โพธิขวาง
๑๐.ผลัดเวลามัจจุราช
วันนั้นเป็นวันพระขึ้น ๑๕
ค่ำ เดือน ๓ นับเป็นวันสำคัญของวัดโพธิขวาง
มีเหตุการณ์พิเศษอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้
หรือจะเรียกว่าไม่เคยมีมาก่อนเลยก็ว่าได้ ประชาชนชาวตำบลนั้นและตำบลอื่น
อำเภออื่น จังหวัดอื่น ก็มาประชุมกันพร้อมพรั่ง มีจำนวนกว่า ๕๐๐ คน ล้วนแต่นุ่งขาวห่มขาวทั้งสิ้น
ทุกคนนัดหมายกันมาถือศีลอุโบสถที่วัดโพธิขวางเป็นเวลา
๗ วัน ๗ คืน จะถือศีลกินเพลประพฤติพรหมจรรย์ นอนกลางดิน มีแต่เสื่อหรือผ้าปูนอน
มีร่มหรือกลดขนาดใหญ่ปักกันน้ำค้าง บ้างก็ใช้ผ้าบังต้นไม้บังตามแต่จะหาได้ เมื่อพร้อมแล้วเวลาบ่ายโมง
ก็นิมนต์หลวงพ่อเพ็งให้ศีลอุโบสถบนศาลาการเปรียญ มีกำนันเชื้อเป็นหัวหน้า นายแย้ม
อุบาสก เป็นผู้อาราธนาศีล ครั้นรับศีลเสร็จแล้ว
กำนันเชื้อก็ได้เป็นผู้นำกล่าวคำปฏิญาณ คนอื่นว่าตามพร้อมกัน
“ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อพระรัตนตรัย
และเทวดาทั้งหลายอันศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิเดช มีทิพยโสต ทิพยเนตร ทั้งใกล้ไกลว่า ข้าพเจ้าขอถือศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ตลอด ๗
วัน ๗ คืน เพื่อตั้งจิตอุทิศถวายแด่พระครูญาณวิสุทธิ์ ผู้ที่ทรงศีล ทรงธรรม
ทรงคุณเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันมา
อาราธนาหลวงพ่อพระครูญาณวิสุทธิ์ จงได้มีเมตตาแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้บำเพ็ญอิทธิบาทภาวนา
ยับยั้งอายุขัยที่จะปลงธรรมสังขารลงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ นี้ ขอจงได้ผลัดเวลาแก่พญามัจจุราช เพื่อจะมีอายุขัยยืนยาวต่อไปอีกสัก
๑๐ ปี ข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อมั่นด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ว่า
ถ้าหากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูญาณวิสุทธิ์ ปรารถนาจะมีอายุยืนยาวต่อไป ด้วยเมตตาคุณแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายแล้ว
เทพยดาและพญามัจจุราชคงจะให้โอกาสเป็นแน่แท้ ด้วยสัจจวาจานี้ จงสำเร็จ
จงสำเร็จสมมโนรถปรารถนาของข้าพเจ้าทั้งหลายเทอญ”
พระครูญาณวิสุทธิ์นั่งนิ่งอยู่นาน
บรรยากาศในขณะนั้นสงบนิ่ง ทุกคนรอฟังคำตอบของหลวงพ่อ ทุกคนเชื่อมั่นว่า
ถ้าหลวงพ่อมีความปรารถนาที่จะมีอายุขัยต่อไป ก็อาจจะทำได้ แต่ถ้าไม่อาราธนาไว้ หลวงพ่อก็อาจจะปลงสังขารดับขันธ์ลงในวันเพ็ญเดือน
๔ นี้ ตามที่ท่านกำหนดไว้แล้ว เพราะขณะนี้ก็เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
“ใครจะหนีพญามัจจุราชพ้นเล่า
ถึงจะอยู่บนยอดเขาหิมพานต์ ถึงจะอยู่ในถ้ำ
ถึงจะดำน้ำดำดินหนี หรือมีปีกบินไปในอากาศได้ ใครจะหนีพญามัจจุราชพ้นเล่า?” หลวงพ่อพูดช้าๆ
ฟังชัดเจนได้ยินกันทั่ว
“ขออาราธนาหลวงพ่ออยู่เป็นที่พึ่งแก่พวกเราต่อไปอีก
๑๐ ปีเท่านั้น” กำนันเชื้อพูดเหมือนต่อราคาซื้อของ แต่แทนที่จะต่อลงกลับต่อขึ้น
“ฉันแก่แล้ว
ฉันหมดภาระหน้าที่แล้ว” หลวงพ่อยืนยัน
“ขออาราธนาให้อยู่สร้างโบสถ์ใหม่ให้เสร็จก่อน”
กำนันยืนยัน คนอื่นนิ่งเงียบสงัดทั้งศาลาการเปรียญ
หลวงพ่อนิ่งอยู่สักครู่
แล้วก็กล่าวว่า
“ฉันขอพบเจรจากับพญามัจจุราชเขาดูก่อน”
ครั้นแล้วหลวงพ่อก็นั่งหลับตา
เข้าสมาธิภาวนา ท่ามกลางคนทั้งหลายที่นั่งจ้องอยู่แทบไม่กระพริบตา
ครั้นแล้วหลวงพ่อก็ลืมตาขึ้นช้าๆ
ทุกคนตั้งตาตั้งใจฟังคำพูดของหลวงพ่อแทบจะลืมหายใจกันทั่วทุกคน
“พญามัจจุราช
เขายอมให้ฉันอยู่ได้อีก ๓ ปี”
หลวงพ่อพูดอย่างนี้!
ทุกคนหายใจกันเฮือกใหญ่
ยกมือขึ้นสาธุทั่วหน้า
มองดูคล้ายกับหลวงพ่อพูดเล่น
หรือเหมือนเล่นละครให้ดู แต่เมื่อหลวงพ่อพูดเช่นนั้น
ทุกคนก็ต้องเชื่อ หลวงพ่อไม่เคยพูดเล่น
วาจาหลวงพ่อเป็นสัตย์ เป็นจริง และมีวาจาสิทธิ์เสมอ
ทุกคนจึงได้กลับลงไปถือศีลอุโบสถ
ประพฤติพรหมจรรย์กันอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน ด้วยความอิ่มเอิบใจ ทุกคนเชื่อว่าหลวงพ่อสำเร็จญาณสมาบัติชั้นสูง
สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน หรือชั้นสกิทาคามี เป็นอย่างต่ำ หลวงพ่ออาจเข้าฌานแลเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้
กำหนดรู้วันตายของท่านเองได้ อาจเข้าญาณภาวนาทางจิตพบพญามัจจุราช
อันเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย เพื่อสอบถามกำหนดเวลาที่จะดับขันธ์ได้ด้วย ทุกคนพูดและเชื่อกันอย่างนั้น
จึงได้พร้อมใจกันมาถือศีลประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อจะรวมพลังกันขอร้องอาราธนาหลวงพ่อให้ยืดอายุขัยอยู่สร้างโบสถ์ใหม่ให้สำเร็จ
ดูๆ เหมือนเล่นละคร
แต่หลวงพ่อก็เล่นละครบทนี้ด้วย ยืนยันว่าพญามัจจุราช ยอมให้อยู่อีก ๓ ปี
จะเท็จจริงอย่างไรก็ต้องดูกันต่อไป
บางทีอำนาจจิตความเชื่อมั่นของคนหมู่มาก
อาจจะมีพลังทำอะไรที่แปลกมหัศจรรย์เหนือมนุษย์วิสัยให้เกิดขึ้นได้
“อุตตริมนุสสธรรม”
นั้นคือธรรมหรือสิ่งที่เหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญจะกระทำได้
ก็มีตรัสไว้ในพระพุทธศาสนา
“พระอริยบุคคล” อาจจะมี
“อุตตริมนุสสธรรม” คือธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญ แต่ท่านห้ามมิให้อวด “อุตตริมนุสสธรรม”
ที่ไม่มีอยู่ในตน ถึงมีอยู่ท่านก็ห้ามอวด
แต่อาจจะแสดงได้เมื่อถึงคราวจำเป็นถึงแก่ชีวิต หรือเพื่อป้องกันรักษาพระรัตนตรัย
หลวงพ่อท่านไม่ได้โอ้อวดใคร
เมื่อมีคนตั้ง ๕๐๐ คน
อาราธนาให้ท่านมีชีวิตอยู่ก่อน เพื่อพระพุทธศาสนา ด้วยความเชื่อมั่นว่าท่านทำได้
ท่านก็ว่าต้องเจรจากับพญามัจจุราชดูก่อน
พญามัจจุราช
จะมีตัวตนหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่พญามัจจุราช คือเครื่องหมายแห่งความตาย
ย่อมจะต้องมีอยู่ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
หลวงพ่อหลับตาภาวนา
เข้าญาณสมาธิในระดับสูง จิตย่อมแจ่มใสถึงขั้นใดขั้นหนึ่งที่เรียกว่าปฐมฌาน ทุติยฌาน
ตติยฌาน และจตุตถฌาน ซึ่งในอภิธรรมก็ว่า
มีวิตก-ตรึก วิจาร-ตรอง ปีติ-ยินดี สุข-เสวยสุข เอกัคคตา-เป็นเอกอย่างยิ่ง (เอก+อัค+คตา=ถึงความเป็นหนึ่งอย่างยิ่ง) จิตนิ่งสนิท-สงบ-สว่าง-ว่าง เป็นหนึ่งแล้ว
อาจจะเห็นเครื่องหมายหรือกำหนดเวลาแห่งวันตายเป็นตัวตนได้
ท่านจึงสามารถกำหนดรู้วันตายได้
และบอกให้คนทั้งหลายทราบล่วงหน้าได้ว่าท่านจะตายเมื่อไร คิดอย่างนี้แล้ว ก็อาจจะเป็นของธรรมดา
ไม่มหัศจรรย์อะไร ที่หลวงพ่อบอกว่า จะขอเจรจากับพญามัจจุราชก่อน อันพญามัจจุราชคือเทพเจ้าแห่งความตาย
จะมีรูปกายเป็นเทพหรือนิมิตหลายอย่างก็ไม่สำคัญอันใด สำคัญตรงที่ท่านมองเห็น
กำหนดรู้ได้ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ของท่าน ก็อาจพูดได้ว่า พบพญามัจจุราชแล้ว
เจรจากันแล้ว เพราะการเห็น การเจรจานั้น
เป็นเรื่องของจิตทั้งสิ้น เรียกว่า ทิพยจักษุหรือกายทิพย์ มิใช่เอากายเนื้อ
ปากเนื้อ ซึ่งมีลิ้นมีฟันนี้ไปเจรจาก็หาไม่
ผู้อ่านเรื่องนี้ที่ตั้งข้อสงสัย
ก็ขอจงได้ใคร่ครวญดูตามคำอธิบายของผู้ถือศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์
เขาพูดอธิบายความหมายกันในทางที่จะคลี่คลายปัญหานี้
แต่สำหรับผู้ที่ศรัทธาเชื่อมั่นว่ามีผีมีเทวดา
เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธองค์แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรที่จะคิดสงสัยแคลงใจเลย
พญามัจจุราช
เทพเจ้าแห่งความตาย เป็นเทพองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้งหลาย
แน่นอนมีกายทิพย์อันเห็นได้ในฌานสมาบัติแน่ เจรจากันได้ด้วยจิต คือกายทิพย์แน่
หลวงพ่อพระครูญาณวิสุทธิ์
ได้พบพญามัจจุราช ได้เจรจากันแน่ เขาเชื่อมั่นเช่นนั้น
มิฉะนั้นเขาก็จะไม่พากันมาอาราธนาหลวงพ่อให้ต่ออายุตัวเองในวันนี้
เขาเชื่อมั่นว่า
หลวงพ่อเป็นพระอริยบุคคลแน่ ถึงแม้หลวงพ่อไม่เคยบอกใครเลยว่าเป็นพระอริยบุคคล
เพราะการเป็นพระอริยบุคคลนั้น
รู้ได้ด้วยตนเอง และรู้กันได้ในระดับพระอริยบุคคลชั้นเดียวกัน เปรียบประดุจคนพูดภาษาเดียวกัน
จึงจะรู้ภาษาพูดกันได้ เข้าใจกันได้
ผู้ที่สำเร็จฌานสมาบัติชั้นเดียวกัน
จึงจะพูดกันเข้าใจและส่งกระแสฌานติดตามกันได้
คนไม่เคยเข้าฌานภาวนา
จะไปเยาะเย้ยคนที่เขาเข้าฌานภาวนา หลับตาเห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นเทวดาได้อย่างไร
พระพุทธศาสนา มีพระธรรมไว้สำหรับให้ทุกคนพิสูจน์ทดลองด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง
เพื่อจะรู้ได้ด้วยตนเอง เป็น “ปัจจัตตัง” (ปัจ+อัต
= รู้เห็นได้ด้วยตน)
ถ้าอยากรู้อยากเห็น
ก็ต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ถ้ายังมิได้ปฏิบัติด้วยตนเองตราบใดก็ย่อมจะยังไม่รู้ไม่เห็น
จะไปว่าผู้ที่เขาปฏิบัติว่าไม่จริงได้อย่างไร
เหมือนคนไม่เคยไปเมืองนอก
ใครจะเล่าให้ฟังอย่างไรก็คงมองไม่เห็น ยกเว้นแต่จะไปดูด้วยตนเอง
คนที่ถือศีลอุโบสถ
ประพฤติพรหมจรรย์ที่วัดโพธิขวางวันนั้นได้พูดจากันด้วยถ้อยคำเหล่านี้ เพื่อคลายความคลางแคลงสงสัยซึ่งกันและกัน
เป็นการบำรุงกำลังศรัทธาความเลื่อมใสในพระธรรมวินัย
และประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความอิ่มเอิบใจในการบุญกุศลกันต่อไป จนกระทั่งครบ ๗ วัน ๗
คืน จะมีใครผู้ใดเลิกละ หลีกเลี่ยง
เสียคราวนั้นก็หามีไม่ แม้แต่สักคนเดียว
ส่วนอาหารการกินนั้น
ชาวบ้านใกล้ไกลนำอาหารมาหุงต้มเลี้ยงวันละ ๒ มื้อ มิได้ขาดตกบกพร่อง
เพราะถือว่าการบริจาคทรัพย์ทำทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นมีผลานิสงส์สูง ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแบ่งลำดับการบริจาคทานที่มีผลานิสงส์สูงขึ้นตามลำดับดังนี้
๑.
ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน
๒.
ทำทานแก่บุคคลไม่มีศีล
๓.
ทำทานแก่บุคคลทรงศีล
๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
๔.
ทำทานแก่ภิกษุ
ทรงศีล ๒๒๗
๕.
ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรสมาธิวิปัสสนา
๖.
ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเป็นพระโสดาบัน
๗. ทำทานแก่ภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน
๘. ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเป็นพระสกิทาคามี
๙.
ทำทานแก่ภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีผล
๑๐.
ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเป็นพระอนาคามี
๑๑.
ทำทานแก่ภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระอนาคามีผล
๑๒.
ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเป็นพระอรหันต์
๑๓.
ทำทานแก่ภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล
๑๔.
ทำทานแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรเป็นพระพุทธเจ้า
๑๕.
ทำทานแก่ภิกษุผู้สำเร็จเป็นพระพระพุทธเจ้า
ทานที่บริจาค ย่อมมีผลานิสงส์สูงทวีขึ้นโดยลำดับ
ประดุจหว่านพืชลงในดินดีเพียงใด ย่อมได้ผลดีทวีขึ้นเพียงนั้น การหว่านพืชลงในดินดอนดินทรายแห้ง
ย่อมเกิดผลน้อย เหมือนการทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แต่ก็ยังไม่ไร้ผลเสียเลยทีเดียว
เพราะหว่านเมล็ดข้าวลงไป ๑๐ เมล็ด แม้จะออกรวงเพียง ๑ รวง
ก็ได้เมล็ดข้าวหลายสิบเมล็ดฉะนั้น แต่การหว่านเมล็ดข้าวลงในดินอันอุดม
ย่องงอกทุกเมล็ด และได้ผลร้อยเท่าพันทวี
คนทั้งหลายจึงนิยมทำบุญบริจาคทานแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล ๒๒๗ ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญ
อันควรหว่านพืชคือบุญทานลงไป เป็น “อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ” เป็นเนื้อนาบุญอันสูงสุดของโลกดังนี้
ในระหว่างนั้นพระมหาสว่าง
เจ้าอาวาสหนุ่ม ได้เข้ามาหาหลวงพ่อเพ็ง ตั้งปัญหาถามว่า
“เทวดามีจริงหรือหลวงพ่อ”
พระมหาสว่างเรียกหลวงพ่อเป็นคำแรก
“เทวดามีจริง” หลวงพ่อยืนยัน
“ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เทวดานั้นจริงหรือ?”
“จริง”
“เทวดาปรากฏกายแก่พระพุทธเจ้าได้อย่างไร?”
“เทวดามีกายทิพย์
เห็นได้ด้วยจิต เมื่อเข้าฌานสมาบัติ
สนทนากับเทวดาได้ด้วยจิต แต่สำหรับพระพุทธองค์
มีจิตอันสำเร็จแล้ว ไม่ต้องเข้าฌานอะไร เห็นได้เมื่อประสงค์จะเห็น
แสดงธรรมได้เมื่อเทวดามาเฝ้า แต่เทวดาจะมาเฝ้าเพื่อขอฟังธรรมในเวลาดึกสงัดแล้ว”
“คนเดี๋ยวนี้ไม่เชื่อว่ามีเทวดา”
“เพราะคนเดี๋ยวนี้
ไม่ได้ปฏิบัติทางจิต จึงไม่เห็นเทวดา เมื่อไม่เห็นก็ไม่เชื่อว่ามี
เมื่อไม่เชื่อเทวดา ก็ไม่เชื่อนรกสวรรค์ เมื่อไม่เชื่อนรกสวรรค์
ก็ไม่เชื่อพระนิพพาน ไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อวิบากกรรม คือ
ผลของกรรมที่จะเกิดแก่ผู้กระทำ เพราะกรรมเห็นด้วยตาไม่ได้
แรงกรรมเป็นของที่เห็นไม่ได้ด้วยตาทันทีทันใจทันตา ผลกรรมบางทีต้องรอผลนาน
คนทุกวันนี้ก็เลยไม่เชื่อกรรม เมื่อไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อนรก ไม่เชื่อสวรรค์
ไม่เชื่อนิพพาน ก็เลยไม่เชื่อคำตรัสของพระพุทธองค์”
“พระสงฆ์สมัยนี้ไม่ค่อยเชื่อเรื่องเทวดา
นรกสวรรค์ นิพพานก็ไม่ค่อยพูดถึงกัน” พระมหาสว่างว่า
“พระสงฆ์ที่เรียนแต่ปริยัติ
ไม่ได้เรียนปฏิบัติทางจิตก็ไม่เห็นเทวดา จึงไม่เชื่อเทวดากัน ถึงจะเรียนจบพระไตรปิฎก ทรงจำพระไตรปิฎกได้ตลอด
ถ้าไม่ได้เรียนปฏิบัติทางจิตก็ไม่บรรลุธรรมอะไรเห็นอะไรไม่ได้ จะต้องเรียนปฏิบัติทางจิตอีกด้วย
จึงจะรู้เห็นได้ด้วยจิต ฆราวาสหรือพระสงฆ์ก็ตาม เรียกว่า “เสขบุคคล”
ทั้งนั้น ถึงจะเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน สกิทาคา อนาคามี ก็ยังเป็นเสขบุคคลอยู่
เสขบุคคล แปลว่า บุคคลที่ยังต้องศึกษาอบรมฝึกฝนทางจิต เสขะแปลว่า ศึกษา อบรมทางจิต ถ้าลุพระอรหัตตผลแล้ว จึงเรียกว่า “อเสขบุคคล”
แปลว่าบุคคลที่ไม่ต้องฝึกฝนอบรมทางจิตอีกแล้ว แต่พระสงฆ์ที่ถือศีล ๒๒๗
ไม่ได้ฝึกฝนอบรมศึกษาทางจิต ก็เพียงแต่มีศีล เป็นพระดีมีวินัยเท่านั้น ต้องฝึกฝนอบรมทางจิตทางปฏิบัติ เรียกว่า
เรียนพระปฏิบัติต่อไป จึงจะเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์
แจ้งพระนิพพานบรรลุมรรคผลชั้นสูงได้ ถ้าไม่ได้เรียนปฏิบัติ
ก็ไม่เชื่อเรื่องเทวดา เป็นธรรมดา เลยติว่าพระพุทธประวัติโกหก
ที่ว่าพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมโปรดเทวดา”
“อย่างผมนี่เห็นจะเรียนปฏิบัติยาก
อุปนิสัยไม่ให้”
“พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า
ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงแล้ว จะบรรลุมรรคผลได้ทุกคน จะบรรลุช้าหรือเร็วก็สุดแต่วาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา
คนมีบารมีมากก็อาจบรรลุได้ใน ๗ วัน คนมีบารมีน้อย ก็อาจบรรลุได้ภายใน ๗ เดือน
คนมีบารมีน้อยที่สุดอาจบรรลุได้ภายใน ๗ ปี ขอแต่ให้มีความเพียรพยายามปฏิบัติไม่ท้อถอย
ไม่ละเว้น ไม่ปล่อยวางทอดทิ้งเสียเท่านั้น”
พระมหาสว่าง
ฟังหลวงพ่ออธิบายแล้ว ก็กราบลาไปยังกุฏิ นึกในใจว่า
หลวงพ่อเพ็งนี้ ไม่ใช่พระนักธรรม นักบาลี แต่มีความรู้กว้างขวาง
อธิบายธรรมได้แจ่มแจ้ง ไม่ติดขัดเลย เราเรียนบาลี
๖ ประโยคก็พูดไม่ได้แจ่มแจ้งอย่างนี้ ชะรอยว่าการเรียนพระพุทธศาสนาสอบเป็นเปรียญนี้
จะไม่ใช่หนทางการเรียนพระพุทธศาสนาที่ถูกทางเสียแล้ว
อย่างน้อยก็ไม่เหมาะกับพระภิกษุสงฆ์ ควรจะเป็นการศึกษาของชาวโลกมากกว่า ยิ่งการเรียนเอาปริญญา พุทธศาสตร์บัณฑิต
ศาสนศาสตร์บัณฑิต ก็ยิ่งเป็นการเรียนแบบชาวโลกเต็มตัว
เป็นการเรียนเพื่อหันหน้าออกนอกวัดทั้งสิ้น ที่ตะเกียกตะกายไปเรียนปริญญาโทจากอินเดีย
จากอเมริกา ก็ดูยิ่งนอกทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
เรียนจบมาแล้วก็พากันลาสึกไปครองเรือนกันเสียมากต่อมาก จนทุกวันนี้พระพุทธศาสนาอ่อนกำลังลงทุกที
เพราะพระภิกษุที่มีสติปัญญาดีพอที่จะเป็นกำลังของพระพุทธศาสนา พากันหนีวัดเสียหมด แล้วพระพุทธศาสนาจะเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกได้อย่างไร
พระมหาสว่าง
คิดดังนี้แล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ คิดถึงตัวเองว่า
จะมีกำลังช่วยพระพุทธศาสนาได้อย่างไร คิดถึงเพื่อนสมภารเจ้าวัดด้วยกัน
ก็คงจะดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลวนอันเดียวกันเสียโดยมาก
เขาว่า “รู้น้อยพลอยรำคาญ
รู้มากยากนาน” เราเองจะตกอยู่ในคติไหนกันแน่ เดิมทีเราก็คิดว่าเรารู้อะไรมากในพระพุทธศาสนา
แต่ทำอะไรก็ยาก เพราะรู้มากคิดมากเกินไป บัดนี้ดูเหมือนว่าเราจะกลายเป็นผู้รู้น้อยพลอยรำคาญใจไปเสียแล้ว
สมภารหนุ่มคิดอะไรก็ไม่ตก
เอามือก่ายหน้าผาก คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปจนม่อยหลับไป
ลืมสวดมนต์ไหว้พระเหมือนดังที่เคยปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น