วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ตอน ๑๑ พสุธาวาสหวั่นไหว


โพธิขวาง 
ตอน๑๑ พสุธาวาสหวั่นไหว

ข่าวใหญ่เลื่องลือไปทั่วตำบลโพธิขวางและข้างเคียง  คือ ทางราชการสร้างทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านมาหลังวัดโพธิขวาง เริ่มทำการสำรวจส่องกล้องทำแผนที่มาหลายเดือนแล้ว ขณะนี้เริ่มถางป่าถางต้นไม้กรุยทางเป็นแนวมา  แนวทางนั้นห่างหลังวัดไปประมาณ ๑๕ เส้น กินเนื้อที่วัดโพธิขวางไปตลอดแนว  ไม่กี่วันก็มีเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกมาขุดดินสร้างถนนกันอย่างคึกคัก การสร้างถนนส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกล แต่ก็ต้องจ้างผู้คนเป็นกรรมกรสร้างทางจำนวนมาก  บริษัทรับเหมาสร้างทางชาวต่างประเทศ ได้มารับเหมาสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนี้ ได้จ้างกรรมกรชายวันละ ๒๐ บาท กรรมกรหญิงวันละ ๑๕ บาท  ชาวตำบลโพธิขวางได้ไปรับจ้างกันมาก ที่ยากจนก็ได้เงินค่าจ้างพอเงยหน้าอ้าปาก มีเงินทองใช้สอยกันคราวนี้  ที่มีที่ดินไร่นาราคาถูก แต่ก่อนซื้อขายกันไร่ละ ๒,๐๐๐ บาท ก็มีราคาสูงขึ้นถึงไร่ละ ๔,๐๐๐ บาท  ราคาที่ดินสูงทวีมากขึ้นทุกวัน เป็นไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท ๖,๐๐๐ บาท เพราะมีคนต่างเมืองต่างจังหวัดมากว้านซื้อกันเป็นร้อยไร่พันไร่
กำนันเชื้อและนายเงื่อนมีอาชีพใหม่เอี่ยมอีกอย่างหนึ่ง คือรับเป็นนายหน้าซื้อที่ดิน  ผู้คนแตกตื่นรับเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินกันมาก วันหนึ่งๆ จะมีคนแปลกหน้าแต่งตัวดีๆ มาหาซื้อที่ดินกันมาก พ่อค้าใหญ่ๆ ในจังหวัดและจากกรุงเทพฯ มาติดต่อซื้อที่ดินกันขวักไขว่ไปทั่ว  ราคาที่ดินจึงสูงขึ้นเรื่อย สูงขึ้นทุกวันทีเดียว เมื่อวานนี้ราคาไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท วันนี้เป็นราคาไร่ละ ๖,๐๐๐ บาท  บางคนมี ๑๐ ไร่ ขายไป ๖๐,๐๐๐ บาท วันนี้ พอทำสัญญารับมัดจำไว้ ๑๐,๐๐๐ บาท พรุ่งนี้ก็ได้ข่าวว่า คนซื้อขายต่อไปแล้ว ๗๐,๐๐๐ บาท ไม่กี่วันต่อมาก็ได้ข่าวว่าขายต่ออีกทอดหนึ่งแล้ว ราคา ๘๐,๐๐๐ บาท  บางคนมีที่ป่าละเมาะอยู่ถึง ๑๐๐ ไร่ มีแต่ น.ส. ๓ ถือไว้ แต่ก่อนนี้ก็ราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท ขณะนี้มีคนมาขอซื้อไร่ละ ๖,๐๐๐ บาท ได้ราคาถึง ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่พอไปโอนที่ดิน คนที่ซื้อไม่ใช่คนเดิม กลายเป็นว่าขายต่อไปอีกหลายทอด คนสุดท้ายขายไปถึง ๑ ล้านบาท ที่ดินของตัวแท้ๆ ได้รับเงินเพียง ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่คนซื้อไปไม่ต้องลงทุนอะไรเลย วางมัดจำไว้หมื่นบาท ได้กำไรถึง ๔๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ บาท อย่างนี้ก็มี  
ชาวไร่ชาวนาที่เป็นหนี้สินอยู่ เอาที่ทางไปจำนองไว้ไม่มีปัญญาไปไถ่ถอนคืน ก็ขายที่ได้เงินไถ่คืนคราวนี้  บางทีนายทุนที่รับจำนำไว้ ก็ขอซื้อราคาสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว  มีการซื้อขายที่ดินกันคึกคักที่สุด ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชั่วอายุคนตำบลโพธิขวางและข้างเคียง  แต่ที่ดินราคาสูงถึงไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท นั้นต้องอยู่ติดถนนผ่าน ที่ห่างไกลออกไปราคาต่ำลง  ชาวไร่ชาวนาขายที่ดินกันทั่วไป  ส่วนกำนันเชื้อก็ขายที่ดินไปหลายแปลง ราคาสูงลิ่วทั้งนั้นเพราะถนนผ่านที่ดิน แต่บางแปลงถนนตัดเนื้อที่เกือบหมด ที่ดิน ๑๐ ไร่ถนนตัดผ่านไปตามยาว เหลืออยู่ไม่ถึง ๒ ไร่ก็มี  นายเงื่อนเป็นนายหน้าค้าที่ดินคราวนี้ ได้เงินค่านายหน้าหลายหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ไม่มีที่ดินขายกับเขาเลย ก็มีเงินซื้อที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์แปลงหนึ่ง อยู่ติดถนน ซื้อไว้ไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท รวม ๒๐ ไร่ ขณะนี้มีคนมาติดต่อขอซื้อ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ก็ยังไม่ขาย แปลว่าคราวนี้นายเงื่อนมีหลักทรัพย์อยู่ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว
การสร้างทางหลวงแผ่นดินคราวนี้ สร้างอยู่ ๑๘ เดือนก็เสร็จ เป็นถนนขนาดใหญ่เทคอนกรีตกว้างถึง ๖ วา ยังกันที่ดินข้างถนนไว้อีกข้างละ ๑๕ วา ตัดตรงลิ่วมาจากทางกรุงเทพฯ แล่นผ่านหลังวัดโพธิขวางไปแลไกลสุดสายตา มีรถยนต์แล่นผ่านไปมาขวักไขว่ทั้งวัน  ถนนสายนี้ได้เปลี่ยนสภาพตำบลโพธิขวางให้เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ คนยากจนได้เงินค่ารับจ้างทำถนน พอมีกินมีใช้ไม่อดอยากฝืดเคืองเหมือนแต่ก่อน พอมีทุนรอนไปทำอาชีพอย่างอื่นต่อไป  คนที่มีที่ดินติดถนนก็ขายได้ราคาสูง เอาไปปลูกบ้านซ่อมเรือน ซื้อที่ดินแหล่งใหม่ต่อไป คนเป็นนายหน้าที่ดินก็มีเงินทองมาก  สถานที่ดินที่เคยเป็นไร่นาป่าละเมาะก็มีคนมาซื้อจับจองทำไร่ ปลูกร้านเรือนอยู่ริมถนน บางคนมีทุนมากก็มาจับจองทำไร่สวน เปลี่ยนสภาพจากที่ดินรกร้างให้เป็นไร่ขึ้น
วัดโพธิขวางก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ที่เคยเป็นป่าช้าอึมครึมอยู่หลังวัดนั้น ถนนตัดผ่านมาต้องรื้อป่าช้าออกไป ถางไม้ถางป่าออกแลโล่งเตียน ยังเหลือที่ดินบริเวณหลังวัดอีกมาก  วัดที่เคยหันหน้าลงแม่น้ำทางใต้ ก็จำเป็นจำต้องหันหน้ากลับไปทางเหนือ หันหน้าเข้าสู่ถนนสายใหญ่ทางหลวงแผ่นดิน  เพราะบัดนี้คนก็ผ่านไปมาทางถนนขึ้นรถยนต์ ไม่ใช่แม่น้ำกันอีกแล้ว ยกเว้นฝั่งตรงข้าม แต่ก็ข้ามมาขึ้นหน้าวัดมาขึ้นรถยนต์กันโดยมาก
กำนันเชื้อดูจะดีใจจนออกนอกหน้า เพราะขายที่ได้เงินมากนับแสน เป็นนายหน้าค้าที่ดินก็ได้มาก ที่ดินเหลืออยู่ก็มีราคาดี  กำนันเชื้อกลายเป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง มีเงินฝากธนาคารมาก ลือกันว่าเป็นล้านๆ บาททีเดียว  แต่ที่กำนันเชื้อดีใจมากก็คือ เรื่องวัดโพธิขวางจะได้หันหน้าออกถนนทางทิศเหนือ  ที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดริมถนนฝั่งเหนือเป็นของกำนันเชื้อ ยังไม่ได้ขาย มีอยู่ถึง ๘๐ ไร่ กำนันเชื้อจึงมีความประสงค์จะให้วัดปรับปรุงแผนผังวัด เพื่อหันหน้าวัดไปทางเหนือออกสู่ถนนใหญ่โดยเร็ว กำนันเชื้อพูดอย่างชื่นชมยินดีว่า
“หลวงพ่อพูดไว้ยังกับตาเห็น ว่าจะมีถนนรถยนต์ใหญ่แล่นผ่านหน้าวัด จะมีรถยนต์แล่นไปมาขวักไขว่  หลวงพ่อพูดล่วงหน้าไว้ตั้ง ๓-๔ ปี เหมือนปากท่านว่าทุกอย่าง”
คนทั้งหลายที่เคยได้ยินหลวงพ่อพูด ก็พากันชื่นชมโสมนัส นับถือว่าหลวงพ่อได้ฌานสมาบัติ ได้ตาทิพย์ มองเห็นล่วงหน้าได้ วาจาสิทธิ์ พูดอะไรไว้ก็เป็นอย่างนั้น
แต่คนที่ไม่เชื่อ ก็ว่าหลวงพ่อคงรู้ระแคะระคายอะไรมาก่อน คงจะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาพบปะพูดจาให้รู้ว่าจะสร้างถนนหลวงผ่านมาทางตำบลนี้
แต่คนที่เชื่อถือก็คัดค้านว่า การสร้างถนนต้องมีช่างสำรวจทำแผนที่ ถึงจะรู้ว่าสร้างทางหลวงแผ่นดิน ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะตัดผ่านตำบลนี้ ทีแรกเห็นมีข่าวว่าจะสร้างถนนไม่ผ่านตำบลนี้ด้วยซ้ำไป  อย่าว่าแต่จะรู้ว่าตัดถนนผ่านที่ดินหลังวัดเลย ทางหลวงแผ่นดินจะผ่านตำบลนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครคาดถูก ก็เจ้าเมืองนายอำเภอยังไม่รู้ล่วงหน้ารายละเอียดอะไรเลย  หลวงพ่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานบ้านเมืองจะไปรู้จากทางราชการกรมทางหลวงแผ่นดินได้อย่างไร หลวงพ่อต้องรู้ได้ด้วยญาณพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญเท่านั้น หลวงพ่อจะต้องได้ญาณสมาบัติ หลวงพ่อจะต้องเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันเป็นอย่างต่ำ  คนที่เชื่อถืออย่างนี้มีมาก
ชื่อเสียงของหลวงพ่อเพ็ง วัดโพธิขวาง จึงขจรขจายไปทั่ว  ตั้งแต่มีถนนรถยนต์ มีผู้คนมาหาหลวงพ่อไม่ได้ขาด ชื่อหลวงพ่อเพ็งมีคนรู้จักทั่วไปทั้งใกล้ไกล ต่างบ้านต่างเมือง  พ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มาหาท่านมาก ก็ได้แต่มาขอให้ท่านรดน้ำมนต์ให้บ้าง เป่ากระหม่อมให้บ้าง ไม่ได้อะไรเพราะท่านไม่ได้ทำเครื่องรางของขลังอะไร คนที่ต้องการของดีทางนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “วัตถุมงคล” จึงค่อนข้างจะผิดหวัง
เคยมีคนเสนอให้ท่านสร้างพระเครื่อง หรือเหรียญรูปท่าน แต่ท่านเฉยเสีย
กำนันก็เคยพูดว่าวัดโพธิขวางมีถนนผ่านหน้าวัดแล้ว ต่อไปจะต้องสร้างโบสถ์ใหม่ไว้หน้าวัด ควรจะทำเหรียญที่ระลึกออกจำหน่ายหาเงินสร้างโบสถ์ต่อไป แต่ท่านก็นิ่งเฉยอยู่
พระมหาสว่าง เจ้าอาวาส เคยเสนอความคิดนี้แก่ท่านไม่ใช่หนเดียว หลายครั้งหลายหน แต่ท่านก็ยังอิดเอื้อนอยู่ไม่ยอมอนุญาต
วันหนึ่ง แม่ทัพกองทัพภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับการตำรวจภูธร พร้อมด้วยคณะ ๑๐ กว่าคน ก็ได้มาหาหลวงพ่อถึงวัด  หลวงพ่อได้ต้อนรับคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามปกติ ที่กุฏิโบราณหลังนั้น ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ไม่มีเสื่อปู คงนั่งกับพื้นกระดานเสมอกัน หลวงพ่อเพียงแต่เรียกเด็กให้ยกกาน้ำร้อนกับถ้วยชาไปตั้งไว้ให้ดื่มกันเท่านั้น  แต่ทุกคนก็มิได้รังเกียจ เพราะมีความเคารพหลวงพ่อเป็นเดิมพันอยู่ในใจทุกคน การต้อนรับอย่างไรจึงไม่สำคัญ สำคัญแต่ว่าเรื่องที่มุ่งหมายมาหาจะได้สมประสงค์หรือไม่
ท่านแม่ทัพได้แนะนำตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็แนะนำตัวเอง  เมื่อได้แนะนำตัวให้หลวงพ่อรู้จักแล้ว ก็ได้แจ้งความประสงค์ให้หลวงพ่อทราบ
“ผมจะมาขอพึ่งบารมีหลวงพ่อ” ท่านแม่ทัพเริ่มเรื่อง “เวลานี้ตำรวจทหารต้องไปประจำอยู่ตามชายแดน ต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย บาดเจ็บล้มตายกันอยู่ทุกวัน ไม่มีอะไรจะยึดเหนี่ยวเป็นเครื่องป้องกันตัวและบำรุงขวัญ  ผมจึงคิดว่าจะขออนุญาตหลวงพ่อสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อ ทำพิธีปลุกเสก แล้วจำหน่ายจ่ายแจกเก็บไว้เป็นทุนสวัสดิการแก่ทหารตำรวจ เวลาเจ็บป่วยล้มตายก็จะได้มีเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าช่วยเหลือครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตรต่อไป  ผมหวังว่าหลวงพ่อคงจะเมตตาอนุญาตให้ทำ”
หลวงพ่อเพ็งวัดโพธิขวาง หรือพระครูญาณวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ วัดโพธิขวางนั่งตรึกตรองอยู่สักครู่หนึ่ง ก็พูดขึ้นว่า
“พระอาจารย์วัดต่างๆ ก็มีชื่อเสียงโด่งดังถมไป ทำไมไม่ไปขอท่านทำล่ะจ๊ะ?”
“ทำกันจนเปรอะแล้วหลวงพ่อ ทำกันอยู่แทบทุกวัด สู้หลวงพ่อไม่ได้หรอก ใครๆ ก็เคารพนับถือ  ถ้าทำเหรียญหลวงพ่อจะต้องดังยิ่งกว่าทุกวัด ไม่มีวัดไหนสู้ได้” แม่ทัพภาคว่าดังนี้
“จะทำขึ้นสักเท่าไหร่ล่ะจ๊ะ?”
ท่านแม่ทัพภาคดีใจ หน้าชื่น คิดว่าหลวงพ่ออนุญาตให้ทำแน่
“ผมกะว่าจะทำสักแสนเหรียญ”
“จำหน่ายเหรียญละเท่าไหร่จ๊ะ?”
“ผมกะว่าเหรียญละ ๑๐๐ บาท”
“เอาฉันไปขายตั้ง ๑๐ ล้านเชียวหรือจ๊ะ?” หลวงพ่อพูดยิ้มๆ เล่นเอาแม่ทัพภาคนิ่งอึ้งไปเดี๋ยวหนึ่ง
“ผมก็ต้องลงทุนมาก แล้วก็อยากจะตั้งกองทุนสวัสดิการไว้มากๆ” แม่ทัพภาคพูดไม่เต็มปาก
“ขอโอกาสให้ฉันปรึกษาคณะสงฆ์และกรรมการวัดดูก่อนนะจ๊ะ” หลวงพ่อพูดเรียบๆ แต่มีความหมายว่ายังไม่อนุญาตดีๆ นี่เอง
แม่ทัพภาคและคณะดูเหตุการณ์ยังไม่สมประสงค์ จะพูดเซ้าซี้ต่อไปก็ไม่กล้า จึงได้ลากลับไปด้วยหวังในใจว่าจะมาหาหลวงพ่ออีกสักสองสามครั้งก็คงจะสมปรารถนาเข้าสักวัน
วันรุ่งขึ้น หลวงพ่อให้คนไปนิมนต์สมภารสว่างมา แล้วก็ขอประชุมพระสงฆ์สามเณรในวัดทุกองค์
เมื่อพระสงฆ์ ๒๔ รูป เณร ๖ รูป มาพร้อมกันแล้ว หลวงพ่อก็เล่าให้ฟังว่า แม่ทัพภาคมาขอพิมพ์เหรียญรูปของท่าน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญ จำหน่ายเอาเงินไปบำรุงกองทัพ
พระมหาสว่าง คัดค้านเต็มที่
“วัดของเรากำลังจะทำการพัฒนา จะต้องสร้างโบสถ์ใหม่ ต้องสร้างศาลาการเปรียญใหม่ ต้องปรับปรุงกุฏิเสนาสนะ หันหน้าออกไปสู่ถนน ต้องใช้เงินจำนวนมาก  ถ้าหลวงพ่อจะอนุญาตให้ทำเหรียญก็ควรจะมอบให้วัดเราทำ จำหน่ายเอาเงินบูรณะปฏิสังขรณ์วัดของเรา”
พระเณรเห็นด้วยกับความเห็นของสมภารหนุ่ม พากันออกความเห็นสนับสนุนเต็มที่
“จะไม่เห็นแก่ชาติบ้างหรือ?” หลวงพ่อถามขึ้น “ถ้าชาติมีภัยอันตราย แล้วศาสนาจะอยู่ได้อย่างไรล่ะ”
พระเณรนิ่งเงียบ
“แต่กองทัพก็มีงบประมาณของทางราชการ ออกเงินให้อยู่แล้ว เป็นพันเป็นหมื่นล้าน  จะเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้างไม่ไหวหรอกครับ หลวงพ่อ” พระมหาสว่างอภิปรายอย่างมีเหตุผลน่าฟัง
“ชาติก็เป็นของเราทุกคนน่ะแหละ เรามีหน้าที่ต้องช่วยชาติคนละไม้ละมือ ช่วยกันหลายๆ ทาง” หลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อจะอนุญาตให้เขาทำหรือครับ?” สมภารหนุ่มถามขึ้นตรงๆ
“ฉันไม่ได้คิดว่าจะให้เขาเอาไปหมดหรอก ให้เขาไปสักส่วนหนึ่ง เราเอาไว้สำหรับบำรุงวัดสักส่วนหนึ่ง  จะแบ่งส่วนกันมากน้อยอย่างไรก็คิดปรึกษากันดู”
“ให้เขาครึ่งต่อครึ่งน่ะ ผมว่าไม่ยุติธรรม”
พระมหาสว่างต่อรอง เมื่อเห็นว่าจะคัดค้านไม่ได้
“ผมคิดว่าจะอนุญาตให้ทำสัก ๕๐,๐๐๐ เหรียญ  คือเอาเคล็ดเท่าอายุพระพุทธศาสนา ๕,๐๐๐ ปี คูณด้วย ๑๐ เท่า” หลวงพ่อพูด
ที่ประชุมเห็นชอบด้วย
“ทุนรอนค่าใช้จ่าย ใครออก?” พระมหาสว่างเป็นห่วง
“เหรียญนี้เป็นของวัดเรา เราออกทุนทำเองหมด แล้วบริจาคช่วยกองทัพไป ๑๐,๐๐๐ เหรียญ” หลวงพ่อตอบ
“ควรจะให้เขาออกค่าทำเหรียญทั้งหมด” พระมหาสว่างให้ความเห็น “ไม่ควรให้เขาเปล่าๆ”
“ถ้าให้เขาออกเงินสร้างเอง ก็เท่ากับเราไม่ได้บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ เราก็ไม่ได้บุญกุศล  เราจะต้องทำเอง ออกทุนเอง แล้วบริจาคให้ไปช่วยชาติ เราจึงจะได้บุญกุศล ภาคภูมิใจว่าเราได้ช่วยชาติ  แล้วเขาก็ไม่มีสิทธิจะมาต่อรองว่าขอเท่านั้นเท่านี้ เราจะมอบให้ตามจำนวนที่เราพอใจทำบุญ”
“ทำไมเราจะต้องมอบให้ฟรีๆ เปล่าๆ ถึงตั้ง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ  ถ้าทหารตำรวจอยากได้ก็ควรให้มาเช่าเอาจากวัด ถ้าเราจะทำบุญช่วยชาติเราก็มอบเงินให้เขาไปดีกว่า” พระภิกษุชมให้ความเห็น
“วัดไม่ควรจะบริจาคเงินทำบุญให้ใครทั้งสิ้น เพราะวัดไม่มีเงิน  เป็นเงินบริจาคทำบุญของญาติโยมเขาทั้งนั้น เขาบริจาคให้วัด วัดไม่มีสิทธิเอาไปทำอะไรที่ผิดความประสงค์ของผู้บริจาค  เงินที่วัดได้รับมาทุกบาท ยังไม่ใช่เงินของวัด ไม่ใช่เงินของสงฆ์ เป็นเงินของญาติโยมเขามอบให้วัดเก็บรักษาไว้ บูรณปฏิสังขรณ์ตามความประสงค์ของเขาเท่านั้น  วัดไม่มีสิทธิเอาเงินของเขาไปบริจาคให้ใคร” หลวงพ่ออธิบายย้ำความข้อนี้อย่างหนักแน่น
“เหรียญรูปของผม ผมทำของผมเอง ไม่ต้องให้ใครมาช่วยทำ  ถ้าไม่ดีคนเขาจะได้ลงโทษผมคนเดียว ไม่ต้องไปลงโทษพระอาจารย์อื่นๆ”
ที่ประชุมนิ่งเงียบ
“แล้วหลวงพ่อจะจำหน่ายเหรียญละเท่าไร?”
“เหรียญของผม ไม่มีราคา หาค่ามิได้” หลวงพ่อตอบ “ไม่ต้องตั้งราคาเหมือนสินค้า  ใครเขาทำบุญ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท มอบให้เขาไปเหรียญหนึ่ง  ใครเขาทำบุญมาก ๑,๐๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท เขาขอหลายๆ เหรียญก็ให้เขาไปตามสมควร”
“ก็ได้เงินน้อย ไม่พอใช้จ่าย” พระมหาสว่างพูด
“เงินบูรณปฏิสังขรณ์ ไม่ใช่จะได้จากการจำหน่ายเหรียญดอก  บางคนเขาอาจจะทำบุญตั้งหมื่นตั้งแสนบาท ก็คงมี” หลวงพ่อว่า “แต่ว่าผมตั้งใจจะสร้างพระเครื่ององค์เล็กๆ สักจำนวนหนึ่ง ถือเอาเคล็ด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สำหรับมอบเป็นที่ระลึกแก่คนทำบุญอีกส่วนหนึ่ง”
“ทำพิธีพุทธาภิเษกไหมครับ?”
“ต้องทำพิธี เชิญเทพยดาเขามาร่วมด้วย ให้เทวดาเขาได้รับรู้อนุโมทนา”
 “ไม่มอบให้แม่ทัพหรือครับ?”
“พระเครื่องจำนวนนี้เป็นของวัดของสงฆ์ ผมไม่มีสิทธิจะเอาไปมอบให้ใคร ใครเขาอยากได้ก็มาขอแลกเปลี่ยนเอาไป”
“ราคาล่ะครับ?”
“สุดแล้วแต่จะกำหนดกัน แต่อย่าให้เกิน ๑๐๐ บาท คนจนๆ จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ”
“รูปอย่างไรดีครับ?” พระมหาสว่างถามอีก
“รูปเหมือนพระสมเด็จที่เปิดกรุวัดเรา คนเขารู้จักอยู่แล้ว  แต่ต้องทำเครื่องหมายให้แตกต่างกัน คนเขาจะได้รู้  ไม่ว่าหลอกลวงเขา”
“เรียกพระสมเด็จวัดโพธิขวาง”
“เรียกว่าพระสมเด็จไม่ได้หรอก วัดเราไม่มีพระชั้นสมเด็จเหมือนวัดระฆัง”
“คนเขานิยมเรียกพระแบบนี้ว่า พระสมเด็จ”
“งั้นเรียก “สมเด็จภควันต์” ก็แล้วกัน เพราะเป็นพระปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า” หลวงพ่อว่า “แต่ให้ทำเครื่องหมายใบโพธิไว้ด้านหลัง”
หลังจากการประชุมวันนั้น การดำเนินการสร้างเหรียญรูปหลวงพ่อเพ็ง ๕๐,๐๐๐ เหรียญ พระสมเด็จภควันต์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ก็ได้ทำเสร็จโดยเร็ว ทันความต้องการของหลวงพ่อ  หลวงพ่อก็ได้รับเหรียญไปทำพิธีปลุกเสกของท่านเงียบในกุฏิองค์เดียว เสร็จแล้วท่านก็ให้นำเหรียญทั้งหมดไปวางใส่พานไว้ในอุโบสถ นิมนต์พระทั้งหมดในวัดไปสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน วันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี  ท่านพูดว่า
“ให้โอกาสเทวดาเขาอนุโมทนาบุญกุศล และอุทิศถวายแด่พระบรมศาสดา”
ท่านสั่งว่าให้พิมพ์คาถาภาวนาเมื่อนำเหรียญนี้ไปใช้ว่า “นะโม พุทธายะ พุทธะสะโร” มอบให้แก่ผู้เช่าเหรียญนี้ไปทุกคน
ท่านสั่งด้วยว่า อย่ามอบให้ใครไปก่อนที่ท่านจะมอบให้แม่ทัพภาคไปแล้ว
“อัญมณีจะมีค่า ก็ต้องมีแหวนทองรองรับ” ท่านว่าอย่างนี้แก่พระมหาสว่าง
เมื่อพระมหาสว่างไม่เข้าใจความหมาย ท่านก็อธิบายให้ฟังว่า
“แม่ทัพภาคเปรียบเหมือนแหวนทองรองรับอัญมณี เขาเป็นคนในระดับสูงเอาไปให้ทหารใช้ ได้ผลดีอย่างไร จะเป็นเครื่องประกาศเกียรติคุณของเหรียญรุ่นนี้  ถ้ามอบให้ชาวบ้านไปก่อน ก็ดั่งเอาอัญมณีมีค่าไปใส่แหวนตะกั่ว ไม่มีเรือนทองรองรับอัญมณี”
พระมหาสว่าง หรือ “โอภาโสภิกขุ” สมภารหนุ่มจึงมาถึงบางอ้อ
รู้เหตุผลได้แจ่มแจ้งว่าเหตุใดหลวงพ่อจึงมอบเหรียญให้แม่ทัพภาคฟรีๆ ถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ
ถ้ามอบให้ชาวบ้านธรรมดาไปเก็บไว้บนหิ้ง  เมื่อไรเล่าคนทั้งหลายจึงจะรู้จักคุณค่า เมื่อไรเล่าเหรียญนี้จึงจะโด่งดังมีผู้รู้จักสรรพคุณ ต้องมอบให้ทหารไปทดลองใช้ก่อน จึงจะได้ผล
ไม่ช้า ผู้คนก็แตกตื่นกันมาขอเช่าเหรียญที่วัด มากันทุกวัน วันละหลายสิบคน แจกจ่ายดีเป็นเทน้ำเทท่า ได้เงินบริจาคมาบำรุงวัดมากมาย เกินกว่าที่ใครเคยคาดหมาย  บางรายทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท บางรายทำบุญ ๕๐,๐๐๐ บาท มีบางรายที่บริจาคเงินบำรุงวัดถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยได้รับเหรียญเป็นที่ระลึกไปเพียง ๑๐ เหรียญเท่านั้น  คนเหล่านี้อยากทำบุญกับหลวงพ่อ พอๆ กับที่อยากได้เหรียญรูปหลวงพ่อ
วัดโพธิขวาง เริ่มลงมือบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มหันหน้าวัดกลับไปสู่ทิศเหนือ เริ่มวางผังสร้างโบสถ์หน้าวัด  มีผู้คนไปมาหาสู่วัดทุกวัน มีรถราแล่นเข้ามาจอด คนใกล้ไกลต่างบ้านต่างเมืองพากันมาที่วัดโพธิขวาง  พสุธาวาสวัดโพธิขวางจึงเริ่มคึกคักหวั่นไหว เพราะผู้คนหลั่งไหลเลื่องลือ


( โปรดติดตามตอนต่อไป)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น