู่ในทางวัตถุ เช่นคำว่า “เศรษฐีเป็นที่รวมของทรัพย์” ทรัพย์ย่อมหลั่งไหลไปรวมอยู่ที่เศรษฐี  อำนาจทรัพย์ความมั่งคั่งของเศรษฐีเป็นเครื่องดึงดูดทรัพย์ พอจะมองเห็นได้
แต่คำว่า “อำนาจของบุญเป็นเครื่องดึงดูดบุญ” หรือคำว่า “กองบุญเป็นที่รวมแห่งบุญ” ดูจะฟังยาก  คนที่จะเข้าใจได้ ก็น่าจะได้ฝึกฝนอบรมในทางธรรมมาพอสมควร
ถ้าจะว่าไปแล้ว คือ ตัวของหลวงพ่อเพ็งนั่นแหละ คือตัวบุญที่เป็นรูปร่างทางวัตถุพอมองเห็นได้  อำนาจของศีล อำนาจของคุณธรรม อำนาจของการประพฤติพรหมจรรย์มาเป็นเวลาช้านานไม่มีด่างพร้อยบกพร่อง ย่อมจะบ่มตัวหรือหล่อหลอมให้หลวงพ่อมีคุณสมบัติพิเศษ เป็นตัวบุญตัวธรรมที่เปล่งรัศมีเจิดจ้าออกไปให้คนทั้งหลายเลื่อมใสศรัทธา ชื่นชมยินดี มีจิตใจที่ปรารถนาจะมาทำบุญบริจาคทานกับท่าน  บุญในตัวหลวงพ่อจึงได้ดึงดูดใจคนทั้งหลายที่ปรารถนาจะทำบุญให้มาทำบุญที่หลวงพ่อ
หลวงพ่อจึงกลายเป็นตัวบุญ ที่มีอำนาจดึงดูดบุญมารวมกันที่วัดโพธิขวาง
คนที่มิได้สั่งสมบุญไว้ เป็นเวลานานและมากเหมือนหลวงพ่อ จึงอ่อนกำลังในทางดึงดูด  บุญหลวงพ่อมีกำลังดึงดูดสูงกว่า บุญจึงมารวมอยู่ที่หลวงพ่อมากมายอย่างน่าอัศจรรย์  มากทั้งความเคารพเลื่อมใส มากทั้งจำนวนคน มากทั้งจำนวนทรัพย์ที่บริจาคทำบุญ
เหตุและปัจจัยก็อยู่ที่ตัวหลวงพ่อ อยู่ที่บุญบารมีของหลวงพ่อนั่นเอง
หลวงพ่อกลายเป็นวัตถุอันมีคุณค่าสูง มีกำลังอำนาจดึงดูดบุญสูงดังกล่าวแล้วนี้
เมื่อการสร้างโบสถ์ใกล้จะสำเร็จเรียบร้อย เหลือแต่การยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา  หลวงพ่อก็ให้คนร่างหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ๔ ประการ คือ
๑. ขอถวายพระราชกุศล เพื่อจะได้ทรงพระเกษมสำราญ เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกสืบต่อไปชั่วกาลนาน  เพราะพระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
๒. ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ ให้เป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติสืบไป
๓. ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส เสด็จพระราชดำเนินไปในงานยกช่อฟ้าและงานผูกพัทธสีมา ตามที่จะทรงพระกรุณากำหนดวัน
๔. ขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จารึกไว้หน้าบันอุโบสถ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปชั่วกาลนาน
ความประสงค์ของหลวงพ่อเพ็ง วัดโพธิขวาง สำเร็จสมความประสงค์ทุกประการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้ที่หน้าบันอุโบสถได้
ทรงกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินในวันเพ็ญเดือน ๒ ปีนั้น
ทรงพระราชทานนามวัดโพธิขวางใหม่ว่า “วัดโพธิสวรรค์วราวาส”
พระมหาสว่าง โอภาโส เปรียญ ๖ ประโยค เอาชื่อพระราชทานไปแปล ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ
“โพธิ         คือ    โพธิตรัสรู้ มาจากชื่อเดิม
สวรรค์       คือ    เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ พวกเทวดาอยู่
วร             คือ    ยิ่ง หรือสำคัญ
อาวาส       คือ    ที่อยู่อาศัย ได้แก่วัด
รวมมีความหมายว่า “วัดโพธิสำคัญอันเนื่องด้วยสวรรค์และการตรัสรู้”
แปลแล้วก็ไม่เป็นที่พอใจ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะแปลอย่างไรให้กะทัดรัด พอจะอธิบายให้ใครฟังได้
พระมหาสว่างจึงลองถามหลวงพ่อเพ็งดูว่า “นามพระราชทานนี้แปลว่าอย่างไร มีความหมายอย่างไร?”
“โพธิ ก็คือ วัดโพธิ์ วัดที่มีต้นโพธิ์เป็นสำคัญของวัดมาแต่เดิม”
สวรรค์ ก็คือ สรรค์ หรือ “สัคเค” แปลว่า ขวางกั้น  คือ เป็นที่กั้นกลางอยู่ระหว่างโลกกับนิพพาน มีสวรรค์กั้นขวางอยู่ระหว่างกลาง  คนทำบุญกุศลก็ไปติดอยู่แค่สวรรค์ ไปเกิดเป็นเทวดา ไปไม่ถึงพระนิพพานเมืองแก้ว วราวาส แปลว่า วัดสำคัญ
คำรวมหมายความว่า “วัดโพธิ อันสำคัญ มีสวรรค์ขวางหน้าไปไม่ถึงพระนิพพาน”
พระมหาสว่าง ได้ฟังคำแปลจากหลวงพ่อแล้ว ก็งงไป ด้วยไม่เคยนึกถึงว่าหลวงพ่อจะแปลอย่างนี้  จะค้านก็ค้านไม่ได้ ท่านแปลถูกทั้งอรรถ พยัญชนะ ถูกทั้งถ้อยคำและความหมายอันลึกซึ้ง  ถ้อยคำที่แปลก็กะทัดรัดได้ความดี อธิบายให้คนทั้งหลายฟังได้เข้าใจแจ่มแจ้ง  หลวงพ่อเป็นพระสมถะ ไม่ใช่พระนักธรรม นักบาลี ทำไมจึงแปลได้ถูกต้องก็ไม่ทราบ  นึกอัศจรรย์ใจในสติปัญญาความรู้ของท่าน
“การเปลี่ยนชื่อวัดเก่า ที่มีคนเรียกกันมาแต่โบราณอย่างนี้  ต้องให้ผู้มีบุญญาธิการท่านตั้งให้ คนถึงจะเรียกเป็นมงคลนาม” หลวงพ่อพูด “ถ้าเราตั้งเอง เปลี่ยนเอง  ก็จะไม่มีคนเรียก ไม่เป็นศิริมงคลแก่วัดและตัวของเรา”
พระมหาสว่าง ฟังแล้วนึกละอาจใจ คิดถึงชื่อวัด “โพธิรัตโนภาส” ที่พยายามจะเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เมื่อแรกมาอยู่  ทำให้ต้องยอมรับว่า หลวงพ่อนี้เหนือกว่าเราทั้งปัญญาบารมีทุกอย่าง
นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงเรื่องอื่นๆ ทำให้ยิ่งไม่สบายใจมากขึ้น  ทุกวันนี้เราก็เป็นเจ้าอาวาสแต่ชื่อตามตำแหน่งเท่านั้น การก่อสร้างก็ดี เงินทองที่ไหลมาเทมาก็ดี ชื่อเสียงเกียรติคุณก็ดี ไปรวมอยู่ที่พระครูญาณวิสุทธิ์ทั้งหมดทั้งสิ้น  ตัวเราก็เหมือนพระลูกวัดองค์หนึ่ง ช่วยงานวัดไปตามหน้าที่เท่านั้น พระสงฆ์องค์เจ้าและชาวบ้านใกล้ไกล ก็ไม่มีใครให้ความศรัทธาเลื่อมใส  ดูเหมือนจะจมลงไปในความเจริญรุ่งเรืองของวัด ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครกล่าวถึง  ใจหนึ่งก็นึกว่าบุญวาสนาไม่เทียมท่าน ก็จะใช้ขันติความอดทน ยอมแพ้บุญบารมีของท่าน  แต่ใจหนึ่งที่เป็นปุถุชนยังมีกิเลสตัณหา ยังยึดมั่นถือมั่นในตัวของตัว ก็ทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ  ว่าเราไม่ควรจะมาจมอยู่ในวัดนี้เลย ได้ชื่อได้หน้าก็หาไม่ ความภาคภูมิใจก็ไม่มี เป็นสมภารที่อาภัพอับเฉาที่สุด สติปัญญาความสามารถก็ไม่มีโอกาสจะแสดง รัศมีของหลวงพ่อเพ็งได้มาบดบังเราเสียหมดจนมืดมิดไป
เคยคิดปลอบใจตัวเองว่า การได้มาอยู่กับพระผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาบารมีสูง จะทำให้ได้เห็นแบบอย่างที่ดี โน้มน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องส่งเสริม สร้างปัญญาบารมีของตนให้เป็นคนที่มีปัญญาบารมีเพิ่มขึ้น  มีโอกาสภายหน้าก็จะได้มีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ มีคนเลื่อมใสศรัทธา  หลวงพ่อก็แก่แล้วคงจะอยู่ได้ไม่นาน เราก็ยังหนุ่มแน่นอยู่ เมื่อสิ้นบุญท่านแล้ว ก็เป็นโอกาสของเราสักวันหนึ่ง
แต่คิดอย่างนี้ได้ไม่ยืด คิดได้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ความริษยา ความแข่งดี ก็เข้ามาสิงสู่หัวใจ  อย่างน้อยเราก็มีตำแหน่งเป็นสมภารเจ้าวัด ทำไมเล่าจะต้องยอมกินน้ำใต้ศอกของพระลูกวัด
พระมหาสว่างสมภารหนุ่ม กำลังถูกคลื่นลมแห่งกิเลสตัณหา เข้ามาพัดพาหัวใจให้ปั่นป่วนมืดมน  ก็เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญใจ น้อยอกน้อยใจ อึดอัดขัดเคืองในโชควาสนาของตนเอง ทำให้มีอาการหม่นหมอง หน้าตาหมองคล้ำไปจนใครๆ ผิดสังเกต
มีอยู่อย่างหนึ่งที่พระมหาสว่างยังมีกำลังใจกระปรี้กระเปร่าอยู่บ้าง ก็คือ กำนันเชื้อคหบดีผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมาก ได้หมั่นไปมาหาสู่อยู่เสมอ คอยส่งสำรับคับค้อน เครื่องขบฉันหวานคาว ปวารณาตัวไว้ ขาดเหลือขัดข้องอะไรก็ให้บอก  กำนันเชื้อมีลูกสาวอยู่อีกคนหนึ่ง อายุอยู่ในวัย ๓๐ ปี ยังโสดอยู่ไม่มีคู่ครอง  นัยว่ามีหนุ่มชาวบ้านมาเพียรพยายามอยู่ แต่กำนันเชื้อก็เห็นว่ามีฐานะต่ำกว่า อยากจะให้ได้สามีเป็นข้าราชการ แต่ก็ยังไม่สมใจนึก  กำนันเชื้อให้ลูกสาว น.ส.สุชาดา ส่งอาหารสมภารสว่างอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่คุ้นเคยสนิทสนม มานั่งสนทนาอยู่วันละนานๆ  สมภารสว่างมีสิ่งที่เป็นความหวังกำลังใจอยู่ที่นี่ นึกในใจว่า ถ้าพลาดพลั้งอย่างไรก็จะลาสึกแต่งงานกับลูกสาวกำนันเป็นทางออกสุดท้าย  ถ้าหากว่าหมดบุญทางพระศาสนา ก็ยังพอมีที่หวังอยู่
ในที่สุดก็มาถึงวันที่พระมหาสว่างตัดสินใจเสี่ยงบารมี
บรรดาหมู่คณะที่มาหาหลวงพ่อเพ็งนั้น มีอยู่รายหนึ่งเป็นสมภารวัดอยู่ต่างจังหวัด เป็นเปรียญรุ่นเดียวกับพระมหาสว่าง ได้เคยรู้จักชอบพอกัน นำคณะมาทอดผ้าป่าที่วัดโพธิสวรรค์วราวาส นำเงินมาทำบุญถึง ๓๐,๐๐๐ บาท ล้วนแต่เป็นคนที่อยากมาวัดโพธิสวรรค์ฯ อยากได้พระสมเด็จภควันต์  พระอธิการหนุ่มองค์นั้นได้มาที่พระมหาสว่าง ในฐานะสมภารเจ้าวัดด้วยกัน  พระมหาสว่างก็ออกจะได้หน้าได้ตาอยู่บ้างที่เพื่อนสมภารมาทอดผ้าป่า จึงได้ออกหน้ารับรองฐานเป็นเจ้าอาวาส เพื่อที่จะอวดไปในตัวว่า วัดที่เจริญขึ้นนี้ก็สมัยที่ตนเป็นเจ้าอาวาส
อยู่มาวันหนึ่ง ก็ได้รับซองการกุศล ทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดเพื่อนสมภารองค์นั้น  พระมหาสว่างมีความผูกพันในใจว่า จำเป็นจะต้องนำคณะผ้าป่าไปทอดที่วัดนั้นเป็นการตอบแทน
ประการสำคัญ ก็คือ เป็นการเสี่ยงบารมี “วัดดวง” ดูเป็นครั้งสุดท้ายว่า จะมีคนเคารพนับถือตนสักเท่าไร อาจจะวัดได้จากเงินร่วมทำบุญ และคนที่จะไปร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน
พระมหาสว่าง จึงได้แจกซองผ้าป่านั้นออกไปเรื่อยๆ เพื่อรวบรวมเงินไปทอดผ้าป่าสามัคคีตามกำหนด
ครั้นถึงวันทอดผ้าป่า ปรากฏว่ามีคนสมัครไปทอดผ้าป่ารวม ๘๐ คนเศษ จึงเช่ารถโดยสารเข้า ๑ คัน แต่รู้สึกว่ารถคับแคบ จึงได้เช่าแท็กซี่ป้ายดำที่แล่นอยู่ระหว่างวัดกับตัวเมืองมาอีกคันหนึ่ง  พระมหาสว่างนั่งรถแท็กซี่ป้ายดำนำหน้า มีนางกิมหงษ์ ภรรยานายเงื่อนขอนั่งไปด้วยอีกคน รวมทั้ง น.ส.สุชาดา ลูกสาวกำนันเชื้อ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนางกิมหงษ์ และคุ้นเคยสนิทสนมกับสมภารสว่าง นั่งไปตอนเบาะท้ายรถอีก รวมทั้งคนขับ ๔ คน พากันเดินทางไปทอดผ้าป่าสามัคคี ออกรถตั้งแต่เช้า
พอตกเย็นก็มีข่าวร้ายแรงมาถึงวัด ว่ารถผ้าป่าประสบอุบัติเหตุ คนตาย ๔ คน!
ในจำนวนคนตาย มีพระมหาสว่าง สมภารวัดโพธิสวรรค์ฯ รวมอยู่ด้วย!!
ญาติโยมและพระเณรพากันไปดูศพ ปรากฏว่ารถบรรทุก ๑๐ ล้อแล่นสวนทางมาปะทะกับรถเก๋งที่สมภารสว่างนั่ง รถแหลกยับเยิน คนในรถตายหมดทั้ง ๔ คน
สมภารสว่าง โอภาโส วัย ๓๒ ปี
นายเรือง สีลา คนขับรถ วัย ๓๑ ปี
นางกิมหงษ์ สุขสันโดษ วัย ๓๐ ปี
น.ส. สุชาดา ชาติสีแดง วัย ๓๐ ปี
นำศพมาถึงวัดโพธิสวรรค์ฯ ตอนกลางคืน  มีผู้คนมาดู มารดน้ำศพกันเนืองแน่น เป็นเหตุการณ์โศกสลดของวัดโพธิสวรรค์ฯ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝัน
“หน้าตาท่านหมองคล้ำอยู่นานแล้ว”
“บุญท่านทำมาเท่านี้”
“บุญท่านไม่ถึง วัดกำลังจะรุ่งเรือง”
“บุญวาสนาท่านสู้บารมีหลวงพ่อไม่ได้”
“แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งยาก”
คนทั้งหลายพูดกันไปต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์การมรณภาพของสมภารหนุ่มวัย ๓๒ ปี  ญาติมิตรของใครใครก็รำพันถึงคนนั้น
นายเงื่อนร้องไห้โฮ บอกว่า “ห้ามแล้วไม่ฟัง”
กำนันเชื้อ ถึงแก่เป็นลมแล้วเป็นลมอีก
“ผมหมดอาลัยตายอยากแล้ว ชีวิตผมก็หวังพึ่งบุญลูกคนนี้คนเดียว”
หลวงพ่อเพ็ง นิ่งเงียบไม่พูดจาอะไรเลย
เจ้าคณะจังหวัดก็มาเยี่ยมศพด้วยความอาลัย
เมื่อได้จัดการสวดอภิธรรมศพทั้ง ๔ แล้ว ก็จัดการเก็บศพไว้ตามประเพณี ศพสมภารสว่างเก็บไว้บนกุฏิของท่าน รอการฌาปนกิจศพต่อไป
กำนันเชื้อ ดูจะมีความเศร้าโศกเสียใจมากกว่าใครๆ  ได้มาหาหลวงพ่อเพ็งในวันหนึ่ง
“หลวงพ่อครับ บุญทานผมก็ทำอยู่เสมอ ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วยผมบ้าง?”
หลวงพ่อนิ่ง
“ลูกสาวผมคนนี้ บาปกรรมอะไรก็ไม่เคยทำ อยู่แต่บ้านทำแต่บุญ ทำไมถึงอายุสั้น”
“เวรกรรม มันมองเห็นด้วยตาไม่ได้หรอก เราไม่รู้ว่าชาติปางก่อนใครทำกรรมอะไรไว้” หลวงพ่อตอบ
“อย่างท่านมหาสว่าง ท่านก็บวชเป็นสงฆ์ถือศีล เวรกรรมอะไรก็ไม่มี ทำไมจึงมาตายอย่างนี้?”
หลวงพ่อนิ่ง
“ไปทำบุญทำกุศลกันแท้ๆ ไม่น่าจะไปล้มตายกันเลย ถ้าไปทำชั่วทำบาป ก็จะไม่ว่าเลย”
 หลวงพ่อ ปล่อยให้กำนันพูดไปจนหมดเรื่องพูดแล้ว จึงได้พูดกับกำนันเชื้อว่า
กัมมุนา วัตตตี โลโก สัตว์โลกย่อมหมุนไปตามกรรม  พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้
กรรมนี้ย่อมมีอดีตกรรม กรรมในชาติปางก่อน  เราทำกรรมใดไว้ในอดีต ทั้งชาตินี้และชาติปางก่อนบ้างก็ไม่รู้ วิบากกรรมจะติดตามมาทันเมื่อไรก็ไม่รู้
กรรมในปัจจุบันชาตินี้ ใครทำกรรมอะไรไว้บ้าง เราก็ไม่อาจล่วงรู้  ตัวของตัวเองยังจำไม่ค่อยได้ เพราะเราทำกรรมอยู่ทุกเวลาตั้งแต่เกิดมาจนทุกวันนี้
แต่การที่คนเราขึ้นรถลงเรือไปทำบุญกันนั้น ที่จริงทุกคนก็หยุดพักการประกอบกรรมกันแล้วชั่วคราว  กายกรรม วจีกรรม เราไม่ได้ทำกรรมใหญ่อันใดกันทุกคน  คนที่ขึ้นรถลงเรือ เท่ากับได้มอบชีวิตร่างกายไว้กับคนขับรถ ขับเรือคนเดียว คนขับรถขับเรือเป็นผู้ประกอบกรรมคนเดียว  รถหรือเรือลำนั้นเหมือนอัตภาพอันใหญ่ เป็นร่างกายอันใหม่ของรถยนต์ เรือยนต์ เรียกว่าชีวิตยนต์  ร่างกายของคนเป็นชิ้นส่วนอันสิ่งของร่างกายใหม่ อันประกอบด้วยคนทั้งหมดเครื่องยนต์ของรถยนต์นั้น เรียกว่า “ชีวิตยนต์”
จะว่ามีชีวิตก็เหมือนไม่มีแล้วตอนนั้น
จะกลายเป็นชีวิตที่หลอมรวมเข้าเป็นชีวิตเดียวกัน
คนขับรถ เป็นผู้บงการชีวิตรถยนต์นั้นคนเดียว
ถ้าคนขับรถมัวเมาประมาท ใจร้อนใจเร็ว ขาดสติ ก็จะพาชีวิตยนต์คันนั้นไปตายได้ง่ายๆ
อย่าลืมว่า คนนั่งรถยนต์คันเดียวกัน จะเป็นคนดี คนชั่ว คนบุญหรือคนบาป ไม่มีชีวิตเป็นของตนเอง  ได้ยอมมอบชีวิตร่างกายไว้ในรถที่แล่นไปด้วยความเร็ว กลายเป็นชีวิตของรถยนต์ไปแล้วทั้งหมด ไม่มีคนดี คนชั่ว ไม่มีพระ ไม่มีโจรอีกต่อไป  สุดแต่ว่า คนขับรถจะพาไปตายหรือเป็น
จะว่าพระไม่ควรตาย หรือคนไปทำบุญกุศลไม่ควรจะต้องตายไม่ได้ ทุกคนถอดชีวิตฝากไว้กับรถหมดแล้ว  รวมเป็น ชีวิตยนต์ อันใหญ่นั้นชีวิตเดียว  มีชีวิตวิญญาณอันใหญ่อยู่คนเดียวคือคนขับรถยนต์ ชีวิตวิญญาณนอกนั้นเป็นชีวิตวิญญาณประกอบเหมือนเนื้อหนังมังสาเท่านั้น” หลวงพ่อพูด
แต่คิดๆ ดูแล้ว การตายของคนทั้ง ๔ คราวนี้ ได้ช่วยปรับระดับธรรมดาธรรมชาติอะไรบางอย่างให้อยู่ในระดับพอดี
ความโลภหลงทะนงศักดิ์ของใครต่อใครค่อยลดลง ทุกคนเห็นว่าชีวิตมีความตายอยู่ใกล้ตัว ค่อยหายมัวเมาประมาทลงมาก
กำนันเชื้อ ซึ่งเป็นคนโลภหลงมาตลอดชีวิต สะสมทรัพย์ไว้ด้วยความโลภ จนมีทรัพย์มั่งคั่งในทางที่ผิดศีลผิดธรรม ก็แลเห็นว่าทรัพย์นั้นจะไม่อยู่กับบุตรธิดาเป็นมรดกได้จริง  บุตรสาวคนดีก็ตาย บุตรชายคนหนึ่งก็ชั่ว บุตรชายคนหนึ่งก็พิกลพิการ  ทรัพย์นั้นกลับเป็นเครื่องทรมานใจให้เกิดความทุกข์
นายเงื่อน สุขสันโดษ ที่เคยหยิ่งทะนง อาฆาตพยาบาท ล้างผลาญชีวิตคนอื่นเขามาแล้ว  เมื่อถึงคราวภรรยาสาวของตัวต้องตายจากไป ก็ได้คิดว่าไม่ควรจะต้องทำลายชีวิตคนอื่นให้บุตรภรรยาของเขาต้องมีทุกข์
พระเณรในวัด ก็ปลงธรรมสังเวช ว่าความตายนั้นไม่เลือกว่าคนแก่จะต้องตายก่อน คนหนุ่มจะมีชีวิตยืนยาว  หลวงพ่ออายุชราภาพยังอยู่ แต่พระมหาสว่างยังหนุ่มตายก่อน
แม้แต่หลวงพ่อเองก็ได้คิด ว่าการสร้างวัดไว้สำหรับคนเป็นเท่านั้นไม่พอ ต้องสร้างไว้สำหรับคนตายด้วย
หลวงพ่อเพ็ง จึงได้เริ่มสร้างเมรุเผาศพไว้ในวัดโพธิสวรรค์ฯ ด้วย
ท่านเริ่มสร้างเมรุเผาศพไว้ มุมทิศตะวันตกของวัด เยื้องกับศาลากรรมฐาน  มีเมรุอยู่กลาง สองข้างเป็นศาลาสำหรับตั้งสวดศพ มีศาลาสำหรับคนเผาศพอยู่ด้านหน้า  ใช้จ่ายเงินค่าก่อสร้างไปอีกล้านเศษ
ท่านว่าเมรุเผาศพ ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างสำหรับอวดโชว์ใคร จึงไม่สร้างไว้หน้าวัด ให้คู่เคียงกับอุโบสถเหมือนวัดอื่นๆ  แต่ว่าเมรุเป็นที่สำหรับเผาศพ เป็นที่ปลงธรรมสังเวช ต้องสร้างไว้หลังศาลากรรมฐาน  มีที่ทางไว้ต่างหาก ให้สะดวกแก่คนมาเผาศพ  ศาลาด้านหน้าเมรุ ท่านตั้งชื่อว่า “ศาลาปลงธรรมสังเวช”
การตายของคนทั้ง ๔ จึงเป็นเครื่องเตือนสติคนข้างหลังด้วยอาการดังนี้
แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ก็ได้สติ ขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้น
“เดี๋ยวจะแหลกเหมือนอ้ายเรือง”




(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๑๑ พสุธาวาสหวั่นไหว


โพธิขวาง 
ตอน๑๑ พสุธาวาสหวั่นไหว

ข่าวใหญ่เลื่องลือไปทั่วตำบลโพธิขวางและข้างเคียง  คือ ทางราชการสร้างทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านมาหลังวัดโพธิขวาง เริ่มทำการสำรวจส่องกล้องทำแผนที่มาหลายเดือนแล้ว ขณะนี้เริ่มถางป่าถางต้นไม้กรุยทางเป็นแนวมา  แนวทางนั้นห่างหลังวัดไปประมาณ ๑๕ เส้น กินเนื้อที่วัดโพธิขวางไปตลอดแนว  ไม่กี่วันก็มีเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกมาขุดดินสร้างถนนกันอย่างคึกคัก การสร้างถนนส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกล แต่ก็ต้องจ้างผู้คนเป็นกรรมกรสร้างทางจำนวนมาก  บริษัทรับเหมาสร้างทางชาวต่างประเทศ ได้มารับเหมาสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้ ได้จ้างกรรมกรชายวันละ ๒๐ บาท กรรมกรหญิงวันละ ๑๕ บาท  ชาวตำบลโพธิขวางได้ไปรับจ้างกันมาก ที่ยากจนก็ได้เงินค่าจ้างพอเงยหน้าอ้าปาก มีเงินทองใช้สอยกันคราวนี้  ที่มีที่ดินไร่นาราคาถูก แต่ก่อนซื้อขายกันไร่ละ ๒,๐๐๐ บาท ก็มีราคาสูงขึ้นถึงไร่ละ ๔,๐๐๐ บาท  ราคาที่ดินสูงทวีมากขึ้นทุกวัน เป็นไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท ๖,๐๐๐ บาท เพราะมีคนต่างเมืองต่างจังหวัดมากว้านซื้อกันเป็นร้อยไร่พันไร่
กำนันเชื้อและนายเงื่อนมีอาชีพใหม่เอี่ยมอีกอย่างหนึ่ง คือรับเป็นนายหน้าซื้อที่ดิน  ผู้คนแตกตื่นรับเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินกันมาก วันหนึ่งๆ จะมีคนแปลกหน้าแต่งตัวดีๆ มาหาซื้อที่ดินกันมาก พ่อค้าใหญ่ๆ ในจังหวัดและจากกรุงเทพฯ มาติดต่อซื้อที่ดินกันขวักไขว่ไปทั่ว  ราคาที่ดินจึงสูงขึ้นเรื่อย สูงขึ้นทุกวันทีเดียว เมื่อวานนี้ราคาไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท วันนี้เป็นราคาไร่ละ ๖,๐๐๐ บาท  บางคนมี ๑๐ ไร่ ขายไป ๖๐,๐๐๐ บาท วันนี้ พอทำสัญญารับมัดจำไว้ ๑๐,๐๐๐ บาท พรุ่งนี้ก็ได้ข่าวว่า คนซื้อขายต่อไปแล้ว ๗๐,๐๐๐ บาท ไม่กี่วันต่อมาก็ได้ข่าวว่าขายต่ออีกทอดหนึ่งแล้ว ราคา ๘๐,๐๐๐ บาท  บางคนมีที่ป่าละเมาะอยู่ถึง ๑๐๐ ไร่ มีแต่ น.ส. ๓ ถือไว้ แต่ก่อนนี้ก็ราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท ขณะนี้มีคนมาขอซื้อไร่ละ ๖,๐๐๐ บาท ได้ราคาถึง ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่พอไปโอนที่ดิน คนที่ซื้อไม่ใช่คนเดิม กลายเป็นว่าขายต่อไปอีกหลายทอด คนสุดท้ายขายไปถึง ๑ ล้านบาท ที่ดินของตัวแท้ๆ ได้รับเงินเพียง ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่คนซื้อไปไม่ต้องลงทุนอะไรเลย วางมัดจำไว้หมื่นบาท ได้กำไรถึง ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท อย่างนี้ก็มี  
ชาวไร่ชาวนาที่เป็นหนี้สินอยู่ เอาที่ทางไปจำนองไว้ไม่มีปัญญาไปไถ่ถอนคืน ก็ขายที่ได้เงินไถ่คืนคราวนี้  บางทีนายทุนที่รับจำนำไว้ ก็ขอซื้อราคาสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว  มีการซื้อขายที่ดินกันคึกคักที่สุด ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชั่วอายุคนตำบลโพธิขวางและข้างเคียง  แต่ที่ดินราคาสูงถึงไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท นั้นต้องอยู่ติดถนนผ่าน ที่ห่างไกลออกไปราคาต่ำลง  ชาวไร่ชาวนาขายที่ดินกันทั่วไป  ส่วนกำนันเชื้อก็ขายที่ดินไปหลายแปลง ราคาสูงลิ่วทั้งนั้นเพราะถนนผ่านที่ดิน แต่บางแปลงถนนตัดเนื้อที่เกือบหมด ที่ดิน ๑๐ ไร่ถนนตัดผ่านไปตามยาว เหลืออยู่ไม่ถึง ๒ ไร่ก็มี  นายเงื่อนเป็นนายหน้าค้าที่ดินคราวนี้ ได้เงินค่านายหน้าหลายหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ไม่มีที่ดินขายกับเขาเลย ก็มีเงินซื้อที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์แปลงหนึ่ง อยู่ติดถนน ซื้อไว้ไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท รวม ๒๐ ไร่ ขณะนี้มีคนมาติดต่อขอซื้อ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ก็ยังไม่ขาย แปลว่าคราวนี้นายเงื่อนมีหลักทรัพย์อยู่ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว
การสร้างทางหลวงแผ่นดินคราวนี้ สร้างอยู่ ๑๘ เดือนก็เสร็จ เป็นถนนขนาดใหญ่เทคอนกรีตกว้างถึง ๖ วา ยังกันที่ดินข้างถนนไว้อีกข้างละ ๑๕ วา ตัดตรงลิ่วมาจากทางกรุงเทพฯ แล่นผ่านหลังวัดโพธิขวางไปแลไกลสุดสายตา มีรถยนต์แล่นผ่านไปมาขวักไขว่ทั้งวัน  ถนนสายนี้ได้เปลี่ยนสภาพตำบลโพธิขวางให้เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ คนยากจนได้เงินค่ารับจ้างทำถนน พอมีกินมีใช้ไม่อดอยากฝืดเคืองเหมือนแต่ก่อน พอมีทุนรอนไปทำอาชีพอย่างอื่นต่อไป  คนที่มีที่ดินติดถนนก็ขายได้ราคาสูง เอาไปปลูกบ้านซ่อมเรือน ซื้อที่ดินแหล่งใหม่ต่อไป คนเป็นนายหน้าที่ดินก็มีเงินทองมาก  สถานที่ดินที่เคยเป็นไร่นาป่าละเมาะก็มีคนมาซื้อจับจองทำไร่ ปลูกร้านเรือนอยู่ริมถนน บางคนมีทุนมากก็มาจับจองทำไร่สวน เปลี่ยนสภาพจากที่ดินรกร้างให้เป็นไร่ขึ้น
วัดโพธิขวางก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่เคยเป็นป่าช้าอึมครึมอยู่หลังวัดนั้น ถนนตัดผ่านมาต้องรื้อป่าช้าออกไป ถางไม้ถางป่าออกแลโล่งเตียน ยังเหลือที่ดินบริเวณหลังวัดอีกมาก  วัดที่เคยหันหน้าลงแม่น้ำทางใต้ ก็จำเป็นจำต้องหันหน้ากลับไปทางเหนือ หันหน้าเข้าสู่ถนนสายใหญ่ทางหลวงแผ่นดิน  เพราะบัดนี้คนก็ผ่านไปมาทางถนนขึ้นรถยนต์ ไม่ใช่แม่น้ำกันอีกแล้ว ยกเว้นฝั่งตรงข้าม แต่ก็ข้ามมาขึ้นหน้าวัดมาขึ้นรถยนต์กันโดยมาก
กำนันเชื้อดูจะดีใจจนออกนอกหน้า เพราะขายที่ได้เงินมากนับแสน เป็นนายหน้าค้าที่ดินก็ได้มาก ที่ดินเหลืออยู่ก็มีราคาดี  กำนันเชื้อกลายเป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง มีเงินฝากธนาคารมาก ลือกันว่าเป็นล้านๆ บาททีเดียว  แต่ที่กำนันเชื้อดีใจมากก็คือ เรื่องวัดโพธิขวางจะได้หันหน้าออกถนนทางทิศเหนือ  ที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดริมถนนฝั่งเหนือเป็นของกำนันเชื้อ ยังไม่ได้ขาย มีอยู่ถึง ๘๐ ไร่ กำนันเชื้อจึงมีความประสงค์จะให้วัดปรับปรุงแผนผังวัด เพื่อหันหน้าวัดไปทางเหนือออกสู่ถนนใหญ่โดยเร็ว กำนันเชื้อพูดอย่างชื่นชมยินดีว่า
“หลวงพ่อพูดไว้ยังกับตาเห็น ว่าจะมีถนนรถยนต์ใหญ่แล่นผ่านหน้าวัด จะมีรถยนต์แล่นไปมาขวักไขว่  หลวงพ่อพูดล่วงหน้าไว้ตั้ง ๓-๔ ปี เหมือนปากท่านว่าทุกอย่าง”
คนทั้งหลายที่เคยได้ยินหลวงพ่อพูด ก็พากันชื่นชมโสมนัส นับถือว่าหลวงพ่อได้ฌานสมาบัติ ได้ตาทิพย์ มองเห็นล่วงหน้าได้ วาจาสิทธิ์ พูดอะไรไว้ก็เป็นอย่างนั้น
แต่คนที่ไม่เชื่อ ก็ว่าหลวงพ่อคงรู้ระแคะระคายอะไรมาก่อน คงจะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาพบปะพูดจาให้รู้ว่าจะสร้างถนนหลวงผ่านมาทางตำบลนี้
แต่คนที่เชื่อถือก็คัดค้านว่า การสร้างถนนต้องมีช่างสำรวจทำแผนที่ ถึงจะรู้ว่าสร้างทางหลวงแผ่นดิน ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะตัดผ่านตำบลนี้ ทีแรกเห็นมีข่าวว่าจะสร้างถนนไม่ผ่านตำบลนี้ด้วยซ้ำไป  อย่าว่าแต่จะรู้ว่าตัดถนนผ่านที่ดินหลังวัดเลย ทางหลวงแผ่นดินจะผ่านตำบลนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครคาดถูก ก็เจ้าเมืองนายอำเภอยังไม่รู้ล่วงหน้ารายละเอียดอะไรเลย  หลวงพ่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานบ้านเมืองจะไปรู้จากทางราชการกรมทางหลวงแผ่นดินได้อย่างไร หลวงพ่อต้องรู้ได้ด้วยญาณพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญเท่านั้น หลวงพ่อจะต้องได้ญาณสมาบัติ หลวงพ่อจะต้องเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันเป็นอย่างต่ำ  คนที่เชื่อถืออย่างนี้มีมาก
ชื่อเสียงของหลวงพ่อเพ็ง วัดโพธิขวาง จึงขจรขจายไปทั่ว  ตั้งแต่มีถนนรถยนต์ มีผู้คนมาหาหลวงพ่อไม่ได้ขาด ชื่อหลวงพ่อเพ็งมีคนรู้จักทั่วไปทั้งใกล้ไกล ต่างบ้านต่างเมือง  พ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มาหาท่านมาก ก็ได้แต่มาขอให้ท่านรดน้ำมนต์ให้บ้าง เป่ากระหม่อมให้บ้าง ไม่ได้อะไรเพราะท่านไม่ได้ทำเครื่องรางของขลังอะไร คนที่ต้องการของดีทางนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “วัตถุมงคล” จึงค่อนข้างจะผิดหวัง
เคยมีคนเสนอให้ท่านสร้างพระเครื่อง หรือเหรียญรูปท่าน แต่ท่านเฉยเสีย
กำนันก็เคยพูดว่าวัดโพธิขวางมีถนนผ่านหน้าวัดแล้ว ต่อไปจะต้องสร้างโบสถ์ใหม่ไว้หน้าวัด ควรจะทำเหรียญที่ระลึกออกจำหน่ายหาเงินสร้างโบสถ์ต่อไป แต่ท่านก็นิ่งเฉยอยู่
พระมหาสว่าง เจ้าอาวาส เคยเสนอความคิดนี้แก่ท่านไม่ใช่หนเดียว หลายครั้งหลายหน แต่ท่านก็ยังอิดเอื้อนอยู่ไม่ยอมอนุญาต
วันหนึ่ง แม่ทัพกองทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธร พร้อมด้วยคณะ ๑๐ กว่าคน ก็ได้มาหาหลวงพ่อถึงวัด  หลวงพ่อได้ต้อนรับคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามปกติ ที่กุฏิโบราณหลังนั้น ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ไม่มีเสื่อปู คงนั่งกับพื้นกระดานเสมอกัน หลวงพ่อเพียงแต่เรียกเด็กให้ยกกาน้ำร้อนกับถ้วยชาไปตั้งไว้ให้ดื่มกันเท่านั้น  แต่ทุกคนก็มิได้รังเกียจ เพราะมีความเคารพหลวงพ่อเป็นเดิมพันอยู่ในใจทุกคน การต้อนรับอย่างไรจึงไม่สำคัญ สำคัญแต่ว่าเรื่องที่มุ่งหมายมาหาจะได้สมประสงค์หรือไม่
ท่านแม่ทัพได้แนะนำตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็แนะนำตัวเอง  เมื่อได้แนะนำตัวให้หลวงพ่อรู้จักแล้ว ก็ได้แจ้งความประสงค์ให้หลวงพ่อทราบ
“ผมจะมาขอพึ่งบารมีหลวงพ่อ” ท่านแม่ทัพเริ่มเรื่อง “เวลานี้ตำรวจทหารต้องไปประจำอยู่ตามชายแดน ต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย บาดเจ็บล้มตายกันอยู่ทุกวัน ไม่มีอะไรจะยึดเหนี่ยวเป็นเครื่องป้องกันตัวและบำรุงขวัญ  ผมจึงคิดว่าจะขออนุญาตหลวงพ่อสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อ ทำพิธีปลุกเสก แล้วจำหน่ายจ่ายแจกเก็บไว้เป็นทุนสวัสดิการแก่ทหารตำรวจ เวลาเจ็บป่วยล้มตายก็จะได้มีเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าช่วยเหลือครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตรต่อไป  ผมหวังว่าหลวงพ่อคงจะเมตตาอนุญาตให้ทำ”
หลวงพ่อเพ็งวัดโพธิขวาง หรือพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ วัดโพธิขวางนั่งตรึกตรองอยู่สักครู่หนึ่ง ก็พูดขึ้นว่า
“พระอาจารย์วัดต่างๆ ก็มีชื่อเสียงโด่งดังถมไป ทำไมไม่ไปขอท่านทำล่ะจ๊ะ?”
“ทำกันจนเปรอะแล้วหลวงพ่อ ทำกันอยู่แทบทุกวัด สู้หลวงพ่อไม่ได้หรอก ใครๆ ก็เคารพนับถือ  ถ้าทำเหรียญหลวงพ่อจะต้องดังยิ่งกว่าทุกวัด ไม่มีวัดไหนสู้ได้” แม่ทัพภาคว่าดังนี้
“จะทำขึ้นสักเท่าไหร่ล่ะจ๊ะ?”
ท่านแม่ทัพภาคดีใจ หน้าชื่น คิดว่าหลวงพ่ออนุญาตให้ทำแน่
“ผมกะว่าจะทำสักแสนเหรียญ”
“จำหน่ายเหรียญละเท่าไหร่จ๊ะ?”
“ผมกะว่าเหรียญละ ๑๐๐ บาท”
“เอาฉันไปขายตั้ง ๑๐ ล้านเชียวหรือจ๊ะ?” หลวงพ่อพูดยิ้มๆ เล่นเอาแม่ทัพภาคนิ่งอึ้งไปเดี๋ยวหนึ่ง
“ผมก็ต้องลงทุนมาก แล้วก็อยากจะตั้งกองทุนสวัสดิการไว้มากๆ” แม่ทัพภาคพูดไม่เต็มปาก
“ขอโอกาสให้ฉันปรึกษาคณะสงฆ์และกรรมการวัดดูก่อนนะจ๊ะ” หลวงพ่อพูดเรียบๆ แต่มีความหมายว่ายังไม่อนุญาตดีๆ นี่เอง
แม่ทัพภาคและคณะดูเหตุการณ์ยังไม่สมประสงค์ จะพูดเซ้าซี้ต่อไปก็ไม่กล้า จึงได้ลากลับไปด้วยหวังในใจว่าจะมาหาหลวงพ่ออีกสักสองสามครั้งก็คงจะสมปรารถนาเข้าสักวัน
วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อให้คนไปนิมนต์สมภารสว่างมา แล้วก็ขอประชุมพระสงฆ์สามเณรในวัดทุกองค์
เมื่อพระสงฆ์ ๒๔ รูป เณร ๖ รูป มาพร้อมกันแล้ว หลวงพ่อก็เล่าให้ฟังว่า แม่ทัพภาคมาขอพิมพ์เหรียญรูปของท่าน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ จำหน่ายเอาเงินไปบำรุงกองทัพ
พระมหาสว่าง คัดค้านเต็มที่
“วัดของเรากำลังจะทำการพัฒนา จะต้องสร้างโบสถ์ใหม่ ต้องสร้างศาลาการเปรียญใหม่ ต้องปรับปรุงกุฏิเสนาสนะ หันหน้าออกไปสู่ถนน ต้องใช้เงินจำนวนมาก  ถ้าหลวงพ่อจะอนุญาตให้ทำเหรียญก็ควรจะมอบให้วัดเราทำ จำหน่ายเอาเงินบูรณะปฏิสังขรณ์วัดของเรา”
พระเณรเห็นด้วยกับความเห็นของสมภารหนุ่ม พากันออกความเห็นสนับสนุนเต็มที่
“จะไม่เห็นแก่ชาติบ้างหรือ?” หลวงพ่อถามขึ้น “ถ้าชาติมีภัยอันตราย แล้วศาสนาจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ”
พระเณรนิ่งเงียบ
“แต่กองทัพก็มีงบประมาณของทางราชการ ออกเงินให้อยู่แล้ว เป็นพันเป็นหมื่นล้าน  จะเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้างไม่ไหวหรอกครับ หลวงพ่อ” พระมหาสว่างอภิปรายอย่างมีเหตุผลน่าฟัง
“ชาติก็เป็นของเราทุกคนน่ะแหละ เรามีหน้าที่ต้องช่วยชาติคนละไม้ละมือ ช่วยกันหลายๆ ทาง” หลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อจะอนุญาตให้เขาทำหรือครับ?” สมภารหนุ่มถามขึ้นตรงๆ
“ฉันไม่ได้คิดว่าจะให้เขาเอาไปหมดหรอก ให้เขาไปสักส่วนหนึ่ง เราเอาไว้สำหรับบำรุงวัดสักส่วนหนึ่ง  จะแบ่งส่วนกันมากน้อยอย่างไรก็คิดปรึกษากันดู”
“ให้เขาครึ่งต่อครึ่งน่ะ ผมว่าไม่ยุติธรรม”
พระมหาสว่างต่อรอง เมื่อเห็นว่าจะคัดค้านไม่ได้
“ผมคิดว่าจะอนุญาตให้ทำสัก ๕๐,๐๐๐ เหรียญ  คือเอาเคล็ดเท่าอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี คูณด้วย ๑๐ เท่า” หลวงพ่อพูด
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
“ทุนรอนค่าใช้จ่าย ใครออก?” พระมหาสว่างเป็นห่วง
“เหรียญนี้เป็นของวัดเรา เราออกทุนทำเองหมด แล้วบริจาคช่วยกองทัพไป ๑๐,๐๐๐ เหรียญ” หลวงพ่อตอบ
“ควรจะให้เขาออกค่าทำเหรียญทั้งหมด” พระมหาสว่างให้ความเห็น “ไม่ควรให้เขาเปล่าๆ”
“ถ้าให้เขาออกเงินสร้างเอง ก็เท่ากับเราไม่ได้บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ เราก็ไม่ได้บุญกุศล  เราจะต้องทำเอง ออกทุนเอง แล้วบริจาคให้ไปช่วยชาติ เราจึงจะได้บุญกุศล ภาคภูมิใจว่าเราได้ช่วยชาติ  แล้วเขาก็ไม่มีสิทธิจะมาต่อรองว่าขอเท่านั้นเท่านี้ เราจะมอบให้ตามจำนวนที่เราพอใจทำบุญ”
“ทำไมเราจะต้องมอบให้ฟรีๆ เปล่าๆ ถึงตั้ง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ  ถ้าทหารตำรวจอยากได้ก็ควรให้มาเช่าเอาจากวัด ถ้าเราจะทำบุญช่วยชาติเราก็มอบเงินให้เขาไปดีกว่า” พระภิกษุชมให้ความเห็น
“วัดไม่ควรจะบริจาคเงินทำบุญให้ใครทั้งสิ้น เพราะวัดไม่มีเงิน  เป็นเงินบริจาคทำบุญของญาติโยมเขาทั้งนั้น เขาบริจาคให้วัด วัดไม่มีสิทธิเอาไปทำอะไรที่ผิดความประสงค์ของผู้บริจาค  เงินที่วัดได้รับมาทุกบาท ยังไม่ใช่เงินของวัด ไม่ใช่เงินของสงฆ์ เป็นเงินของญาติโยมเขามอบให้วัดเก็บรักษาไว้ บูรณปฏิสังขรณ์ตามความประสงค์ของเขาเท่านั้น  วัดไม่มีสิทธิเอาเงินของเขาไปบริจาคให้ใคร” หลวงพ่ออธิบายย้ำความข้อนี้อย่างหนักแน่น
“เหรียญรูปของผม ผมทำของผมเอง ไม่ต้องให้ใครมาช่วยทำ  ถ้าไม่ดีคนเขาจะได้ลงโทษผมคนเดียว ไม่ต้องไปลงโทษพระอาจารย์อื่นๆ”
ที่ประชุมนิ่งเงียบ
“แล้วหลวงพ่อจะจำหน่ายเหรียญละเท่าไร?”
“เหรียญของผม ไม่มีราคา หาค่ามิได้” หลวงพ่อตอบ “ไม่ต้องตั้งราคาเหมือนสินค้า  ใครเขาทำบุญ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท มอบให้เขาไปเหรียญหนึ่ง  ใครเขาทำบุญมาก ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท เขาขอหลายๆ เหรียญก็ให้เขาไปตามสมควร”
“ก็ได้เงินน้อย ไม่พอใช้จ่าย” พระมหาสว่างพูด
“เงินบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่ใช่จะได้จากการจำหน่ายเหรียญดอก  บางคนเขาอาจจะทำบุญตั้งหมื่นตั้งแสนบาท ก็คงมี” หลวงพ่อว่า “แต่ว่าผมตั้งใจจะสร้างพระเครื่ององค์เล็กๆ สักจำนวนหนึ่ง ถือเอาเคล็ด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สำหรับมอบเป็นที่ระลึกแก่คนทำบุญอีกส่วนหนึ่ง”
“ทำพิธีพุทธาภิเษกไหมครับ?”
“ต้องทำพิธี เชิญเทพยดาเขามาร่วมด้วย ให้เทวดาเขาได้รับรู้อนุโมทนา”
 “ไม่มอบให้แม่ทัพหรือครับ?”
“พระเครื่องจำนวนนี้เป็นของวัดของสงฆ์ ผมไม่มีสิทธิจะเอาไปมอบให้ใคร ใครเขาอยากได้ก็มาขอแลกเปลี่ยนเอาไป”
“ราคาล่ะครับ?”
“สุดแล้วแต่จะกำหนดกัน แต่อย่าให้เกิน ๑๐๐ บาท คนจนๆ จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ”
“รูปอย่างไรดีครับ?” พระมหาสว่างถามอีก
“รูปเหมือนพระสมเด็จที่เปิดกรุวัดเรา คนเขารู้จักอยู่แล้ว  แต่ต้องทำเครื่องหมายให้แตกต่างกัน คนเขาจะได้รู้  ไม่ว่าหลอกลวงเขา”
“เรียกพระสมเด็จวัดโพธิขวาง”
“เรียกว่าพระสมเด็จไม่ได้หรอก วัดเราไม่มีพระชั้นสมเด็จเหมือนวัดระฆัง”
“คนเขานิยมเรียกพระแบบนี้ว่า พระสมเด็จ”
“งั้นเรียก “สมเด็จภควันต์” ก็แล้วกัน เพราะเป็นพระปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า” หลวงพ่อว่า “แต่ให้ทำเครื่องหมายใบโพธิไว้ด้านหลัง”
หลังจากการประชุมวันนั้น การดำเนินการสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อเพ็ง ๕๐,๐๐๐ เหรียญ พระสมเด็จภควันต์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ก็ได้ทำเสร็จโดยเร็ว ทันความต้องการของหลวงพ่อ  หลวงพ่อก็ได้รับเหรียญไปทำพิธีปลุกเสกของท่านเงียบในกุฏิองค์เดียว เสร็จแล้วท่านก็ให้นำเหรียญทั้งหมดไปวางใส่พานไว้ในอุโบสถ นิมนต์พระทั้งหมดในวัดไปสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน วันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี  ท่านพูดว่า
“ให้โอกาสเทวดาเขาอนุโมทนาบุญกุศล และอุทิศถวายแด่พระบรมศาสดา”
ท่านสั่งว่าให้พิมพ์คาถาภาวนาเมื่อนำเหรียญนี้ไปใช้ว่า “นะโม พุทธายะ พุทธะสะโร” มอบให้แก่ผู้เช่าเหรียญนี้ไปทุกคน
ท่านสั่งด้วยว่า อย่ามอบให้ใครไปก่อนที่ท่านจะมอบให้แม่ทัพภาคไปแล้ว
“อัญมณีจะมีค่า ก็ต้องมีแหวนทองรองรับ” ท่านว่าอย่างนี้แก่พระมหาสว่าง
เมื่อพระมหาสว่างไม่เข้าใจความหมาย ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า
“แม่ทัพภาคเปรียบเหมือนแหวนทองรองรับอัญมณี เขาเป็นคนในระดับสูงเอาไปให้ทหารใช้ ได้ผลดีอย่างไร จะเป็นเครื่องประกาศเกียรติคุณของเหรียญรุ่นนี้  ถ้ามอบให้ชาวบ้านไปก่อน ก็ดั่งเอาอัญมณีมีค่าไปใส่แหวนตะกั่ว ไม่มีเรือนทองรองรับอัญมณี”
พระมหาสว่าง หรือ “โอภาโสภิกขุ” สมภารหนุ่มจึงมาถึงบางอ้อ
รู้เหตุผลได้แจ่มแจ้งว่าเหตุใดหลวงพ่อจึงมอบเหรียญให้แม่ทัพภาคฟรีๆ ถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ
ถ้ามอบให้ชาวบ้านธรรมดาไปเก็บไว้บนหิ้ง  เมื่อไรเล่าคนทั้งหลายจึงจะรู้จักคุณค่า เมื่อไรเล่าเหรียญนี้จึงจะโด่งดังมีผู้รู้จักสรรพคุณ ต้องมอบให้ทหารไปทดลองใช้ก่อน จึงจะได้ผล
ไม่ช้า ผู้คนก็แตกตื่นกันมาขอเช่าเหรียญที่วัด มากันทุกวัน วันละหลายสิบคน แจกจ่ายดีเป็นเทน้ำเทท่า ได้เงินบริจาคมาบำรุงวัดมากมาย เกินกว่าที่ใครเคยคาดหมาย  บางรายทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท บางรายทำบุญ ๕๐,๐๐๐ บาท มีบางรายที่บริจาคเงินบำรุงวัดถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยได้รับเหรียญเป็นที่ระลึกไปเพียง ๑๐ เหรียญเท่านั้น  คนเหล่านี้อยากทำบุญกับหลวงพ่อ พอๆ กับที่อยากได้เหรียญรูปหลวงพ่อ
วัดโพธิขวาง เริ่มลงมือบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มหันหน้าวัดกลับไปสู่ทิศเหนือ เริ่มวางผังสร้างโบสถ์หน้าวัด  มีผู้คนไปมาหาสู่วัดทุกวัน มีรถราแล่นเข้ามาจอด คนใกล้ไกลต่างบ้านต่างเมืองพากันมาที่วัดโพธิขวาง  พสุธาวาสวัดโพธิขวางจึงเริ่มคึกคักหวั่นไหว เพราะผู้คนหลั่งไหลเลื่องลือ


( โปรดติดตามตอนต่อไป)